ไมเกรนอาจก่อโรคร้าย (ตอนที่ 5)

ส่วนใหญ่ร้อยละประมาณ 80 - 85 ของไมเกรนที่เกิด จะเป็นไมเกรนแบบไม่มีอาการนำ เป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะปวดศีรษะ มักจะมีอาการแปลกๆ ซึ่งรวมถึงอาการ

  • วิตกกังวล
  • หดหู่ซึมเศร้า
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า

ไม่มีวิธีการวิเคราะห์ที่ชัดเจนว่าการปวดศีรษะนั้นเป็นไมเกรนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดีแพทย์สามารถสั่งให้ทำการตรวจเอมอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging : MRI) หรือซีทีสแกน (Computed Tomography : CT Scan) กรณีที่มีอาการไมเกรนที่ผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย มีปัญหาเรื่องความจำ หรือขาดความรู้สึกตื่นตัว

สำหรับการรักษานั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่มีวิธีรักษาอาการไมเกรนแบบชัดเจน อย่างไรก็ดีมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาหรือป้องกันการเกิดไมเกรน บางคนอาจลดความถี่ของการเกิดไมเกรนโดยอาศัยการสังเกตและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น (Triggers) ที่ทำให้เกิดไมเกรน เช่น การดื่มไวน์แดงหรือการนอนน้อยไป นอกจากนี้อาจมีการใช้ยา :

  • ยาบรรเทาปวด (Pain relief) - ตัวยาสำคัญที่อยู่ในยาแก้ปวดคือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) และคาเฟอีน (Caffeine) ควรระมัดระวังในการใช้ยาเนื่องจากบางครั้งยาแก้ปวดอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการปวดศีรษะซ้ำอีก (Rebound headaches) หรือมีการติดยา ถ้าท่านซื้อยากินเองมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ท่านควรที่จะไปพบแพทย์ เพราะแพทย์จะสามารถแนะนำยาที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าได้
  • ยาบรรเทาอาการคลื่นเหียนอาเจียน (Anti-nausea drugs) – แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นเหียนอาเจียนที่มักเกิดร่วมกับไมเกรน
  • ยาหยุดอาการไมเกรน (Abortive medicines) – มียาเฉพาะบางตัวที่ใช้เมื่อเริ่มเกิดอาการไมเกรนซึ่งอาจช่วยระงับสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้ ช่วยป้องกันการเกิดไมเกรน รวมถึงอาการปวด คลื่นไส้อาเจียน ความไวต่อแสง เป็นต้น ยาเหล่านี้จะทำงานโดยการทำให้หลอดเลือดกลับสู่สภาพปกติและระงับอาการปวดตุ๊บๆ
  • ยาป้องกัน (Prophylactic medications) เมื่อเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงมากกว่า 2 - 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ แพทย์อาจสั่งยาป้องกันซึ่งช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะ โดยให้กินทุกวัน
  • การป้อนข้อมูลทางชีวภาพย้อนกลับ (Biofeedback) เป็นกรรมวิธีการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคไมเกรน หรือโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง โดยให้คนไข้สังเกตปฏิกริยาของร่างกาย เช่น ชีพจร การหายใจ ความตึง อุณหภูมิ ของร่างกายในภาวะต่าง ๆ กัน เพื่อให้คนไข้ทราบว่า การทำเช่นไร เพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลายเต็มที่ หลังจากนั้น คนไข้จะสามารถฝึกตัวเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายได้

    กรณีที่ท่านเป็นไมเกรนบ่อยๆ แพทย์อาจสั่งยาที่ช่วยลดจำนวนการเกิดไมเกรน ซึ่งต้องกินทุกวันจึงจะได้ผล โดยยาเหล่านี้อาจรวมถึง

  • ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) เช่น ยา Amitriptyline หรือยา Venlafaxine
  • ยาความดันโลหิต เช่น กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) อย่าง Propanolol หรือ ยาแคลเซียมแชนแนล บล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) อย่าง Verapamil
  • ยาควบคุมอาการชัก (Seizure medicines) เช่น Valproic acid ยา Gabapentin และยา Topiramate

แหล่งข้อมูล

  1. Migraines and Headaches. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/migraines-headaches-migraines [2013, March 26].
  2. Migraine. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001728/ [2013, March 26].