ไรโบฟลาวิน หรือวิตามิน บี2 (Riboflavin or Vitamin B2)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หรือ วิตามินบี 2 (Vitamin B2) คือ วิตามิน/ยาที่ใช้รักษา และ/หรือป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 2 /โรคปากนกกระจอก, วิตามินนี้ มีลักษณะเป็นของแข็งสีเหลืองส้ม ละลายน้ำได้ ทนความร้อนได้ในระดับหนึ่ง, ผู้ที่รับประทานวิตามินชนิดนี้จะทำให้ปัสสาวะออกมาเป็นสีเหลือง, ทั่วไป รูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาชนิดรับประทาน  

ทั่วไป อาจจำแนกหน้าที่สำคัญๆของยาไรโบฟลาวินในร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • เป็นสารตั้งต้นที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือเอนไซม์บางชนิดของร่างกายในกระบวนการขนส่งประจุไฟฟ้าลบหรืออิเล็กตรอน (Electron) หรือที่เราเรียกกันว่าปฏิกิริยาออกซิเดชัน-รีดักชั่น (Oxidation reduction reaction) นั่นเอง, ปฏิกิริยาดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายมีการผลิตพลังงานของการดำรงชีวิตและกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายมนุษย์
  • ไรโบฟลาวินจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการเผาผลาญทางชีวเคมีของวิตามินบี6, โฟเลต (กรดโฟลิก), ไนอะซิน และธาตุเหล็ก
  • ช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์
  • ช่วยป้องกันการเสื่อมของเลนส์ตา(แก้วตา) ซึ่งเป็นที่มาของต้อกระจก
  • ทางคลินิก มีงานวิจัยและสรุปผลได้ว่าไรโบฟลาวินช่วยป้องกันการกำเริบของการปวดศีรษะ ไมเกรนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

เมื่อทราบประโยชน์อย่างคร่าวๆของไรโบฟลาวินแล้ว การจะหาไรโบฟลาวินมารับประทานไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพราะวิตามินชนิดนี้พบได้ใน นม ผักใบเขียว ถั่ว เนื้อ เครื่องในสัตว์(เช่น ตับ ไต) ในเห็ด อัลมอนด์ และสารสกัดจากยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดหนึ่งที่เป็นเชื้อรากลุ่มมีเซลล์เดียว)

ประชาชนโดยทั่วไปทั้งหญิงและชายควรได้รับไรโบฟลาวินขนาดเฉลี่ย 1.2 มิลลิกรัม/วัน, แต่สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรได้รับไรโบฟลาวิน 1.4 และ 1.6 มิลลิกรัม/วันตามลำดับ

อาการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 2 อาจแสดงออกมาในลักษณะมีกระเพาะอาหารอักเสบ, ลิ้นเป็นสีแดง(ลิ้นอักเสบ),  เจ็บคอ/คออักเสบ, มีแผลอักเสบที่มุมปากหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคปากนกกระจอก,” นอกจากนี้อาจพบอาการ  คันตา  ผื่นแพ้แสง, และยังส่งผลให้เกิดอาการโรคซีด,  เกิดภาวะขาดวิตามินบี 9 (ภาวะขาดโฟเลท)ติดตามมาได้ด้วย, ปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ภาวะขาดวิตามินบี2 (ภาวะขาดไรโบฟลาวิน/โรคปากนกกระจอก)อาจมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง

ได้มีการศึกษาถึงการบริโภคไรโบฟลาวินเป็นปริมาณมากจะก่อพิษ(ผลข้างเคียง)กับร่างกายได้มากน้อยเพียงใด โดยได้ติดตามผู้ที่บริโภคไรโบฟลาวินเพื่อป้องกันอาการไมเกรนในขนาด 400 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าไรโบฟลาวินไม่ได้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) แต่อย่างใดจะมีก็แต่เรื่องปัสสาวะมีสีเหลืองเท่านั้น

ทั้งนี้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากไรโบฟลาวินมาเป็นเวลานานมากกว่า 30 ปีแล้ว เช่น

  • บำบัดอาการตัวเหลืองของทารกแรกเกิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก)
  • ป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน
  • บำบัดรักษาอาการ Brown’s syndrome (การกลอกตาผิดปกติจากโรคของเอ็นกล้ามเนื้อตา)
  • บำบัดอาการขาดวิตามินบี (ปากนกกระจอก) ของร่างกาย

อนึ่ง: รูปแบบจำหน่ายของยาไรโบฟลาวินที่พบบ่อยจะเป็นประเภทยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมยานี้จากลำไส้เล็ก ยาไรโบฟลาวินจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 60%, ตัวยาจะกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงน้ำนมของมารดา, ยาไรโบฟลาวินบางส่วนจะถูกสะสมอยู่ใน ตับ ม้าม ไต และหัวใจ, ยาไรโบฟลาวินอีกจำนวนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับไปเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ,  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 66 - 84 นาทีที่จะกำจัดยาไรโบฟลาวินจำนวน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและมีบางส่วนที่ถูกขับออกไปกับอุจจาระ

ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการผลิตไรโบฟลาวิน นักวิทยาศาสตร์จะใช้จุลินชีพ/จุลชีพหลายชนิด ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียในการสังเคราะห์ยาไรโบฟลาวินขึ้นมา

เราสามารถพบเห็นการใช้วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวินได้จากสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชน อีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป

ไรโบฟลาวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาไรโบฟลาวินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • ใช้บำบัดรักษาอาการขาดไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2/ โรคปากนกกระจอก)

ไรโบฟลาวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไรโบฟลาวิน คือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อร่างกายที่มีชื่อว่า Flavin mononucleotide และ Flavin adenine dinucleotide (FMN และ FAD), จากนั้นจะส่งผลให้มีการผลิตวิตามินชนิดอื่นขึ้นในร่างกายเช่น วิตามินบี 6, โฟเลต (กรดโฟลิก/วิตามินบี 9), วิตามินบี 3,  วิตามินเอ, กลุ่มวิตามินดังกล่าว รวมถึงตัวไรโบฟลาวินเอง จะส่งผลต่อกระบวนการทางชีวภาพของร่างกายอย่างมีสมดุลและทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นไปอย่างปกติ

ไรโบฟลาวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรโบฟลาวินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ไรโบฟลาวินมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ไรโบฟลาวินมีขนาดรับประทาน  

ก. สำหรับการขาดวิตามินบี 2 (โรคปากนกกระจอก):

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 5 - 30 มิลลิกรัมโดยแบ่งรับประทาน

ข. สำหรับป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน:

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัม/วันติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ

*อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็ก ต้องให้กุมารแพทย์เป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไรโบฟลาวิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรโบฟลาวินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรโบฟลาวิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไรโบฟลาวินให้ตรงเวลา

ไรโบฟลาวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ทางคลินิกพบว่า ไม่ค่อยมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆจากการใช้ยาไรโบฟลาวิน นอกจากจะทำให้มีอาการปัสสาวะเป็นสีเหลืองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติของร่างกายหลังการรับประทานยาไรโบฟลาวิน ไม่ว่าจะมาจากยาสูตรตำรับใดก็ตาม หรือเกิดอาการแพ้ยานี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไรโบฟลาวินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรโบฟลาวิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้องค์ประกอบต่างๆในสูตรตำรับยานี้
  • การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์และไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หลังรับประทานยานี้จะพบว่าปัสสาวะมีสีเหลืองซึ่งเป็นลักษณะของยาที่ถูกขับออกจากร่าง กายมาพร้อมกับปัสสาวะ
  • ควรบริโภคอาหารต่างๆที่ถูกหลักโภชนาการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารรวมถึงไรโบฟลาวินอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งยาชนิดรับประทาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรโบฟลาวินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไรโบฟลาวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรโบฟลาวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับยา Tetracycline จะก่อให้เกิดการรบกวนการดูดซึมของยา Tetracycline จนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับ ขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับ ยารักษาอาการทางจิตประสาท (ยาจิตเวช) เช่น ยา Chlorpromazine อาจทำให้ระดับยาไรโบฟลาวินในร่างกายต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ยาไรโบฟลาวินสามารถลดฤทธิ์การรักษาของยาบางตัวที่นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ เช่นยา Doxorubicin และ Methotrexate หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไรโบฟลาวิน ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide สามารถเพิ่มการขับตัวยาไรโบฟลาวินออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไรโบฟลาวินอย่างไร?

สามารถเก็บยาไรโบฟลาวิน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไรโบฟลาวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรโบฟลาวิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Biovit B2 (ไบโอวิต บี2) Union Drug
G-VITAMIN-B2 (จี-วิตามิน-บี2 ) Gonoshasthaya Pharmaceuticals Limited (GPL)
RIBOSEEM (ไรโบซีม) Ibn Sina Pharmaceutical Ind. Ltd.
RIBOSINA (ไรโบซินา) Ibn Sina Pharmaceutical Ind. Ltd
RIBOSON (ไรโบซอน) Jayson Pharmaceuticals Ltd.
RIBOTAB (ไรโบแท็บ) Ziska Pharmaceuticals Ltd.
RIBOVIT(ไรโบวิต) Aexim Pharmaceutical Ltd
RIVIN (ริวิน) Supreme Pharmaceuticals Ltd

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Riboflavin   [2023,Feb11]
  2. https://lpi.oregonstate.edu/mic/vitamins/riboflavin  [2023,Feb11]
  3. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-957/riboflavin   [2023,Feb11]
  4. https://www.drugs.com/monograph/riboflavin.html   [2023,Feb11]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Biovit%20B2/   [2023,Feb11]
  6. https://go.drugbank.com/drugs/DB00140   [2023,Feb11]
  7. https://www.stlukes-stl.com/health-content/medicine/33/000989.htm   [2023,Feb11]
  8. https://www.rxlist.com/riboflavin/supplements.htm   [2023,Feb11]