ไพเพอราควิน (Piperaquine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพเพอราควิน (Piperaquine) เป็นยาที่ใช้ต่อต้านโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น ถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนและภูมิภาคแถบอินโดจีน เวลา 20 ปีต่อมาพบว่าตัวยาไพเพอราควินเริ่มมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันและไม่สามารถต่อต้านโรคมาลาเรียได้เหมือนเดิม นักวิทยาศาสตร์จีนได้ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องและค้นพบว่าการนำเอายาไพเพอราควินมาใช้ร่วมกับอนุพันธุ์ยาอาร์เทมิซินิน (Artemisinin derivative) จะทำให้มีฤทธิ์ในการรักษามาลาเรียได้ดีมากยิ่งขึ้น และยังนำไปใช้ต่อต้านมาลาเรียกลุ่มเชื้อที่ดื้อต่อยาไพเพอราควินได้ด้วย ข้อมูลและการวิจัยดังกล่าวเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก จึงเกิดสูตรตำรับร่วมของยารุ่นใหม่ตามมาโดยมีส่วนประกอบดังนี้

  • Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัม และ
  • Piperaquine 160 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 20 มิลลิกรัม

โดยสูตรตำรับยาร่วมข้างต้นห้ามใช้กับเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 5 กิโลกรัมรวมถึงสตรีที่มีอายุการตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาสแรก จากการติดตามประสิทธิภาพการรักษา สูตรตำรับร่วมดังกล่าว สามารถต่อต้านมาลาเรียระดับที่ไม่รุนแรงซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรียชนิด P.falciparum (Plasmo dium falciparum) แถบเอเชียพบเห็นการใช้ยาสูตรตำรับผสมนี้ที่ประเทศเวียดนามและกัมพูชา ข้อดีอีกประการของสูตรตำรับยาร่วมนี้คือมีราคาไม่แพงจึงสามารถนำมาใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี

ทางคลินิกได้กล่าวถึงอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาสูตรยาร่วม Piperaquine + Artemisinin ว่าสามารถทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนแรงในขณะที่ใช้ยานี้ นอกจากนั้นในเด็กยังอาจมีอาการข้างเคียงคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่ มีอาการไอและไข้ตามมาด้วย

ด้านรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาไพเพอราควินทั้งชนิดเป็นยาเดี่ยวและชนิดตัวยาร่วมจะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ซึ่งสูตรตำรับที่ใช้ปัจจุบันจะใช้ร่วมกับยา Dihydroartemisinin ซึ่งให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ก่อนอาหารหรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง

การจะใช้ยาไพเพอราควินทั้งชนิดยาเดี่ยวและชนิดตัวยาร่วมได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่านการตรวจร่างกายและได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น รวมทั้งระหว่างการใช้ยานี้ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับลดหรือเพิ่มขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้เองทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงป้องกันการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียนั่นเอง

ไพเพอราควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไพเพอราควิน

ยาไพเพอราควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย โดยปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นการใช้ในลักษณะของยาเดี่ยว แต่จะต้องนำไปใช้ร่วมกับยาต้านมาลาเรียตัวอื่นเช่น Dihydro artemisinin เป็นต้น

ไพเพอราควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพเพอราควินที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่าตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้กระบวนการดำเนินชีวิตในตัวเชื้อมาลาเรียถูกยับยั้ง ทำให้คุณสมบัติในการกระจายพันธุ์ยุติลง หยุดการเจริญเติบโตและส่งผลให้เชื้อมาลาเรียตายลงในที่สุด

ไพเพอราควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพเพอราควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Piperaquine 160 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 20 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัม/แคปซูล

ไพเพอราควินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไพเพอราควินสามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 5 กิโลกรัมโดยขนาดรับประทานให้คำนวณจากน้ำหนักตัวของร่างกายดังนี้

น้ำหนักตัว (กิโลกรัม):

  • 5 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 7 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 160 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 20 มิลลิกรัมรับประทาน ½ เม็ดวันละครั้ง
  • 7 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 13 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 160 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 20 มิลลิกรัมรับประทาน 1 เม็ดวันละครั้ง
  • 13 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 24 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัมรับประทาน 1 เม็ดวันละครั้ง
  • 24 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 36 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัมรับประทานครั้งละ 1 เม็ดวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น
  • 36 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 75 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัมรับประทาน 1 เม็ดวันละ 3 ครั้งเช้า-กลางวัน-เย็น
  • 75 กิโลกรัม - ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม: ใช้ยา Piperaquine 320 มิลลิกรัม + Dihydroartemisinin 40 มิลลิกรัมรับประทาน 1 เม็ดวันละ 4 ครั้งเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน

*อนึ่ง

  • ข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไปหรือน้ำหนักตัวต่ำกว่า 5 กิโลกรัมยังมิได้มีการจัดทำด้วยยังไม่มีข้อมูลด้านผลข้างเคียงที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารหรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง
  • ระยะเวลาที่ใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพเพอราควิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพเพอราควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพเพอราควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไพเพอราควินตรงเวลา

ไพเพอราควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพเพอราควินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเกร็งช่องท้อง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดชนิด Eosinophilia ขึ้นสูง

มีข้อควรระวังการใช้ไพเพอราควินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพเพอราควินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไพเพอราควิน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยมิได้มีการปรึกษากับแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียในระดับที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ทำงานผิดปกติไปจากเดิม รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีระดับเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • หากพบอาการแพ้ยาหลังรับประทานยานี้ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพเพอราควินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพเพอราควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันไพเพอราควินมีการใช้เป็นยาร่วมกับยาอื่นมากกว่าที่จะใช้เป็นยาเดี่ยว การใช้เป็นยารักษามาลาเรียจะใช้เฉพาะในพื้นที่ที่มีมาลาเรียชุกชุม ข้อมูลทางคลินิกเรื่องปฏิกิริยาระหว่างยาไพเพอราควินชนิดยาเดี่ยวหรือชนิดร่วมกับยาอื่นสามารถพบเห็นได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามหากการรับประทานยานี้และ/หรือร่วมกับยาใดๆก็ตามแล้วมีอาการผิดปกติเช่น แน่นหน้าอก ผื่นคัน วิงเวียน หัวใจเต้นผิดปกติ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ควรเก็บรักษาไพเพอราควินอย่างไร?

ควรเก็บยาไพเพอราควินในอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไพเพอราควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพเพอราควินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Artekin (อาร์เทคิน)Holleykin
Eurartesim (ยูราร์เทซิม) Sigma Tau; by Good Manufacturing Practices
Timequin (ไทม์ควิน) SAMI Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15610051 [2016,Feb27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dihydroartemisinin/piperaquine [2016,Feb27]
  3. http://www.who.int/selection_medicines/committees/expert/18/applications/Piperaquine/en/ [2016,Feb27]
  4. http://www.drugs.com/uk/eurartesim.html [2016,Feb27]
  5. http://www.ajtmh.org/content/79/4/620.full [2016,Feb27]
  6. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Product_Information/human/001199/WC500118113.pdf [2016,Feb27]
  7. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=2227&drugName=&type=0 [2016,Feb27]
  8. https://sehat.com.pk/products/Timequin-Cap-40mg%7B47%7D320mg-8's.html [2016,Feb27]