ไลโอทริกซ์ (Liotrix)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไลโอทริกซ์(Liotrix) เป็นชื่อเรียกขอยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่มีส่วนผสมระหว่าง ฮอร์โมน ที4 (T4/Thyroxine)กับ ฮอร์โมนที3 (T3/Triiodothyronine) ในอัตราส่วน 4 : 1 ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ยาไลโอทริกซ์เป็นยาแบบรับประทาน มีการจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Thyrolar” ผู้ป่วยสามารถรับประทานยนี้ขณะท้องว่างหรือพร้อม อาหารก็ได้ แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของ แต่ละวัน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาไลโอทริกซ์พร้อมกับยาประเภทเสริมแคลเซียม แบบต่างๆ(เช่นยา Calcium carbonate), ยาCholestyramine, ยาColestipol, หรือถ้าจำเป็น ต้องรับประทานโดยเว้นเวลาห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมงขึ้นไป

ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ของยาไลโอทริกซ์ซึ่งเป็นยาที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายได้มากมาย รวมถึงระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย ทางคลินิกจึงมีข้อห้ามนำยาไลโอทริกซ์มาเป็นยาลดน้ำหนัก เพราะการใช้ยานี้เป็นปริมาณมากสามารถส่งผลกดความอยากอาหารของร่างกาย และทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาไลโอทริกซ์ ผู้ที่มีปัญหาป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวที่มักพบเห็นอาการ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เป็นลมแดดบ่อย และรู้สึกกระสับกระส่ายเสมอ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้ จึงห้ามใช้ยาไลโอทริกซ์

ข้อมูลสำคัญๆอย่างประวัติการเจ็บป่วยก็ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้ง ด้วยมีผลเกี่ยวพันกับยาไลโอทริกซ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น

  • อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งมีความเสี่ยงที่ยานี้จะถูก ส่งผ่านไปถึงทารก จนส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือป่วยด้วยโรคที่มีชื่อเรียกว่า มิกซีดีมา (Myxedema,โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนที่รุนแรง) เพราะโรคต่างๆดังกล่าวอาจแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อผูป่วยได้รับยาไลโอทริกซ์
  • อยู่ในระหว่างการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และ/หรือมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogens) หรือเป็นผู้ที่ต้องรับประทานธาตุเหล็ก(เช่นยา Ferrous sulfate) ด้วยกลุ่มยาดังกล่าวจะทำให้ประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคของยาไลโอทริกซ์ด้อยลงไป
  • ผู้ที่ต้องรับการรักษาโดยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากได้รับยาไลโอทริกซ์ อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาต้านการแข็งตัวของเลือดมากขึ้น

ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรพิจารณา ประโยชน์และอันตรายจากไลโอทริกซ์ควบคู่กันไป และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้ เช่น

  • ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์ ไม่ปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาไลโอทริกซ์ โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • พึงระลึกอยู่เสมอว่า ยาไลโอทริกซ์เป็นยาที่นำมาบำบัดภาวะร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พ้นจากอาการป่วย/ทรมานจากภาวะดังกล่าว จึงไม่ควรนำยาไลโอทริกซ์ไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางคลินิก
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจเลือด และการตรวจร่างกาย ตามที่แพทย์นัด เพื่อแพทย์ใช้เป็นข้อมูลปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมและสัมพันธ์กับระดับไทรอยด์ฮอร์โมนของร่างกายผู้ป่วย
  • สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับไลโอทริกซ์ แพทย์จะเพิ่มความระวังเป็นพิเศษด้วยผู้ป่วย กลุ่มนี้อาจได้รับผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ยาไลโอทริกซ์จัดเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้เช่นเดียวกับยาชนิดต่างๆ
  • หากใช้ยานี้กับเด็ก อาการข้างเคียงของยานี้ที่พบเห็นคือ มีอาการผมร่วง หากเกิดอาการข้างเคียงนี้ ก็สามารถปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์ และแพทย์ปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมมากขึ้น
  • *กรณีที่รับประทานยานี้เกินขนาด จะทำให้ระบบเมตาบอลิซึม(Metabolism/สันดาป)ของร่างกายเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แพทย์อาจต้องใช้วิธีทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อลดการดูดซึมของตัวยานี้ แต่วิธีการนี้ ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า หรืออยู่ในอาการชัก นอกจากนั้นคือแพทย์จะบำบัดรักษาตามอาการ โดยใช้การตรวจสัญญาณชีพของผู้ป่วยมาประกอบกัน

สูตรตำรับยาไลโอทริกซ์ มีส่วนประกอบของฮอร์โมน ที4 (T4) และ ที3 (T3) ในหลายขนาดแต่มีอัตราส่วนคงที่เสมอ คือ T4 : T3 = 4 : 1 เสมอ การเลือกใช้สูตรตำรับใดมารักษานั้น ย่อมมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป จึงต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยแต่เพียงผู้เดียว

ไลโอทริกซ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไลโอทริกซ์

ยาไลโอทริกซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ ที่เรียกว่าโรคฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis)
  • บำบัดโรคพร่อง/ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตั้งแต่กำเนิด
  • ใช้บำบัดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)
  • บำบัดภาวะต่อมไทรอยด์โต/โรคคอพอกชนิดที่ต่อมไทรอยด์ยังทำงานที่ปกติ(Euthyroid goiter)

ไลโอทริกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไลโอทริกซ์ เป็นไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่ตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 40–80% สามารถใช้ทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ที่หลั่งออกมาน้อยเกินไป โดยตัวยาไลโอทริกซ์จะมีกลไกการออกฤทธิ์ที่เพิ่มกระบวนการเมตาบอลิซึม(Metabolism, สันดาป)ของเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย สนับสนุนการสร้างน้ำตาลกลูโคส(Glucose) เร่งและเพิ่มการสลายน้ำตาลไกลโคเจน(Glycogen) กระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีน ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ และทำให้อัตราการแบ่งตัวของเซลล์เกิดได้มากขึ้น ซึ่งกลไกที่กล่าวมาส่งผลต่อการพัฒนาเซลล์สมองอีกด้วย

ไลโอทริกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไลโอทริกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ T3 และT4 (T3:T4=1:4) ดังนี้เช่น

  • T3, 3.1 ไมโครกรัม + T4 ,12.5 ไมโครกรัม
  • T3, 6.25 ไมโครกรัม + T4, 25 ไมโครกรัม
  • T3, 12.5 ไมโครกรัม + T4, 50 ไมโครกรัม
  • T3, 25 ไมโครกรัม + T4, 100 ไมโครกรัม
  • T3, 37.5 ไมโครกรัม + T4, 150 ไมโครกรัม

ไลโอทริกซ์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดความแรง(Dose)ของยาไลโอทริกซ์ จะมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการป่วยจากโรคต่อมไทรอยด์ที่แตกต่างกัน แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้คัดเลือกขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของไทรอยด์ฮอร์โมน, ที4(T4) และ ที3(T3) มาประกอบกัน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไลโอทริกซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไลโอทริกซ์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไลโอทริกซ์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยาไลโอทริกซ์ ต้องอาศัยความต่อเนื่องและตรงตามคำสั่งแพทย์เพื่อประสิทธิผลของการรักษา จึงควรต้องรับประทานยานี้ตรงเวลาทุกวัน

ไลโอทริกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไลโอทริกซ์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เป็นตะคริวที่หน้าท้อง ท้องเสีย อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ไทรอยด์เป็นพิษ ประจำเดือน ผิดปกติในผู้หญิง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด เป็นลมแดดได้ง่าย
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เร่งการเจริญเติบโตของกระดูกของผู้ป่วยเด็ก

มีข้อควรระวังการใช้ไลโอทริกซ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไลโอทริกซ์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้เป็นยาลดน้ำหนัก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผด ผื่น คันขึ้นตามตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ใช้หัตถการทางการแพทย์แก้ไขได้ทันเวลา
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
  • มาพบแพทย์เพื่อ การตรวจเลือด การตรวจร่างกาย ตามแพทย์นัดหมาย เพื่อแพทย์แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับอาการปัจจุบัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไลโอทริกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไลโอทริกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไลโอทริกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไลโอทริกซ์ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด (ยารักษาเบาหวาน) อย่างเช่น ยาอินซูลิน(Insulin) อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีแต่ละผู้ป่วย และจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาไลโอทริกซ์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดประเภทยา Estrogen อาจทำให้ ระดับยาไลโอทริกซ์ในร่างกายลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไลโอทริกซ์ ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลให้เกิด ภาวะเลือดออกง่ายขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไลโอทริกซ์อย่างไร?

ควรเก็บยาไลโอทริกซ์ ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ไลโอทริกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไลโอทริกซ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Thyrolar (ไทโรลาร์)FOREST PHARMACEUTICALS, INC.

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/liotrix.html [2017,Feb11]
  2. http://www.allergan.com/assets/pdf/thyrolar_pi [2017,Feb11]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Liotrix [2017,Feb11]
  4. http://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/liotrix.pdf [2017,Feb11]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/liotrix-index.html?filter=2&generic_only= [2017,Feb11]