ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) คือ ยาลดน้ำตาลในเลือด ถูกนำมารักษาโรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 ต่างประเทศจะรู้จักในชื่อการค้าว่า “Actos” ซึ่งมีใช้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ยาไพโอกลิตาโซนเคยได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมียอดขายสูงสุดถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ จากการศึกษาในเวลาต่อมาพบว่า ยาไพโอกลิตาโซนที่ใช้ต่อ เนื่องเป็นเวลานานอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer/Bladder cancer) เป็นผลให้บางประเทศเพิกถอนการใช้ยานี้

ยาไพโอกลิตาโซน ถือเป็นสมาชิกตัวหนึ่งของกลุ่มยาเบาหวานประเภทที่ 2 คือ Thiazolidinedione (TZD) หรืออีกชื่อคือ “Glitazones” ในเชิงพาณิชย์ ยานี้ถูกออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นยาชนิดรับประทาน

การดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จาก นั้นตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้มากกว่า 99% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 7 ชั่วโมงเพื่อกำ จัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไพโอกลิตาโซนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และสามารถพบเห็นการใช้ยาได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

ไพโอกลิตาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไพโอกลิตาโซน

ยาไพโอกลิตาโซนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท/ชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)

ไพโอกลิตาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพโอกลิตาโซนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำตาลของร่างกายให้ทำงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมไปถึงในตับ ทำให้เร่งการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส (Glucose) โดยผ่านการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน รวมถึงลดการหลั่งน้ำตาลกลูโคสจากตับ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดตามสรรพคุณ

ไพโอกลิตาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพโอกลิตาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 15, 30 และ 45 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Pioglitazone 15 มิลลิกรัม + Metformin HCl 850 มิลลิกรัม/เม็ด

ไพโอกลิตาโซนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไพโอกลิตาโซนใช้รักษาเฉพาะโรคเบาหวานประเภท/ชนิดที่ 2 โดยมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี: รับประทาน 15 - 30 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทาน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 45 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (รวมถึงเด็ก/ นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดที่แนะนำการใช้ยานี้

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพโอกลิตาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพโอกลิตาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพโอกลิตาโซน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไพโอกลิตาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพโอกลิตาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เจ็บคอ คออักเสบ
  • ตัวบวม
  • ปวดหัว
  • อวัยวะในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีอาการอักเสบ
  • ไซนัสอักเสบ
  • โรคซีด
  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ตาพร่า
  • วิงเวียน
  • ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ไพโอกลิตาโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพโอกลิตาโซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท/ชนิดที่ 1
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างใช้ยานี้
  • ระวังการเกิดอาการตัวบวม ภาวะหัวใจล้มเหลว ตับทำงานผิดปกติ ดีซ่าน และ โรคซีด
  • แพทย์จะคอยควบคุมดูแลการทำงานของตับให้เป็นปกติก่อนและในระหว่างที่มีการใช้ยานี้
  • ขณะที่รับประทานยานี้ต้องควบคุมและตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการดีซ่าน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพโอกลิตาโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพโอกลิตาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพโอกลิตาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไพโอกลิตาโซน ร่วมกับ ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) สามารถก่อให้เกิดอาการคั่งของน้ำในร่างกาย อาจส่งผลให้พบอาการบวมน้ำเช่น มือ - เท้าบวม หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไพโอกลิตาโซน ร่วมกับ ยา Rifampicin จะทำให้ความเข้มข้นของยาไพโอกลิตาโซนในกระแสเลือดลดลงจนส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาบางตัว เช่นยา Ketoconazole และ Gemfibrozil ร่วมกับ ยาไพโอกลิตาโซน สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาไพโอกลิตาโซนในร่างกายมีระดับสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาไพโอกลิตาโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาไพโอกลิตาโซน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไพโอกลิตาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพโอกลิตาโซน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actos (แอ็กทอส) Takeda
Actosmet (แอ็กทอสเมท) Takeda
Gitazone/Gitazone-forte (กิตาโซน/กิตาโซน-ฟอร์ท) Millimed
Glubosil (กลูโบซิล) Silom Medical
Piozone (ไพโอโซน) M & H Manufacturing
Senzulin (เซนซูลิน) Siam Bheasach
Utmos (อัทมอส) Berlin Pharm

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pioglitazone [2021,July10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiazolidinedione [2021,July10]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/pioglitazone?mtype=generic [2021,July10]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pioglitazone [2021,July10]
  5. https://www.drugs.com/mtm/pioglitazone.html [2021,July10]