ไทอะโซล (Thiazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/กลุ่มยาไทอะโซล (Thiazole) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารประกอบของยา/กลุ่มยาอิมิดาโซล (Imidazole) ทางคลินิกได้มีการสังเคราะห์สารประกอบของไทอะโซลมาเป็นยารักษาโรคได้หลายรายการ ทั้งที่ได้ผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันแล้วและยังอยู่ระหว่างการศึกษาทดลองคุณสมบัติเพื่อนำมาผลิตเป็นยาตัวอื่นๆเพิ่มเติม โดยเป็นผลมาจากโครงสร้างทางเคมีของตัวยา กลุ่มนี้ที่มีความสามารถหรือมีกลไกที่เจาะจงต่อกลุ่มอาการหรือต่อสาเหตุของโรคแต่ละประเภทนั่นเอง

ทั่วไปแบ่งยากลุ่มไทอะโซลตามประโยชน์ของการรักษาได้ดังต่อไปนี้

  • ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) อย่างเช่น ซัลฟาไทอะโซล (Sulfa thiazole)
  • ยาต้านไวรัส (Antiretroviral drug) อย่างเช่น ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
  • ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drug) อย่างเช่น อะบาฟังกิน (Abafungin)
  • ยาต้านมะเร็ง (Antineoplastic drug) อย่างเช่น ทิอะโซฟูริน (Tiazofurin)
  • ยาวิตามิน (Vitamin) อย่างเช่น วิตามินบี1 (Vitamin B1)
  • ยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด (Sedative หรือ Tranquilizer) หรือ ยานอนหลับ (Hyp notic) อย่างเช่น โคลเมไทอะโซล (Clomethiazole)

นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้มีการสังเคราะห์หมวดหมู่ยาไทอะโซลเพื่อใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาการอักเสบของร่างกาย อาการทางจิตประสาท อาการปวด กลุ่มยาเหล่านี้บางตัวยังอยู่ในขั้นการศึกษาทดลองด้านประสิทธิภาพการรักษาและด้านความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ไทอะโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไทอะโซล

กลุ่มยาไทอะโซลเมื่อถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างเหมาะสมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิกได้หลากหลายเช่น

  • ใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อโรคต่างๆอย่างเช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่ก่อโรคเอชไอวี (HIV) และเชื้อรา
  • ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ยานอนหลับ บำบัดอาการชัก/ยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงใช้บำบัดอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช
  • ใช้ลดความดันโลหิตสูง/ยาลดความดันโลหิต ลดอาการปวด/ยาแก้ปวด ลดอาการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ

ไทอะโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไทอะโซลมีความแตกต่างและขึ้นอยู่กับธรรมชาติของตัวยาย่อยแต่ละตัวยาที่ต่างกันออกไป สามารถสืบค้นกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาในกลุ่มไทอะโซลได้จากเว็บ haamor.com เช่น Clomethiazole, Ritonavir, Vitamin B1

ไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลากหลายขึ้นกับตัวยาย่อยแต่ละตัวเช่น

  • ยารับประทานเช่น ยาเม็ด ยาน้ำ
  • ยาทาเฉพาะที่
  • ยาฉีด

ไทอะโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มไทอะโซลมีความแตกต่างกันตามอาการของโรค ดังนั้นขนาดและวิธีใช้ยาในกลุ่มนี้ที่ถูกต้องปลอดภัยจะต้องเป็นตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไทอะโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ยาไทอะโซลเป็นตัวยาชนิดรับประทาน หากลืมรับประทานยาสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาในกลุ่มไทอะโซลตรงเวลา

ไทอะโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยทั่วไปกลุ่มยาไทอะโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อร่างกายได้ดังนี้เช่น เกิดอาการปวดศีรษะ รู้สึกสับสน รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ คลื่นไส้ อาเจียน มีความดันโลหิตผิดปกติ มีอาการคัดจมูก ผื่นคัน ลมพิษ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมีระดับเปลี่ยนแปลง ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

อนึ่งอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจจะเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ใช้ยาก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยแต่ละคนต่อยาไทอะโซลแต่ละชนิดตัวยาที่แตกต่างกันออกไป

มีข้อควรระวังการใช้ไทอะโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะโซลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มไทอะโซล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • กรณีเป็นยารับประทาน ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งด้วยยาหลายรายการในกลุ่มไทอะโซลสามารถส่งผลกระทบต่ออาการโรคต่างๆเหล่านั้นได้
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆเหล่านั้นกับยากลุ่มไทอะโซล
  • หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใบ้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทอะโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาไทอะโซลมีหลากหลายตัวยาย่อย ในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่างปฏิกิริยาระหว่างยาบางตัวในกลุ่มยาไทอะโซลที่มีการใช้แพร่หลายกับยาอื่นๆดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ร่วมกับยาอัลฟูโซซิน (Alfuzosin) ด้วยอาจทำให้ปริมาณของยาอัลฟูโซซินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • การใช้ยาโคลเมไทอะโซล (Clomethiazole) ร่วมกับยาบางตัวจะทำให้เพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาทมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Barbiturates, Angiotensin II-receptor antago nist, Beta blocker, Calcium-Channel blockers, Clonidine, Disulfiram, Esomeprazole, Hydra lazine, Minoxidil, Omeprazole ยารักษาอาการจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช ยาขับปัสสาวะ และกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ

ควรเก็บรักษาไทอะโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาไทอะโซลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไทอะโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไทอะโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Heminevrin capsule (เฮมิเนฟริน)Intrapharm
Rinavir (ลินาเวียร์) GPO
Norvir (นอเวียร์) AbbVie
Hykophos (ไฮโคฟอส)Leben Laboratories
RB 1 (อาร์บี 1)Regardia Pharmaceuticals
Therabine (เทอราบีน)Parex Pharmaceuticals
Thiamin Inj (ไทอะมิน อินเจ็คชั่น)Ordain Health

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Imidazole [2016,June4]
  2. http://ijpsdr.com/pdf/vol_three/2.pdf [2016,June4]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Clomethiazole [2016,June4]
  4. http://link.springer.com/article/10.1007%2FBF00173791 [2016,June4]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfathiazole [2016,June4]
  6. http://www.scienceinternational.com/fulltext/?doi=sciintl.2013.253.260 [2016,June4]