ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole หรือ Sporanox) คือ ยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์กว้าง ครอบคลุมโรคเชื้อราได้หลากหลายชนิด และสามารถต่อต้านเชื้อราชนิดที่ดื้อกับยาต้านเชื้อราอื่นๆได้ เช่น เชื้อ Aspergillus, Candida/ โรคแคนดิไดอะซิส, และ Cryptococcus, เป็นต้น

ยาไอทราโคนาโซล ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) โดยการบริหารยา/การใช้ยากับผู้ป่วยมีทั้งประเภทรับประทานและประเภทยาฉีด

มีการรายงานโดยวงการแพทย์ ได้ทดลองนำเอายาไอทราโคนาโซลมาทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) พบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ 2 เมื่อได้รับยาไอทราโคนาโซล 600 มิลลิกรัม/วัน มีการชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์อีกประการหนึ่ง

ส่วนการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาไอทราโคนาโซลสามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารประมาณ 55% การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้ดีมากขึ้น และเมื่อยาผ่านเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99.8% ตับจะเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ธรรมชาติของยาไอทราโคนาโซลไม่สามารถผ่านเข้าในสมองหรือในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังได้ ทำให้ยาไม่สามารถเข้าไปทำลายเชื้อราที่เกิดกับเยื่อหุ้มสมอง จึงถือเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการใช้ยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุยาไอทราโคนาโซลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Penicillosis marneffei, Cryptococcosis, Vaginal candidiasis, และ Dermatomycoses

ยาไอทราโคนาโซลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากับผู้ป่วย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง

ยาไอทราโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไอทราโคนาโซล

ยาไอทราโคนาโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคเชื้อราประเภทต่างๆหลากหลายชนิด เช่น Vulvovaginal candidiasis, Oropharyngeal candidiasis, Pityriasis Versicolor, Dermatophyto sis, Tinea manuum, Tinea pedis, Tinea corporis, Tinea cruris, Fungal keratitis, Fungal nail infection, Oral Candidiasis , Systemic aspergillosis, Candidosis cryptococcosis, Histoplas mosis, Sporotrichosis, Paracoccidioidosis, Blastomycosis, Chromomycosis

ยาไอทราโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ไอทราโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าไปลดการสังเคราห์สาร Ergosterol โดยการรบกวนการทำงานของ Cytochrome P450/เอนไซม์ใช้ในการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) การขาด Ergosterol ซึ่งเป็นสาระสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อราจะทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารภายในเซลล์ของเชื้อรา เป็นเหตุให้เชื้อราหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด

ยาไอทราโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอทราโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาแคปซูล ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาไอทราโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอทราโคนาโซลมีขนาดรับประทาน: เช่น

1. สำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือ ตามแพทย์แนะนำ

2. สำหรับการติดเชื้อราหลอดอาหาร (Esophageal candidiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาชนิดน้ำ 200 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดยอมค้างไว้ใน ปากประมาณ 20 วินาทีก่อนกลืน ระยะเวลาใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ

3. สำหรับการติดเชื้อราช่องปาก (Oral candidiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่ : รับประทานยาชนิดน้ำ 200 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดย อมค้างไว้ในปากประมาณ 20 วินาทีก่อนกลืน ระยะเวลาใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ

4. สำหรับการติดเชื้อราในคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal candidiasis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 15 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ

5. สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดโรคเกลื้อน Pityriasis versicolor: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ

6. สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดสังคัง (Tinea cruris) และชนิด โรคกลาก(Tinea corporis): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 15 วัน หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ

7. สำหรับการติดเชื้อราที่เล็บ (Nail fungal infections): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดยา และระยะเวลาที่ใช้ยา ขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อที่เล็บมือหรือเล็บเท้า ร่วมกับความรุนแรงของการติดเชื้อ ดังนั้นจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การติดเชื้อราที่เล็บมือ: รับประทานยา 200 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
    • การติดเชื้อราที่เล็บเท้า: รับประทานยา 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
    • ระยะเวลาใช้ยานานประมาณ 3 เดือน ซึ่งบางคนในช่วง 3 เดือนนี้อาจมีการหยุดพักใช้ยาเป็นระยะๆ

8. สำหรับป้องกันการติดเชื้อราในผู้ป่วยโรคเอดส์: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นอาจเพิ่มเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ

9. สำหรับเชื้อราที่เท้า Tinea pedis และ Tinea manuum: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 30 วัน หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ

10. สำหรับติดเชื้อราที่กระจายหลายอวัยวะ Systemic fungal infections: เช่น

  • ผู้ใหญ่:
    • ทั่วไปรับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
    • หากมีการแพร่กระจายของเชื้อรามาก แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็น
    • ในรายที่เป็นหนัก แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ

อนึ่ง:

  • สำหรับการรับประทานยานี้ชนิดแคปซูล ควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึม
  • ส่วนยาน้ำ ควรรับประทานในช่วงท้องว่าง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก และในหลายชนิดของการติดเชื้อรายังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยานี้ที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ขนาดรับประทาน และระยะเวลาที่ใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนการรับประทานยาเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไอทราโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอทราโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอทราโคนาโซล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไอทราโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอทราโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • ปัสสาวะมีสีคล้ำ
  • ตรวจเลือด พบ
    • ค่าเอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มขึ้น
    • ค่าเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • โรคดีซ่าน
  • กลุ่มอาการข้างเคียงที่รุนแรงและสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
    • กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
    • ตับล้มเหลว /ตับวาย
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • มีอาการของโรคหัวใจ:หลอดเลือดหัวใจ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอทราโคนาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอทราโคนาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเอโซล (Azole: กลุ่มหนึ่งของยาต้านเชื้อรา)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การใช้ยานี้ควรต้องมีการตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับควบคู่กันไปตามคำแนะนำของแพทย์
  • การใช้ยานี้ใน เด็ก ผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอทราโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไอทราโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอทราโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Fentanyl อาจไปเพิ่มระดับของยา Fentanyl ในกระแสเลือดให้สูงขึ้น จนมีผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Amlodipine อาจทำให้ระดับของยารักษาความดันโลหิตสูงดังกล่าวสูงขึ้น จนส่งผลให้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตต่ำ, บวมได้ทั้งตัว, จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาลดไขมันในเลือด เช่นยา Simvastatin ถือเป็นข้อห้ามและไม่แนะนำการใช้ยาร่วมกัน ด้วยผลข้างเคียงที่ติดตามมาค่อนข้างรุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้ ปัสสาวะสีเข้มและคล้ำ มีอาการกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาบำรุงกระดูก เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต อาจทำให้การดูดซึมของยาไอทราโคนาโซลลดน้อยลงจนส่งผลต่อการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรับประทานเป็นช่วงที่ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป

ควรเก็บรักษายาไอทราโคนาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาไอทราโคนาโซล: เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไอทราโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอทราโคนาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hofnazole (ฮอฟนาโซล) Pharmahof
Itra (ไอทรา) MacroPhar
Itracon (ไอทราคอน) Unison
Itrasix (ไอทราซิกซ์) Sinensix Pharma
Itrazole (ไอทราโซล) Millimed
Norspor (นอร์สปอร์) Pond’s Chemical
Spazol (สปาซอล) Siam Bheasach
Sporal/Sporal OS (สปอรอล/สปอรอล โอเอส) Janssen-Cilag
Sporlab (สปอร์แลบ) Biolab
Spornar (สปอร์นาร์) Charoen Bhaesaj Lab
Sporzol (สปอร์ซอล) SR Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=itraconazole&page=0 [2021,Aug28]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Itra/?type=brief [2021,Aug28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sporal [2021,Aug28]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/itraconazole%20gpo?type=full [2021,Aug28]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Itraconazole [2021,Aug28]
  6. https://www.drugs.com/mtm/itraconazole.html [2021,Aug28]