ไพรมิโดน (Primidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาไพรมิโดน (Primidone) คือ ยาต้านอาการโรคลมชัก (ยาต้านชัก) มักจะถูกใช้เป็นทางเลือกที่สองเมื่อการใช้ยาบำบัดโรคลมชักของกลุ่มแรกใช้ไม่ได้ผล ทางคลินิกได้นำไพรมิโดนมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ.2492)

ไพรมิโดนในรูปแบบของยาแผนปัจจุบันจะถูกผลิตออกมาเป็นยาสำหรับรับประทานทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน ตัวยาสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 25% โดยมีตับคอยเปลี่ยน แปลงและทำลายโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 15 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ธรรมชาติของยาไพรมิโดน สามารถผ่านเข้ารกและน้ำนมของมารดา จึงเป็นยาที่ไม่เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย การใช้ยาไพรมิโดนจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

ไพรมิโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไพรมิโดน

ยาไพรมิโดนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการโรคลมชัก ชนิดโรคลมบ้าหมู (Generalised tonic-clonic seizures) และ ชนิด โรคชักเฉพาะที่
  • โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor)

ไพรมิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพรมิโดนคือ ตัวยาจะเพิ่มความทนทานของระบบประสาทต่อสิ่งเร้า/ตัวกระตุ้นที่มากระตุ้นให้เกิดอาการของโรคลมชัก ยาไพรมิโดนยังถูกตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีไปเป็นตัวยา Phenobarb ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาการโรคลมชักได้อีกเช่นกัน จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไพรมิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไพรมิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ไพรมิโดนมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาไพรมิโดนมีขนาดการใช้ยาดังนี้เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคลมชักชนิดโรคลมบ้าหมู และ โรคชักเฉพาะที่:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 125 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน แล้วแพทย์จะปรับเพิ่มปริมาณ ยาอีก 125 มิลลิกรัมทุกๆ 3 วัน หากจำเป็นแพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 500 มิลลิ กรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณยา 250 มิลลิกรัมทุกๆ 3 วัน ซึ่งขนาดที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 750 - 1,500 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เริ่มต้นรับประทาน 125 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานอีก 125 มิลลิกรัมทุกๆ 3 วัน ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาของเด็กในแต่ละช่วงอายุเป็นดังนี้ เด็กที่อายุมากกว่า 9 ปี รับประทาน 750 - 1,500 มิลลิกรัม/วัน,
  • เด็กที่อายุตั้งแต่ 6 - 9 ปี รับประทาน 750 - 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุตั้งแต่ 2 - 5 ปี รับประทาน 500 - 750 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี รับประทาน 250 - 500 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นแพทย์จะปรับเพิ่มขนาดรับประ ทานทุก 2 - 3 สัปดาห์ โดยขนาดรับประทานสูงสุด 750 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: โรคนี้มักไม่พบในเด็ก จึงไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้รักษาโรคนี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไพรมิโดน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพรมิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไพรมิโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆสามารถทำให้อาการป่วยไม่ทุเลาและอาจเพิ่มความรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น

ไพรมิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไพรมิโดนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ง่วงนอน
  • อาการเซ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ตาพร่า
  • ตากระตุก
  • เวียนศีรษะ
  • ผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดอาการแพ้ยาได้

มีข้อควรระวังการใช้ไพรมิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไพรมิโดนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยยานี้สามารถก่อความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยานี้สามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria :โรคผิดปกติทางพันธุกรรมในการสร้าง เม็ดเลือดแดง) ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านระบบหายใจในระดับรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่มีภาวะระบบหายใจผิดปกติ
  • ระวังการเกิดอาการถอนยา/ ลงแดง ระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเพราะยานี้มีผลข้างเคียงให้เกิดการง่วงนอน
  • ระหว่างการใช้ยานี้แพทย์จะแนะนำการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติเกิดกับระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาหรือไม่ โดยอาจตรวจทุก 6 เดือน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไพรมิโดนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไพรมิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไพรมิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การรับประทานยาไพรมิโดน ร่วมกับ ยาหลายตัวสามารถเร่งให้ตับทำลาย/เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยากลุ่มดังกล่าวได้มากขึ้นจนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเหล่านั้นด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่นยา Chloramphenicol, Beta-blockers, Cimetidine, Corticosteroids, Furosemide, ยาเม็ดคุมกำเนิด, Warfarin และยากลุ่ม TCAs
  • การรับประทานยาไพรมิโดน ร่วมกับ ยารักษาโรคลมชัก (ยากันชักยา)ตัวอื่น เช่น Valproate หรือ Phenytoin สามารถทำให้ระดับความเข้มข้นของยาไพรมิโดนเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การรับประทานยาไพรมิโดน ร่วมกับ ยา Acetazolamide อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมีภาวะกระดูกน่วม-กระดูกอ่อน (Osteomalacia) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาไพรมิโดน ร่วมกับ ยา Quinidine อาจทำให้ระดับยา Quinidine ในกระ แสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้ผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาไพรมิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาไพรมิโดน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไพรมิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไพรมิโดน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Mysoline (มายโซลีน) Valeant Pharmaceuticals North America
Primidone Tablet (ไพรมิโดน แทบเล็ต) Watson Laboratories Inc

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Primidone#Available_forms [2021,April10]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/primidone?mtype=generic [2021,April10]
  3. https://www.mims.co.uk/drugs/central-nervous-system/parkinson-s-disease-parkinsonism/primidone [2021,April10]
  4. https://www.medicinenet.com/primidone-oral/article.htm [2021,April10]