ไนสแตติน (Nystatin oral suspension)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนสแตติน (Nystatin) หรือชื่อการค้าที่แพร่หลาย คือ มัยโคสแตติน(Mycostatin) เป็นยาต้านเชื้อราที่สกัดได้จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Steptomyces noursei โดยถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ในช่วงแรกๆวงการแพทย์จะใช้ไนสแตตินรักษาการติดเชื้อราช่องปาก เชื้อราที่ ผิวหนัง หลอดอาหาร และที่อวัยวะเพศของสตรี เช่น เชื้อราในช่องคลอด

นักวทยาศาสตร์พบว่า ถ้าปริมาณยาไนสแตตินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น สามารถก่อให้เกิดพิษ ต่อร่างกายได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ไนสแตตินไม่มีรูปแบบการใช้ของยาฉีด มีแต่ชนิดรับประทานและชนิดเหน็บช่องคลอด

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก จัดให้ยาไนสแตตินเป็นยาจำเป็นสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน

การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยา เข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาไนสแตตินไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารได้ การกำจัดยานี้ออกจากร่างกายขึ้นกับการขับถ่ายอุจจาระ

ไนสแตตินจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ที่ถูกต้อง ปลอดภัย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไนสแตติน

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาการติดเชื้อรา/ โรคเชื้อรา ชนิด แคนดิดา (Candida fungus/ Candidiasis)ในช่องปาก (เชื้อราช่องปาก)

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับที่ผนังเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เกิดการรบกวนการส่งผ่านของสารเคมี ทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 100,000 ยูนิต/มิลลิลิตร ขนาดบรรจุขวด 12 มิลลิลิตร

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กโต (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 100,000 - 600,000 ยูนิต วันละ 4 ครั้ง
  • เด็กเล็ก: รับประทาน 100,000 ยูนิต วันละ 4 ครั้ง

อนึ่ง :

  • สามารถรับประทานยาไนสแตติน ก่อนหรือหลังอาหาร ก็ได้ โดยให้อมยาไว้สักพัก นานเท่าที่สามารถทำได้ แล้วจึงกลืนลงกระเพาะอาหาร ควรรับประทานติดต่อกันอีก 2 วันหลังจากอาการติดเชื้อราดีขึ้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • เบื่ออาหาร
  • ระคายเคืองในช่องปาก
  • อาจพบผื่นคัน หรือลมพิษ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • หลอดลมเกร็งตัว(หายใจลำบาก)
  • ใบหน้าบวม

มีข้อควรระวังการใช้ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไนสแตติน
  • ไม่ใช้ยานี้ในกรณีที่ติดเชื้อราในระบบอวัยวะภายในต่างๆของร่างกาย เช่น ปอด ต่อมน้ำ เหลือง ตับ ม้าม หัวใจ กระดูก ระบบประสาทส่วนกลาง ผิวหนัง
  • หากพบอาการแพ้ยาหรือการระคายเคืองต่างๆเกิดขึ้น ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที
  • การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีข้อ มูลสนับสนุนว่า ยาไนสแตตินก่อให้เกิดความพิการกับทารกในครรภ์หรือไม่
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีการศึกษาว่ายานี้ขับออกทางน้ำ นมมารดาหรือไม่
  • การใช้ยานี้ในเด็กเล็กและเด็กโตต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ด้วยร่างกายของเด็กมีความแตกต่างกันตามอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยานี้ร่วมกับ ยาวิตามินที่มีส่วนประกอบของ Bewer’s yeast (เชื้อรา/ยีสต์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของ วิตามิน เกลือแร่ /แร่ธาตุ และ/หรืออาหารเสริมบางชนิด เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของ วิตามิน เกลือแร่ และ/หรืออาหารเสริมนั้นๆ) อาจส่งผลเล็กน้อยต่อประสิทธิภาพการทำงานของ Bewer’s yeast ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารสำหรับร่างกาย หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินอย่างไร?

ควรเก็บยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาน้ำแขวนตะกอนไนสแตติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต คือ

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Tystatin (ไทสแตติน) T.O. chemicals

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Nystatin [2020,Feb29]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Tystatin/?type=brief [2020,Feb29]
3 http://www.mims.com/USA/drug/info/nystatin/nystatin?type=brief&mtype=generic[2020,Feb29]
4 http://www.drugs.com/drug-interactions/brewer-s-yeast-with-nystatin-408-0-2389-0.html [2020,Feb29]