ไวแลนเทอรอล (Vilanterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไวแลนเทอรอล(Vilanterol) เป็นยาในกลุ่ม เบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta 2 adrenergic agonist) ที่ออกฤทธิ์ได้ยาวนาน(Ultra-long-acting beta2 agonists) ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยาบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) และโรคหืด โดยยาไวแลนเทอรอลจะทำหน้าที่บรรเทาและชะลออาการของโรค

นอกจากนี้ แพทย์จะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของ การเกิดโรคเช่น หยุดการสูบบุหรี่ เลือกอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีมลพิษทางอากาศ รวมถึง การปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมอย่างเช่น การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน

ยาไวแลนเทอรอล มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ เป็นยาสูดพ่นทางปากเพื่อให้ตัวยาถูกนำ ส่งไปยังหลอดลม และทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดลมจึงส่งผลให้อากาศจากการหายใจไหลเวียนเข้าถุงลมปอดได้สะดวกมากขึ้น

เราจะพบเห็นสูตรตำรับของยาไวแลนเทอรอลในลักษณะยาที่ผสมร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid) เช่นยา Fluticasone furoate หรือบางสูตรตำรับใช้ยาไวแลนเทอรอลผสมร่วมกับยา Umeclidinium bromide (ยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง)ซึ่งจะพบเห็นภายใต้ชื่อการค้าต่างๆเช่น Breo ellipta, Relvar ellipta, และ Anoro ellipta, เป็นต้น

ยาไวแลนเทอรอลเหมาะที่จะใช้ในการรักษาแบบเชิงป้องกัน และไม่สามารถใช้ยานี้บรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคหืด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมียาประเภท Short-acting beta 2 agonist เช่น Albuterol ติดตัวสำรองไว้ด้วยเพื่อใช้บรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน

ข้อควรระวังของยาไวแลนเทอรอลที่ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ต้องไม่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไวแลนเทอรอล
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด หรือขณะที่มีอาการแน่นหน้าอก/หายใจลำบาก
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ออกฤทธิ์นานตัวอื่นๆนอกจากจะ มีคำสั่งจากแพทย์ เช่นยา Formoterol /Budesonide
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้สามารถทำให้อาการของโรคบางประเภทรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การสูดพ่นยานี้ผู้ป่วยจะต้องผ่อนลมหายใจออก หลังจากนั้นกลั้นหายใจเล็กน้อย อมปากท่อของอุปกรณ์สูดพ่น แล้วจึงสูดหายใจนำยาเข้าทางปากให้ได้นาน 3- 4 วินาทีขึ้นไปเพื่อดึงผงยานี้ออกจากอุปกรณ์ ห้ามมิให้พ่นลมหายใจใส่อุปกรณ์เด็ดขาด หลังจากนั้น นำอุปกรณ์พ่นยาออกจากปาก แล้วต้องบ้วนปากทุกครั้งหลังสูดพ่นยานี้เพื่อป้องกันตัวยาตกค้างในช่องปากซึ่งจะส่งผลให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้
  • ต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ยาไวแลนเทอรอลไม่สามารถระงับอาการของโรคหอบหืดแบบเฉียบพลันได้ภายในทันทีทันใด กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบของหอบหืดเฉียบพลัน ทางคลินิกแนะนำให้ใช้ยาระงับอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลัน เช่นยา Albuterol ซึ่งผู้ป่วยควรมีติดตัวเสมอเพื่อใช้ในกรณีเกิดอาการหอบหืดเฉียบพลันฉุกเฉิน
  • หากอาการของโรคไม่ดีขึ้นถึงแม้จะใช้ยาไวแลนเทอรอลไปสักระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยควรรีบกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา

ด้วยยาไวแลนคาเทอรอลเป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ ดังนั้นเราจึงพบเห็นการใช้ยานี้ได้แต่ในสถานพยาบาล และการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ไวแลนเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไวแลนเทอรอล

ยาไวแลนเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดป้องกันอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ไม่สามารถใช้รักษาอาการโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลันได้

ไวแลนเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไวแลนเทอรอลเป็นยาประเภทเบต้า2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม โดยทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ส่งผลให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมขยายและกว้างขึ้น อากาศในหลอดลมจึงไหลเวียนเข้าปอดได้สะดวก จนเป็นผลให้อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทุเลาลงได้ตามสรรพคุณ

ไวแลนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไวแลนเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาผงสำหรับสูดพ่นที่ประกอบด้วยตัวยา

  • Fluticasone furoate 100 ไมโครกรัม+ Vilanterol 25 ไมโครกรัม/การสูดพ่น 1 ครั้ง และ
  • Fluticasone furoate 200 ไมโครกรัม+ Vilanterol 25 ไมโครกรัม/การสูดพ่น 1 ครั้ง

ไวแลนเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไวแลนเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: สูดพ่นยา Fluticasone furoate 100 ไมโครกรัม+ Vilanterol 25 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือสูดพ่นยา Fluticasone furoate 200 ไมโครกรัม+ Vilanterol 25 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยต้องใช้ยาตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันและต้องใช้ยาต่อเนื่อง ตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดใช้ยานี้เอง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไวแลนเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไวแลนเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาไวแลนเทอรอล สามารถพ่นยานี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยานี้ในขนาดปกติเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยาไวแลนเทอรอลอย่างมีประสิทธิผล จะต้องใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ไวแลนเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไวแลนเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจร/ หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไวแลนเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไวแลนเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังตัวอื่น โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการ หอบ ไอ เป็นลมชัก เพราะยานี้ใช้เพื่อบำบัด เพื่อป้องกันการเกิดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ไม่สามารถระงับอาการที่เกิดแบบเฉียบพลันได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามปรับขนาดการพ่นยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ผงยาเปียกชื้น ผงยาเปลี่ยนสี และ/หรือกลิ่น
  • พ่นยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาด และเวลาในแต่ละวัน ตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไวแลนเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไวแลนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไวแลนเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไวแลนเทอรอลร่วมกับยา Beta-adrenergic blockers ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาไวแลนเทอรอลด้อยลงไป
  • ห้ามใช้ยาไวแลนเทอรอลร่วมกับยา Ketoconazole, Ritonavir, ด้วยจะทำให้ ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาไวแลนเทอรอลมากขึ้น

ควรเก็บรักษาไวแลนเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาไวแลนเทอรอลภายใต้อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไวแลนเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไวแลนเทอรอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Relvar Ellipta(เรลวาร์ เอลลิปตา)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/monograph/vilanterol-trifenatate.html[2017,June24]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Vilanterol[2017,June24]
  3. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a613037.html[2017,June24]
  4. https://www.gsksource.com/pharma/content/dam/GlaxoSmithKline/US/en/Prescribing_Information/Breo_Ellipta/pdf/BREO-ELLIPTA-PI-MG.PDF[2017,June24]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/relvar%20ellipta/?type=brief[2017,June24]