ไนโซลดิปีน (Nisoldipine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนโซลดิปีน(Nisoldipine)เป็นยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์(Calcium channel blocking agents) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง ตัวยาไนโซลดิปีนมีการออกฤทธิ์คล้ายยาหลายตัว เช่นยา Amlodipine, Felodipine, Nicardipine, Nifedipine, และ Nimodipine รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไนโซลดิปีนเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7–12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ข้อจำกัดการใช้ยาไนโซลดิปีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไนโซลดิปีน
  • ห้ามใช้ยาไนโซลดิปีนร่วมกับยา Phenytoin ด้วยจะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจาก Phenytoin มากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคตับ ล้วนแต่เป็นโรคที่มี ความเสี่ยงต่อการกำเริบเมื่อได้รับยาไนโซลดิปีน กรณีมีประวัติเจ็ยป่วยด้วยโรคดังกล่าว ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
  • ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยานี้

การใช้ยาไนโซลดิปีนเพื่อลดความดันโลหิต จะคล้ายคลึงกับการใช้ยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นๆ คือ ต้องรับประทานยาตามขนาด หรือตามความแรงที่แพทย์กำหนด ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงเวลาต่อเนื่อง พร้อมกับคอยควบคุมตรวจความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำ และหากพบว่าการใช้ยานี้มีประสิทธิผล ความดันโลหิตยังสูง หรือเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อขอคำปรึกษาหรือปรับขนาดการใช้ยาโดยเร็วจากแพทย์ ยาไนโซลดิปีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆได้มากมาย หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใดก็มี แต่หากพบว่ามีอาการ ขาบวม เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจัดเป็นอาการข้างเคียงที่รุนแรง แนะนำว่าต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาอาการดังกล่าวโดยเร็ว

*กรณีที่รับประทานยาไนโซลดิปีนเกินขนาด จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรู้สึกสับสน ง่วงนอน ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ อ่อนเพลีย และการพูดจาและออกเสียงทำได้ไม่ชัดเจน เมื่อพบภาวะดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

นักวิทยาศาสตร์ ได้ออกแบบให้ยาไนโซลดิปีนเป็นยาชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน(Extended-release) จึงทำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้เพียง 1 ครั้ง/วัน ก็เพียงพอในการควบคุมความดันโลหิตแล้ว อย่างไรก็ตามยาไนโซลดิปีนมีอยู่หลายขนาดความแรง การเลือกใช้ขนาดรับประทานที่เหมาะสม ควรต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ไนโซลดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไนโซลดิปีน

ยาไนโซลดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาป้องกันอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง

ไนโซลดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไนโซลดิปีนเป็นยาประเภท Calcium channel blocker ที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะลดการนำเข้าของประจุแคลเซียมในกล้ามเนื้อเรียบบริเวณผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เลือดมีการไหลเวียนได้สะดวกขึ้นจนเป็นผลให้ความดันโลหิตลดลง และยังบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ด้วย

ไนโซลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนโซลดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ยาเม็ดชนิดรับประทานโดยเป็นประเภทออกฤทธิ์นาน โดยมีส่วนประกอบของตัวยา Nisoldipine ขนาด 10, 20, 30, 40, 8.5, 17, 25.5, และ 34 มิลลิกรัม/เม็ด

ไนโซลดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาไนโซลดิปีนจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละราย ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 10–60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หรือ เริ่มต้นรับประทานยา 17 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 8.5–34 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคตับ: แพทย์อาจให้ปรับขนาดรับประทานลดลงดังนี้
  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 10–60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หรือ เริ่มต้นรับประทานยา 8.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 8.5–34 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ผลข้างเคียง และความปลอดภัย ในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ขนาดรับประทานเพื่อใช้เป็นยาป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกับใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แพทย์มักใช้ยาขนาดเดียวกัน
  • การรับประทานยานี้พร้อมอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้เกิดการดูดซึมยานี้ได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของยานี้ในกระแสเลือดสูงขึ้นมากเกินไป เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว ทางคลินิกจึงแนะนำให้รับประทานยาไนโซลดิปีนก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือรับประทานในช่วงท้องว่าง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนโซลดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนโซลดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนโซลดิปีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรรับประทานยาไนโซลดิปีนตรงตามขนาดและเวลาเดิมของแต่ละวัน การหยุดรับประทานยานี้โดยทันที อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

ไนโซลดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนโซลดิปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ปากแห้ง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ช่องปากเป็นแผล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ฝันแปลกๆ สับสน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มือ-เท้าบวม ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดภาวะตับโต
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เป็นสิว ผมร่วง ผิวแห้ง ติดเชื้อรา หรือเริม หรืองูสวัด ได้ง่ายขึ้น เหงื่อออกมาก เกิดลมพิษ เกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาว: ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานร่างกาย: เช่น มีอาการโรคเกาต์คุกคาม โพแทสเซียมในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง เป็นตะคริวที่ขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เกิดต้อหิน น้ำตามาก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ไอ เยื่อจมูกอักเสบ
  • อื่นๆ: เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ ความรู้สึกทางเพศถดถอย

มีข้อควรระวังการใช้ไนโซลดิปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโซลดิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมน้ำผลไม้อย่าง Grape fruit juice ด้วยอาจ ส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • ระหว่างใช้ยานี้ ต้องหมั่นตรวจความดันโลหิตว่าเป็นปกติหรือไม่ตาม แพทย์/ เภสัชกรแนะนำ กรณีที่เกิดความดันโลหิตต่ำหรือสูงผิดปกติ ควรต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ก่อนวันนัด
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนโซลดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไนโซลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนโซลดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไนโซลดิปีนร่วมกับยา Dolasetron อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กรณีต้องการใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาไนโซลดิปีนร่วมกับยา Itraconazole ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการบวมน้ำ หัวใจวาย และเกิดความดันโลหิตต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไนโซลดิปีนร่วมกับยา Nebivolol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นช้าตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไนโซลดิปีนร่วมกับยา Rifampin จะทำให้ระดับยาไนโซลดิปีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจเป็นเหตุทำให้ด้อยประสิทธิภาพต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไนโซลดิปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไนโซลดิปีนในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไนโซลดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนโซลดิปีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sular (ซูลาร์)AstraZeneca

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/nisoldipine.html [2017,March4]
  2. https://www.drugs.com/dosage/sular.html [2017,March4]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nisoldipine/?type=brief&mtype=generic [2017,March4]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/nisoldipine,sular-index.html?filter=3&generic_only= [2017,March4]