ไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil) หรือมีชื่อการค้าในประเทศไทยว่า เซลล์เซพท์ (Cellcept) เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคชนิดรับประทาน ผู้ป่วยได้รับยานี้เพื่อกดภูมิต้านทานของร่างกายสำหรับป้องกันปฏิกิริยาไม่ยอมรับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายอย่างเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เปลี่ยนหัวใจ, ไต หรือตับ โดยสูตรยาที่แนะนำสำหรับป้องกันภาวะปฏิเสธอวัยวะคือ ไมโค ฟีโนเลต โมฟีทิลร่วมกับยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortico steroid) โดยให้ใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์รักษา และใช้ยานี้สำหรับการรักษาปฏิกิริยาไม่ยอมรับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายที่รักษายากในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งใช้ยาอื่นๆนอกเหนือการรับรองขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเช่น ภาวะปฏิเสธอวัยวะ (Organ Transplant Rejection, ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่), Graft-Versus-Host disease (GVHD คือ ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นเมื่อผู้รับบริจาคอวัยวะ/Host ได้รับเซลล์เม็ดเลือดขาวจากผู้ให้/Donor จากนั้นร่างกายผู้รับเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเม็ดเลือดขาวจากเนื้อเยื่อของผู้รับบริจาค ทำให้เนื้อเยื่อของผู้รับบริจาคถูกทำลาย), Proliferative lupus nephritis (อาการทางไตในผู้ป่วยโรคลูปัส), Nephrotic syndrome (กลุ่มอาการที่เกี่ยวกับการทำงานของไต โดยจะมีอาการบวม, โปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก, มีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ และมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง), Idiopathic thrombocytopenic purpura (โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ), Atopic dermatitis (โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยผิวหนังเกิดการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้)

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไมโคฟีโนเลต

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันปฏิกิริยาที่ผู้รับอวัยวะปฏิเสธ อวัยวะใหม่ที่ได้รับปลูกถ่ายเช่น หัวใจ, ตับ และไต โดยใช้ร่วมกับยาไซโคลสปอริน (Cyclo sporine: ยากดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid: ยาสเตีย รอยด์ที่กดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย)

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเป็นโปรดรัก (Prodrug หมายถึง โมเลกุลของยาที่ได้รับการดัด แปลงโมเลกุลทำให้ยายังไม่ออกฤทธิ์ แต่เมื่อยาดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายและถูกเมตาบอไลท์/Metabolite: ปฏิกิริยาของร่างกายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของยาจะทำให้ยานั้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา) ของไมโคฟีโนลิกเอซิด (Mycophenolic acid, MPA) ดังนั้นเมื่อยาไมโคฟีโนแลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกายและถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงสภาพแล้ว ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Inosine monophosphate dehydrogenase (IMPDH) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกายทั้งชนิด B-lymphocyte และ T-lympho cyte ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงมีผลแรงในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีกล ไกเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่ายกาย

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในประเทศไทย มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ คือ ยาแคปซูล (Capsule) สำหรับรับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม และยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทานเช่นกันขนาด 500 มิลลิกรัม

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเป็นยากดภูมิคุ้มกันฯชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย ขนาดยาที่ใช้ แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงตามเวลา ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดยาและวิธีรับประทานยาเอง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจเลือดวัดระดับยานี้ในเลือดเพื่อปรับขนาดยานี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

วิธีการรับประทานยานี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้เวลาเดิมทุกวัน พบว่าการรับประทานยานี้ในขณะท้องว่าง ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี แต่ในผู้ป่วยบางรายที่หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารมาก แพทย์อาจปรับเวลาการรับประทานยาเป็นพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับ ประทานยานี้ร่วมกับนมหรือยาลดกรดชนิดน้ำที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม (Aluminium เช่น Aluminium hydroxide), แมกนีเซียม (Magnesium เช่น Magnesium trisilicate) และแคล เซียม (Calcium เช่น Calcium carbonate) เพราะแร่ธาตุเหล่านั้นในยาลดกรดจะทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นหากผู้ป่วยจำเป็นต้อง/ต้องการรับประทานนมหรือยาลดกรดชนิดน้ำ สามารถรับประทานนมหรือยาลดกรดได้โดยรับประทานให้ห่างจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับยาลดไขมันที่มีชื่อว่า โคเลสไทรามีน (Cholestyramine) เนื่องจากยาโคเลสไทรามีนจะลดการดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกาย

ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่ ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลด หรือปรับขนาดยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด และหากท่านมีอาการไม่พึงประ สงค์/ผลข้างเคียง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลข้างเคียง) ที่รุนแรง หรือมีอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเกิดขึ้นในช่วงได้รับยานี้อยู่ ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนด เพื่อรับการตรวจรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในผู้ป่วยไตเสื่อมรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาลดขนาดยานี้ภายหลังผ่านพ้นช่วงระยะหลังการเปลี่ยนถ่ายไตทันที หรือภายหลังการรักษาภาวะไม่ยอมรับอวัยวะใหม่ทั้งระยะเฉียบพลันหรือระยะกลับเป็นซ้ำ

กรณีผู้ป่วยตับเสื่อมรุนแรง สามารถใช้ยานี้ได้ตามขนาดยาปกติ ไม่จำเป็นต้องลดขนาดยา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมจึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตร
  • ไม่ควรให้วัคซีนที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึง วัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อโรคนั้นๆเช่น วัคซีนหัด-หัด-เยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันฯต่ำ การฉีดวัคซีนอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันฯน้อยลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้
  • ผู้ป่วยควรจำชื่อยากดภูมิคุ้มกันฯพร้อมขนาดยาที่รับประทานอยู่ให้ได้ทุกตัวหรือจดบันทึก ไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยาหรือวิธีการรับประทานยา ควรจดบันทึกไว้ทุกครั้งด้วยเช่นกัน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลซึ่งเป็นยาที่มีการรับประทานวันละ 2 ครั้ง หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประ ทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 8.00 น. และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ เวลา 20.00 น. ในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม

กรณีอาเจียนยาออกมา ถ้ามีอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังรับประทานยา หากผู้ป่วยเห็นเม็ดยาออกมา ควรเว้นระยะสักครู่ รอให้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนดีขึ้น จึงรับประทายยาใหม่

แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่ามียาออกมาพร้อมกับอาเจียนหรือไม่ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเพิ่มโดยเด็ดขาด

กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกล ควรเตรียมยานี้ติดตัวไปเพียงพอตลอดการเดินทาง หากเดิน ทางไปต่างประเทศควรรับประทานยาตามเวลาของประเทศไทย แต่หากต้องปรับเวลารับประทาน ยาตามประเทศที่ไปพักอาศัย พิจารณาปรึกษาแพทย์ก่อน อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลในช่วง 6 เดือนแรกของการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น และควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อนเสมอ

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์ของยายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลที่พบได้บ่อยเช่น

  • ภาวะกดการทำงานของไขกระดูก (Bone Marrow Suppression: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย, และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย ตามลำดับ)
  • อาการของระบบทางเดินหายใจผิดปกติ (เช่น ไอ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน)
  • อาการของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก)
  • อาการทางผิวหนัง (เช่น ขึ้นผื่น)
  • ผลต่อไต (เช่น การตรวจเลือดพบค่าปริมาณของเสีย: Blood Urea Nitrogen/BUN และครีเอตินิน/Creatinine สูงขึ้น)
  • และอาการอื่นๆเช่น อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ต่ำ หนาวสั่น ปวดหัว บวมตามแขน ขา นอนไม่หลับ

หากท่านกำลังใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้ เช่น มีไข้สูง, รู้สึกเหนื่อย หอบ, หายใจไม่ปกติ, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้อง เสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง จนอาจมีภาวะสมดุลเกลือผิด ปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ (เช่นมีไข้ที่สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีอาการปวดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หรือมีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้นบริเวณปากหรือร่างกายส่วนต่างๆ) หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉิน พร้อมแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ว่าท่านกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันฯอยู่

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้มีผลกดการทำงานของไขกระดูกและกดภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคทั่วไป ติดเชื้อฉวยโอกาส รวมถึงการกระตุ้นเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่ในตัวให้เจริญ เติบโตขึ้นจนก่ออาการเช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี

สำหรับบีเคไวรัส (BK virus, ย่อว่า BKV) มีรายงานพบว่าไวรัสนี้อาจทำให้เกิดการปฏิเสธไตที่เปลี่ยนถ่ายได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิด Progressive Multifocal Leukoencephalopathy (PML) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางที่มีการทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่ส่งกระแสประสาท (Demyelination) ทำให้การส่งกระแสประสาทบกพร่องไป ทำให้สูญเสียความสามารถจนกระ ทั่งอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้เกี่ยวข้องกับเชื้อเจซีไวรัส (JC virus/John Cunningham virus) ที่แฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์ มักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้และมีภูมิคุ้มกันฯบกพร่อง ดังนั้นผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะหากมีอาการทางระบบประสาท ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่แรก

ดังนั้น ในช่วงที่ได้รับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลจำเป็นต้องระวังการติดเชื้อต่างๆ และ/หรือ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/ไปโรงพยาบาล หากผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะติดเชื้อหรือมีอาการผิด ปกติโดยเฉพาะเมื่อสงสัยมีการติดเชื้อ

  • การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเด็ก ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็กทารกที่มีอายุมากกว่า/เท่ากับ 3 เดือนขึ้นไป โดยยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลขนาดยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม
  • การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจต้องการยาในขนาดที่ต่ำลง เนื่อง จากผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มการทำงานของไตลดลงและยานี้ถูกขจัดออกทางไต ปฏิกิริยาของการเกิดพิษจากยานี้จึงอาจจะมากขึ้นหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่อง
  • การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยามีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้หรือมารดาอาจเกิดการแท้งบุตร ดังนั้นในสตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ และได้ผลที่เป็นลบ (ไม่ตั้งครรภ์) ก่อนหน้า 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยานี้ ไม่แนะนำให้เริ่มใช้ยาจน กว่าจะได้ผลการทดสอบตั้งครรภ์ที่เป็นลบ ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้การคุมกำเนิดที่ได้ผลดี 2 ชนิดร่วมกัน (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยชาย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ วิธีคุมกำ เนิดที่เหมาะสมควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเสมอ) ตั้งแต่ก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และเป็นเวลา 5 สัปดาห์หลังหยุดการรักษา ถ้าเกิดกรณีตั้งครรภ์ระหว่างการรักษา แพทย์จะปรึกษาร่วม กันกับผู้ป่วย/ครอบครัวถึงความต้องการที่จะคงการตั้งครรภ์ไว้
  • การใช้ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในช่วงให้นมบุตร ควรหยุดการให้นมหรือหยุดใช้ยา โดย แพทย์จะพิจารณาความสำคัญของยาที่มีต่อมารดา เนื่องจากยาถูกขับออกทางน้ำนมในหนูทด ลองแต่ไม่มีข้อมูลในมนุษย์ แต่ยามีแนวโน้มก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  1. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir: ยาต้านไวรัส), ยาแกนไซโคลเวียร์(Gancyclovir: ยาต้านไวรัส), ยาวาลอะไซโคลเวียร์ (Valacyclovir: ยาต้านไวรัส) อาจทำให้ระดับยาของทั้งไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเพิ่มสูงขึ้นและระดับยาต้านไวรัสดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในกรณีที่ผู้ ป่วยเกิดภาวะไตเสื่อม เนื่องจากยาทั้งสองกลุ่มแย่งกันขับออกทางท่อไต ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับลดขนาดยาทั้งสองตามค่าการทำงานของไตเป็นกรณีไป
  2. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรดชนิดน้ำ (Antacid) ที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม แมกนี เซียม และแคลเซียม (ดังกล่าวในหัวข้อ ขนาดรับประทาน) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วม กับยาลดกรดชนิดน้ำดังกล่าว เพราะแร่ธาตุเหล่านั้นในยาลดกรดจะทำให้การดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลเข้าสู่ร่างกายลดลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาลดกรดชนิดน้ำให้ห่างจากยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างน้อย 2 - 4 ชั่วโมงโดยควรรับประทานยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลก่อน
  3. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรดกลุ่มยับยั้งการขับโปรตอน (Proton Pump Inhibitor: PPIs) เช่น ยาโอมีพลาโซ/Omeprazole, ยาแลนโซพลาโซล (Lansoprazole), ยาแพนโทพรา โซล (Pantoprazole) จะมีผลทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดลดลง จึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้คู่กับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล
  4. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาโคเลสไทรามีน (Cholestyramine: ยาลดไขมัน) จะทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลลดลง เนื่องจากยาโคเลสไทรามีนจะลดการดูดซึมยาไมโคฟีโนเลต โมฟี ทิล โดยรบกวนกระบวนการดูดซึมยาผ่านตับและขับยาออกทางน้ำดีที่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระ แสเลือดอีกครั้งหนึ่ง (Enterohepatic recirculation) จึงควรหยุดใช้ยาโคเลสไทรามีนขณะที่ได้ รับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอยู่
  5. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ เช่น ยาไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาต้านวัณโรค, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), ยาไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) และยาอะม็อก ซี่ซิลิน-คลาวูโลเนต (Amoxycillin-Clavulanate: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) จะทำให้ระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดลดลง ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกันแพทย์จะตรวจวัดระดับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลในเลือดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  6. เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยเอททินิลเอสตร้าไดออล (Ethenyl estradiol), เลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel), ดีโสเจสเตรล (Desogestrel) พบว่ายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลต่อฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวไม่มีผล จึงควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษายาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลอย่างไร?

แนะนำเก็บยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล ณ อุณหภูมิห้อง ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่สูงเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว และควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมโคลฟีโนเลต โมฟีทิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cellcept (เซลล์เซพท์) 250 mg capsules Roche
Cellcept (เซลล์เซพท์) 500 mg tablets Roche

บรรณานุกรม

1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
3. Product Information: Hydrea, Cellcept, Roche, Thailand.
4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
5. โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. สมุดประจำตัวผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะและได้รับยากดภูมิต้านทาน. 2558