ไรฟาเพนติน (Rifapentine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไรฟาเพนติน (Rifapentine) เป็นยาปฏิชีวนะที่นำมารักษาการติดเชื้อวัณโรคปอด ซึ่งมีสา เหตุจากแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium tuberculosis ชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ Priftin โดยมักใช้ร่วม กับยาอื่น

ในการรักษาด้วยยานี้นั้นสามารถใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามไรฟาเพนตินยังมีข้อจำกัดการใช้บางประการกล่าวคือ ไม่ควรใช้ยานี้รักษา วัณโรคที่ดื้อต่อยาไรแฟมพิน อีกทั้งการรับประทานยานี้ไม่จำเป็นต้องรับประทานทุกวัน แต่ให้รับประ ทานเป็นสัปดาห์เช่น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยใช้ร่วมกับยาอื่นเช่น Isoniazid ทั้ง นี้ขึ้นอยู่กับระยะอาการและความรุนแรงของวัณโรค

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน การรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร จะช่วยทำให้การดูดซึมของยาเป็นไปได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะ-ลำไส้อีกด้วย กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาเม็ดได้ ในสูตรตำรับก็อนุญาตให้ทำการบดเป็นผงพร้อมกับผสมปนกับมื้ออาหารที่มีลักษณะกึ่งเหลวแล้วรับประทานได้อีกด้วย

การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยานี้มีประมาณ 70% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดปริมาณ ยาประมาณ 97.7% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน ปกติร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 7 วันเพื่อกำจัดยา 80% ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมาก และบางส่วนจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้น ด้วยมีความจำเพาะเจาะจงและมีขอบเขตการใช้กับผู้ป่วยอย่างจำเพาะเจาะจง ที่ต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ไรฟาเพนตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไรฟาเพนติน

ยาไรฟาเพนตินมีสรรพคุณรักษาวัณโรคปอด

ไรฟาเพนตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรฟาเพนตินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคที่มีชื่อว่า DNA-dependent RNA polymerase แต่ยานี้จะไม่มีผลต่อเซลล์ของร่างกายผู้ป่วย ส่งผลให้เชื้อวัณโรคไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

ไรฟาเพนตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรฟาเพนตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด

ไรฟาเพนตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไรฟาเพนตินมีขนาดรับประทานดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทานยา 600 มิลลิกรัม (4 เม็ด) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเว้นเวลาการรับประทานยาห่างกัน 3 วันเป็นอย่างต่ำเป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นให้ลดความถี่การรับประทานยาโดยให้รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นเวลา 4 เดือน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดยานี้และการใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กและความรุนแรงของโรคซึ่งจะแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน จึงต้องอยู่ในคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไรฟาเพนติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไรฟาเพนตินอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรฟาเพนตินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไรฟาเพนตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรฟาเพนตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปัสสาวะถี่/บ่อย การตรวจปัสสาวะพบมีโปรตีนในปัสสาวะ มีผื่นคัน เกิดสิว เบื่ออาหาร โลหิตจาง ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ตับอักเสบ ลมพิษ ตัวบวม อ่อนแรง/ล้า การตรวจเลือดพบเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไรฟาเพนตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไรฟาเพนตินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้รวมถึงแพ้ยา Rifamycin (ยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่ง)
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ไม่ควรใช้ยาไรฟาเพนตินเพียงตัวเดียวในการรักษาวัณโรค
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ระหว่างการใช้ยานี้แพทย์จะคอยตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบ การทำงานของตับให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ
  • ระวังการเกิดผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (อาการเช่น ท้องเสีย ปวดท้อง)
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรฟาเพนตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไรฟาเพนตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรฟาเพนตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไรฟาเพนตินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลง ทำให้เสี่ยงกับการมีภาวะเลือดออกหรือเกิดการตั้งครรภ์ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดรับประทานของยาเม็ดคุมกำเนิดให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป และในการมีเพศสัมพันธ์ควรต้องใช้ถุงยาอนามัยชายร่วมด้วย
  • การใช้ยาไรฟาเพนตินร่วมกับยา Ritonavir อาจทำให้ยาต้านไวรัส Ritonavir ด้อยประสิทธิ ภาพและทำให้อาการโรคเอชไอวีลุกลาม หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาไรฟาเพนตินร่วมกับยา Ibuprofen จะทำให้ระดับยา Ibuprofen ในกระแสเลือดลดต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไรฟาเพนตินร่วมกับยา Alprazolam อาจทำให้ระดับยาและฤทธิ์การรักษาของ Alprazolam ลดลง หากต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดรับประทานของ Alprazolam ให้เหมาะสม เป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไรฟาเพนตินอย่างไร?

ควรเก็บยาไรฟาเพนตินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไรฟาเพนตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรฟาเพนตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Priftin (พริฟติน) sanofi

บรรณานุกรม

1.http://en.wikipedia.org/wiki/Rifapentine [2015,June20]
2.http://www.rxlist.com/priftin-drug/indications-dosage.htm [2015,June20]
3.http://www.drugs.com/ppa/rifapentine.html [2015,June20]
4.https://www.mims.com/USA/drug/info/Priftin/Priftin%20Tablet%2c%20Film%20Coated?type=full [2015,June20]
5. http://www.medicinenet.com/rifapentine-oral/page2.htm#SideEffects [2015,June20]
6.http://thehealthlinksolutions.com/MasterDrugDB/MonographHTML/HTML/leaflets-english/6914.htm [2015,June20]
7.http://www.drugs.com/drug-interactions/rifapentine-index.html?filter=3&generic_only= [2015,June20]