ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติก (Thiazide-like diuretics)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติก(Thiazide-like diuretics) หมายถึง กลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ/ขับน้ำ(ยาขับปัสสาวะ)ออกจากร่างกายผ่านทางไต โดยมีกลไกการทำงานเหมือนกับยากลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) แต่มีข้อแตกต่างกันในโครงสร้างทางเคมี กล่าวคือ ยาไทอะไซด์-ไลด์ ไดยูเรติก จะไม่มีส่วนประกอบแกนกลางหรือที่เป็นโครงสร้างที่เรียกว่า เบนโซไทอะไดอะซีน (Benzothiadiazine)ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในยากลุ่ม Thiazide ทางคลินิกได้ใช้ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมารักษา ภาวะ/ โรคความดันโลหิตสูง ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย หรือใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

อาจจำแนกยากลุ่มไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้

  • Quinethazone: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Hydromoxทางคลินิก ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้บ่อยคือ วิงเวียน ปากแห้ง คลื่นไส้ ทำให้ระดับเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำลง
  • Clopamide: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Brinaldix ทางคลินิกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยจะออกฤทธิ์ที่ไต มีกลไกยับยั้งการดูดซึมเกลือโซเดียม และเกลือคลอไรด์ ในปัสสาวะกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อแรงดันภายในหลอดเลือดฝอยในไต จึงทำให้เกิดการขับน้ำออกจากไต(ปัสสาวะ)พร้อมกับเกลือโซเดียมคลอไรด์ดังกล่าว โดยพบผลข้างเคียง เช่น วิงเวียน ปากแห้ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • Chlortalidone/Chlorthalidone: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Hygroton ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย อาการข้างเคียงที่อาจพบเห็น ได้แก่ มีอาการ วิงเวียน ผิวหนังไวต่อแสงแดดมาก รวมถึงทำให้ร่างกายพร่อง/ขาดเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม
  • Mefruside: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Baycaron ทางคลินิกใช้เป็นยาลดอาการบวมน้ำ และบำบัดภาวะความดันโลหิตสูง ผลข้างเคียง เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • Metolazone: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Zytanix ใช้เป็นยาบำบัดอาการหัวใจล้มเหลว และช่วยลดความดันโลหิตสูง ผลข้างเคียงที่สำคัญของยานี้ คือ ทำให้ระดับน้ำ และระดับเกลือแร่ในกระแสเลือด เสียสมดุลจนอาจเกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • Xipamide: เป็นยาชนิดรับประทาน มีจำหน่ายในประเทศเยอรมันและออสเตรียภายใต้ชื่อการค้าว่า Aquaphor และ Aquaphoril ใช้เป็นยาลดอาการบวมน้ำของร่างกายและบำบัดภาวะความดันโลหิตสูง ผลข้างเคียง เช่น เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้
  • Indapamide: เป็นยาชนิดรับประทาน จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Lozol ทางคลินิกใช้บำบัดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง อาการหัวใจล้มเหลว บางกรณีก็นำมาใช้ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor อย่างเช่น Perindopril เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมียาไทอะไซด์-ไลค์ไดยูเรติกบางรายการที่มิได้นำมาเสนอในบทความนี้ ด้วยยาเหล่านั้นมีฤทธิ์ของการรักษาต่ำ และยังไม่มีการนำใช้แพร่หลาย

สำหรับความเหมาะสมที่จะเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยาไทอะไซด์-ไลค์ไดยูเรติก สำหรับผู้ป่วยนั้น ขึ้นกับสภาพความรุนแรงของการเจ็บป่วย โรคประตัว พื้นที่หรือแหล่งการจำหน่ายยาแต่ละตัว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ ที่จะเลือกการใช้ยานี้ให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด

อาจมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกได้เลย เช่น เป็นผู้ที่มีช่องทางเดินปัสสาวะอุดกั้น/ตีบตัน หรือเป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม่นี้

ยาไทอะไซด์-ไลค์ไดยูเรติกเป็นกลุ่มยาที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้อย่างรุนแรงหากใช้ไม่ถูกหลักปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค/ผู้ป่วย จึงควรต้องใช้ยากลุ่มไทอะไซด์-ไลค์ไดยูเรติก ตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไทอะไซด์ไลค์ไดยูเรติก

ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง
  • บำบัดอาการหัวใจล้มเหลว
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก คือ ตัวยาจะมีการออกฤทธิ์ที่ไต โดยตัวยาจะเร่งการขับออกทางปัสสาวะของเกลือโซเดียมและเกลือคลอไรด์ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของแรงดันภายในหลอดเลือดและในไต จนเป็นเหตุให้ไตขับน้ำออกจากกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จากผลดังกล่าว ยังก่อให้ปริมาณเลือดที่ต้องถูกสูบฉีดออกจากหัวใจ เป็นไปได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ด้วยกลไกที่กล่าวมาทั้งหมด จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เภสัชภัณฑ์ส่วนใหญ่ของยากลุ่มไทอะไซด์ไลค์ไดยูเรติก จะเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีความแรง/ขนาดยา แตกต่างกันตามชนิดของยาแต่ละตัว

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยากลุ่มไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก จะมีความแตกต่างกันตามชนิดของแต่ละตัวยาที่แพทย์เลือกใช้ อาการและความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย โรคประจำตัว รวมถึงยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยมีรับประทานอยู่ก่อน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและส่งผลดีต่อการรักษา ผู้ป่วยต้องใช้ยากลุ่มนี้ ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมรับประทานยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่การลืมรับประทานยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา ดังนั้น การใช้ยานี้ตรงเวลา ตามคำสั่งแพทย์ จึงจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะThrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ), Leucopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ), Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผิวแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ/มีน้ำตาลในปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น ไขมันในเลือดสูง เกลือโซเดียมใน เลือดต่ำ เกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง อาจมีภาวะโรคเกาต์คุกคาม
  • อื่นๆ: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย

อนึ่ง อาการข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้ และผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้รับผลกระทบจากอาการข้างเคียงอย่างใดเลยก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้ป่วยจะใช้ยาตัวใดในกลุ่มนี้ หากพบอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางใช้ยารวมถึงรับคำแนะนำเพิ่มเติมเป็นกรณีๆไป

มีข้อควรระวังการใช้ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง หรือผู้ที่มีทางเดินปัสสาวะอุดกั้น ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยภาวะ Addisons disease ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นใดโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนแปลงไป
  • ห้ามรับประทานยากลุ่มนี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้ได้รับผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องควบคุมดูแลระดับเกลือแร่ในร่างกายให้มีความสมดุลเสมอ รวมถึงตรวจสอบการทำหน้าที่ของอวัยวะตับ-ไต ให้เป็นปกติตลอดเวลา โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคเกาต์ ผู้ที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
  • ระวังการเกิดความดันโลหิตต่ำ หรือมีระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดลดลง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้งเพื่อ การตรวจร่างกาย การตรวจวัดความดันโลหิต เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาหากมีเหตุจำเป็น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มไทอะไซด์-ไลค์ไดยูเรติก ร่วมกับยา Lithium เพราะจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับอาการข้างเคียงของยา Lithium เพิ่มขึ้น เช่น มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก เดินเซ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Chlortalidone ร่วมกับยา Amiodarone, Dofetilide, Pimozide, ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • การใช้ยา Metolazone ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน โดย ยาบางกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ยา ACE inhibitors , Allopurinol , Amantadine ,Diazoxide, Cyclophosphamide, Digitalis glycosides , Ketanserin(ยาลดความดันโลหิตสูง), Lithium , Furosemide, Vecuronium
  • ห้ามรับประทานยากลุ่มไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากตามมา และมีอาการข้างเคียง บางอย่างร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ควรเก็บรักษาไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกอย่างไร?

ควรเก็บยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไทอะไซด์-ไลค์ ไดยูเรติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทอะไซด์ไลค์ ไดยูเรติก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
THALITONE (ธาลิโทน)King Pharmaceuticals, Inc
Hygroton (ไฮโกรตอน)Amdipharm Plc
Hydromox (ไฮโดรม็อกซ์)Lederle Laboratories
Mykrox (ไมคร็อก)Celltech
Zytanix (ไซทานิก) Zydus Cadila Healthcare Ltd
Zaroxolyn (ซาร็อกโซลิน)UCB Pharma, Inc.
Brinaldix (ไบรนาลดิกซ์)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiazide-like_diuretic[2017,April1]
  2. http://www.bhsoc.org/pdfs/therapeutics/Thiazide%20and%20Thiazide-like%20Diuretics.pdf[2017,April1]
  3. https://www.drugs.com/imprints/h-1-ll-1903.html[2017,April1]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2482975/pdf/postmedj00412-0027.pdf[2017,April1]
  5. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/clopamide.html[2017,April1]
  6. https://mediklik.com/drugs/branded/description/MTk4ODA=/Brinaldix%20(20%20Mg)%20%7CGeneric%20Medicine,%20Substitutes,%20Prices,%20Side-effects%20etc.%7Cmediklik.com[2017,April1]
  7. file:///C:/Users/apai/Downloads/Metolazone.pdf[2017,April1]
  8. http://www.centaurpharma.com/pdf/Prescribing-Metoz-R.pdf[2017,April1]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Metolazone[2017,April1]