ไพริดอกซีน (Pyridoxine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไพริดอกซีน (Pyridoxine) เป็นชื่อหนึ่งของวิตามินบี 6 ซึ่งมีอยู่ 8 ชนิดย่อยคือ Pyridoxine, Pyridoxal, Pyridoxine 5'-phosphate, Pyridoxal 5'-phosphate, Pyridoxamine, Pyridoxamine 5'-phosphate, 4-Pyridoxic acid และ Pyritinol ซึ่งวิตามินบี 6 จัดเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ มีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร สามารถผ่านเข้ารกและน้ำนมของมารดาได้ ขณะที่ตัวยานี้ที่อยู่ในกระแสเลือด จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ ร่างกายจะใช้วิตามินบี 6 ในกระบวนการเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงาน ช่วยทำให้เส้นประสาททำงานได้เป็นปกติและช่วยผลิตเม็ดเลือดแดงอีกด้วย

เราสามารถได้รับวิตามินบี 6 จากอาหารที่รับประทานเข้าไปเช่น เนื้อปลา ไก่ ตับ ผักใบเขียว กล้วย เป็นต้น ร่างกายของผู้บริโภคบางกลุ่มอาจต้องการวิตามินบี 6 มากกว่าร่างกายผู้บริโภคกลุ่มอื่น เช่น สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

ยังมีบางสภาพการที่ทำให้เราขาดวิตามินชนิดนี้ได้อาทิ

  • ขาดแคลนอาหารบริโภคหรือบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ
  • เป็นผู้ที่ดื่มสุราจัดหรือติดสุรา
  • ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) โรคภูมิต้านทานตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคเซลีแอค (Celiac disease, โรคออโตอิมมูนทางพันธุกรรมที่ร่างกายแพ้โปรตีนที่ชื่อกลูเตน/Gluten)
  • การใช้ยาบางชนิดสามารถทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 6 ได้เช่น ยากันชัก, ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาวัณโรคอย่าง Isoniazid และ Cycloserine, ยาลดความดันโลหิต อย่างเช่น Hydralazine รวมถึงยากลุ่มสเตียรอยด์เช่น Corticosteroids

การขาดวิตามินบี 6 อาจแสดงออกโดยมีอาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี

ในทางคลินิกพบว่าไพริดอกซีน (Pyridoxine) เป็นวิตามินบี 6 ชนิดที่ใช้ทางการแพทย์มากที่สุด และการได้รับวิตามินบี 6 เกิน 100 มิลลิกรัม/วันโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ได้เหมือนยาชนิดอื่นๆเช่น

  • ทำให้เส้นประสาทเสียหาย
  • มีอาการแพ้ทางผิวหนังเกิดผื่นขึ้นได้

ถึงแม้ยาไพริดอกซีนจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดาก็จริง อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ต้องผ่านการคัดกรองและได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาไพริดอกซีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติ และได้ระบุถึงคำเตือนในการใช้ว่า “การรับประทานวิตามินบี 6 ขนาดตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/วันขึ้นไปเป็นเวลานานจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการ Neuropathy” คือ เส้นประสาทอักเสบ ดังนั้นการใช้ไพริดอกซีนได้อย่างปลอดภัย ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหายามารับประทานเอง

ไพริดอกซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไพริดอกซีน

ยาไพริดอกซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้บำบัดอาการคลื่นไส้-อาเจียนในระหว่างตั้งครรภ์
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
  • บำบัดอาการจอตาเสื่อม
  • ลดอาการซึมเศร้า ภาวะโลหิตจาง
  • ป้องกันโรคนิ่วในไต
  • ช่วยรักษาสิว หรืออาการทางผิวหนัง
  • เสริมสร้างความจำและความสามารถในการรับรู้ของผู้สูงอายุ
  • บำบัดอาการโรคข้อรูมาตอยด์ อาการปวดประจำเดือน
  • ใช้บำบัดรักษาอาการTardive dyskinesia ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายทำได้ดีขึ้น

ไพริดอกซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไพริดอกซีนเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ช่วยทำให้ร่างกายเผาผลาญสารอาหารเช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เพื่อนำไปใช้กับร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดและสร้างสารกาบา (GABA) ในสมอง รวมถึงทำให้ร่างกายนำแหล่งพลังงานของร่างกายที่เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งมีสะสมอยู่ในตับและในกล้ามเนื้อออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไพริดอกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ไพริดอกซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่เป็นวิตามินรวม
  • ยาฉีดขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • เป็นส่วนประกอบของนมผงที่ใช้เลี้ยงทารก

ไพริดอกซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาไพริดอกซีนชนิดรับประทานที่ใช้บำบัดรักษาในบางกรณีเช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการขาดวิตามินบี 6:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.5 - 25 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 1.5 - 2.5 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับอาการขาดวิตามินบี 6 ในสตรีที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 30 มิลลิกรัม/วัน

ค. สำหรับบำบัดอาการปวดประจำเดือนของสตรี:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน

ง. สำหรับบำบัดอาการคลื่นไส้ในสตรีตั้งครรภ์:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง

จ.สำหรับบำบัดอาการโลหิตจาง:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 200 - 600 มิลลิกรัม/วัน เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานเป็น 30 - 50 มิลลิกรัม/วัน

ฉ. สำหรับบำบัดป้องกันรักษานิ่วในไต:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 25 - 500 มิลลิกรัม/วัน

ช. สำหรับบำบัดอาการจอตาเสื่อม:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วันโดยรับประทานร่วมกับวิตามินบี 12 - 1,000 ไมโครกรัม และกรดโฟลิก 2,500 ไมโครกรัม

*อนึ่ง:

  • ในเด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์โดยพิจารณาเป็นกรณีบุคคลไป
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไพริดอกซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไพริดอกซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพริดอกซีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไพริดอกซีนให้ตรงเวลา

ไพริดอกซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพริดอกซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ง่วงนอน

ทั้งนี้การใช้วิตามินบี 6 ไปนานๆอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและต่อเส้นประสาทได้ และการศึกษายังพบว่าเด็กทารกแรกเกิดที่ได้รับไพริดอกซีนโดยผ่านไปกับน้ำนมของมารดาเป็นปริมาณมาก อาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาไม่ควรรับไพริดอกซีนเกิน 2 มิลลิกรัม/วัน

มีข้อควรระวังการใช้ไพริดอกซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพริดอกซีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ระหว่างการใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น มีอาการบวมตามใบหน้า-มือ-เท้า อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีลมพิษ-ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม ยาไพริดอกซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพริดอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพริดอกซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไพริดอกซีนร่วมกับยา Phenobarbital อาจทำให้ประสิทธิภาพและการออกฤทธิ์ของ Phenobarbital ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไพริดอกซีนร่วมกับยา Isoniazid ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาทั้ง 2 ชนิดมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาไพริดอกซีนร่วมกับยา Levodopa จะทำให้ร่างกายทำลายยา Levodopa มากยิ่งขึ้นจนส่งผลต่อฤทธิ์ของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะ สมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไพริดอกซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไพริดอกซีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพริดอกซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพริดอกซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
B6-50 (บี6-50) Utopian
B-6 Pharmasant (บี-6 ฟาร์มาสันต์) Pharmasant
Pyridoxine Hydrochloride (ไพริดอกซีน ไฮโดรคลอไรด์) APP Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. http://www.everydayhealth.com/drugs/vitamin-b6 [2015,Nov7]
  2. http://www.drugs.com/mtm/pyridoxine.html [2015,Nov7]
  3. http://www.whfoods.com/genpage.php?tname=nutrient&dbid=108 [2015,Nov7]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_B6 [2015,Nov7]
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/126/11.PDF [2015,Nov7]
  6. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Pyridoxine [2015,Nov7]
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/B-6%20Pharmasant/ [2015,Nov7]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/pyridoxine,aminoxin-index.html?filter=2&generic_only= [2015,Nov7]
  9. http://medlibrary.org/lib/rx/meds/pyridoxine-hydrochloride/page/2/ [2015,Nov7]