ไอพรากลิโฟลซิน (Ipragliflozin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอพรากลิโฟลซิน(Ipragliflozin) เป็นยากลุ่มโซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 inhibitor) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยานี้ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนยาที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) ยาไอพรากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลกลูโคสที่บริเวณไต จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับสารโปรตีนในเลือดประมาณ94.6-96.5% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10.39-19.55 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ระหว่างที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยควรต้องหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และมาโรงพยาบาล/มารับการตรวจเลือดเพื่อตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด(HbA1C) ตามที่แพทย์นัดหมายเป็นระยะๆเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังและข้อห้ามบางประการ ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเมื่อต้องใช้ยาไอพรากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไอพรากลิโฟลซิน
  • ห้ามนำไปใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type1 diabetes)
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตรวมถึงผู้ที่ต้องเข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไต/การล้างไต
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาแทบทุกชนิด รวมยาไอพรากลิโฟลซินด้วย จึงต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ขณะใช้ยาไอพรากลิโฟลซิน ต้องระวัง การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • การใช้ยาไอพรากลิโฟลซินให้รับประทานใน ตอนเช้า ก่อน หรือหลังอาหาร ก็ได้ ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ในการป้องกันการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคสในบริเวณไตได้ ตลอดวัน ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ทั้งนี้จะทำให้ระดับ ยานี้ในกระแสเลือดมีระดับความเข้มข้นสม่ำเสมอ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือด ประการสำคัญห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้โดยไม่ขอ คำปรึกษาจากแพทย์
  • พกบัตรแสดงตนว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานตลอดเวลา ทั้งนี้จะช่วยให้แพทย์รู้ประวัติการเจ็บป่วยและสามารถช่วยเหลือได้ทันเวลาเมื่อพบเหตุฉุกเฉินต่างๆ
  • การรับประทานยานี้อย่างถูกต้อง มักจะไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบภาวะน้ำตาลในเลือด ผิดปกติ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)

ยาไอพรากลิโฟลซิน จัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานรุ่นใหม่ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้พบเห็นยาไอพรากลิโฟลซินเป็นยารักษาเบาหวานอีกหนึ่งทางเลือกของไทย

ไอพรากลิโฟลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอพรากลิโฟลซิน

ยาไอพรากลิโฟลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ไอพรากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอพรากลิโฟลซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลกลูโคสที่บริเวณไต ส่งผลลดระดับน้ำตาลในเลือด จากกลไกดังกล่าว ทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ

ไอพรากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอพรากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Ipragliflozin ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด

ไอพรากลิโฟลซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอพรากลิโฟลซิน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารเช้า หากจำเป็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 100 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็ก

อนึ่ง:

  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาในแต่ละวัน
  • สามารถใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่นได้ เช่นยา Metformin โดยแพทย์จะปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสมเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอพรากลิโฟลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไตระยะรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไอพรากลิโฟลซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอพรากลิโฟลซิน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไอพรากลิโฟลซิน ตรงเวลา

ไอพรากลิโฟลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอพรากลิโฟลซิน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กรณีใช้ยานี้ขนาด 100 มิลลิกรัม/วัน อาจจะพบเห็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ไอพรากลิโฟลซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอพรากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอพรากลิโฟลซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอพรากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาไอพรากลิโฟลซินจัดว่าเป็นยาใหม่ ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัย และรอสรุปในเชิงวิชาการ

ควรเก็บรักษาไอพรากลิโฟลซินอย่างไร

ควรเก็บยาไอพรากลิโฟลซินภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไอพรากลิโฟลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอพรากลิโฟลซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Suglat (ซูกลาท)Astellas Pharma Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ipragliflozin [2017,Nov25]
  2. https://www.astellas.com/en/corporate/news/pdf/140117_1_Eg.pdf [2017,Nov25]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23163880 [2017,Nov25]
  4. https://astellasclinicalstudyresults.com/docs/1941-CL-0050/Redacted%20Synopsis/1941-cl-0050-clrs-en-src-reissued_(QC%20released)_redaction_applied.pdf [2017,Nov25]