ไพริลามีน ครีม (Pyrilamine cream)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพริลามีน ครีม (Pyrilamine cream) หรืออีกชื่อคือ Mepyramine cream เป็นยาทาภายนอกที่ใช้รักษาอาการแพ้ทางผิวหนังจากแมลงสัตว์กัดต่อย ลมพิษ และผื่นคัน โดยยานี้จะออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งฮีสตามีนเป็นสารที่ถูกกักเก็บอยู่ในเซลล์ของร่างกายที่มีชื่อว่า มาสเซลล์ (Mast cell) ปกติมาสเซลล์จะมีอยู่ตามเนื้อเยื่อและอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารที่แปลกปลอมเช่น พิษที่เกิดจากการกัดของแมลง (Venom from insect) จะทำให้ มาสเซลล์ปลดปล่อยสารฮีสตามีนออกมาและเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า H1-receptor (Histamine receptor) มีผลให้เกิดอาการแพ้ในบริเวณที่ได้รับพิษ ยาไพริลามีนจะเข้ายับยั้งกลไกดังกล่าวทำให้เกิดการชะลอการปลดปล่อยฮีสตามีนจากมาสเซลล์ นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ป้องกันมิให้ร่างกายหลั่งสารเคมีกระตุ้นการแพ้ชนิดอื่นๆได้อีกด้วย ความเหมาะสมของอาการแพ้ที่จะใช้ยาครีมประเภทนี้มีข้อจำกัดอยู่บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเช่น

  • ห้ามใช้บริเวณผิว/บาดแผลที่มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาด้วยจะทำให้ยาไม่สามารถ ออกฤทธิ์ได้เต็มที่เพราะเกิดการเจือจางจากเลือดหรือน้ำเหลืองดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในบริเวณตา ปาก จมูก และบริเวณช่องคลอด
  • ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆหรือใช้ครั้งละมากๆ ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์
  • ประการสุดท้าย ห้ามรับประทานยาไพริลามีน ครีมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ไพริลามีน ครีมจะเป็นยาทาภายนอกแต่ก็มีโอกาสดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้จนอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ หรือผ่านเข้าน้ำนมมารดาและถูกส่งผ่านไปถึงทารกที่ดื่มนมมารดาได้เช่นกัน

ด้านอาการข้างเคียงหลังจากการใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบอาการแพ้ยาชนิดนี้แต่อย่างใด บางรายพบบ้างเล็กน้อยเช่น รู้สึกระคายเคืองในบริเวณที่ทายา บางคนอาจพบอาการแพ้ยาจนถึงขั้นต้องหยุดการใช้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาใดๆก็ตาม ผู้ป่วยควรต้องใช้ยาอย่างมีระเบียบวินัยหรือขอคำปรึกษาข้อมูลของยาชนิดนั้นๆได้จากเภสัชกรใกล้บ้าน

ไพริลามีน ครีมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไพริลามีนครีม

ยาไพริลามีน ครีมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ

  • บรรเทาอาการแพ้จากพิษของแมลงสัตว์กัดต่อย
  • บรรเทาอาการลมพิษและผื่นคันต่างๆ

ไพริลามีน ครีมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไพริลามีน ครีมจะแทรกซึมเข้าไปจับกับตัวรับในเนื้อเยื่อที่เรียกว่า H1-receptor (Histamine receptor) ในบริเวณที่มีอาการแพ้ ทำให้ฮีสตามีนไม่สามารถเข้ามาจับกับตัวรับดังกล่าวได้ส่งผลให้ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ของอาการแพ้ต่างๆออกมาได้ อีกทั้งเกิดการปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆเช่น สาร Cytokine ที่กระตุ้นอาการแพ้ให้มีเพียงปริมาณที่เหมาะสมหรือปกติจนทำให้อาการแพ้ต่างๆทุเลาเบาบางลง

ไพริลามีน ครีมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพริลามีน ครีมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาครีมทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 2%
  • ยาโลชั่นทาภายนอกที่ประกอบกับยาอื่นเช่น Pyrilamine Maleate 2% + Zinc Oxide 15%
  • ยาสเปรย์ภายนอกที่ประกอบกับยาชาเช่น Benzocaine 2% + Pyrilamine Maleate 2%

ไพริลามีน ครีมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไพริลามีน ครีมมีขนาดการบริหารยา/การทายาในการทายาแก้แมลงกัดต่อย แก้แพ้ผื่นคัน ลมพิษทางผิวหนังคือ

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป: ทาบริเวณที่มีอาการแพ้ 2 - 3 ครั้ง/วัน ควรใช้ยาไม่เกิน 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงจากยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเสมอ

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพริลามีน ครีม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ทายาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพริลามีน ครีมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาไพริลามีน ครีมสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

ไพริลามีน ครีมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพริลามีน ครีมอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้บ้าง เช่น ระคายเคืองในบริเวณที่ทายา

มีข้อควรระวังการใช้ไพริลามีน ครีมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพริลามีน ครีมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ห้ามทายานี้บริเวณริมฝีปาก ช่องปาก ตา ภายในจมูก และช่องคลอด
  • ห้ามทายานี้เป็นบริเวณกว้างและในเป็นปริมาณมากด้วยอาจเกิดการดูดซึมเข้าสู่ระบบอวัยวะภายในร่างกายที่ก่อผลข้างเคียงได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไพริลามีน (Pyrilamine)
  • ห้ามทายาในบริเวณที่มีแผลเปิด แผลฉีกขาด หรือแผลที่มีเลือดและน้ำเหลืองไหล
  • ห้ามใช้ทาในบริเวณที่เป็นแผลไฟไหม้
  • ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับในบริเวณที่มีการทายานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพริลามีน ครีมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพริลามีน ครีมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาไพริลามีน ครีมเป็นยาทาชนิดภายนอก (ยาใช้ภายนอก) จึงยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดถึงปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาไพริลามีน ครีมอย่างไร?

ควรเก็บยาไพริลามีน ครีมในช่วงอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาภายในช่องแช่แข็งตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพริลามีน ครีมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพริลามีน ครีมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anthisan (แอนทิซาน) sanofi-aventis
Anthisan plus (แอนทิซาน พลัส) sanofi-aventis
Anthical (แอนทิคอล) Elder

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mepyramine [2015,Aug22]
  2. http://www.netdoctor.co.uk/travel-health/medicines/anthisan-cream.html [2015,Aug22]
  3. http://www.boots.com/en/Anthisan-Cream-25g_922795/ [2015,Aug22]
  4. http://drugs-about.com/drugs-a/anthical.html [2015,Aug22]
  5. http://drugs-about.com/drugs-a/anthisan-plus.html [2015,Aug22]