ไดอะเซอรีน (Diacerein)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไดอะเซอรีน(Diacerein) หรือ Diacetylrhein เป็นยาแก้อาการข้อ/เข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ตัวยาชนิดนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารประเภทโปรตีนที่มีชื่อเรียกว่า Interleukin-1 beta โปรตีนนี้มีอิทธิพลต่อกระบวนการเกิดอาการไข้ รวมถึงการอักเสบ และส่งผลให้เกิดความเจ็บ/ปวดนั่นเอง

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไดอะเซอรีนคือยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะเข้าสู่กระแสเลือด และร่างกายจะใช้เวลา 4–5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไดอะเซอรีนออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้จะออกฤทธิ์ปกป้องการทำลายกระดูกอ่อนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะข้อเข่าเสื่อม

สำหรับข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาไดอะเซอรีนกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไดอะเซอรีน สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยธรรมชาติของยาไดอะเซอรีน ตัวยาจะถูกทำลายโดยผ่านกระบวน การทางชีวเคมีที่ตับ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยานี้สามารถสร้างปัญหาต่อการทำงานของตับ/เกิดตับอักเสบได้ ทางคลินิกจึงไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับ นอกจากนี้ ตัวยาไดอะเซอรีนมีโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ของสารประกอบที่ชื่อว่า Antraquinone ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นให้มีอาการท้องเสียตามมา

อาจสรุปขั้นตอนการใช้ยาไดอะเซอรีนเพื่อให้เข้าใจง่ายๆได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อยืนยันและมีคำสั่งการใช้ยาไดอะเซอรีนจากแพทย์
  • ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วย ด้วยโรคตับ
  • เมื่อใช้ยานี้ไประยะหนึ่งแล้วพบอาการท้องเสีย หรือมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาไดอะเซอรีนร่วมกับยาชนิดอื่นๆ นอกจากจะได้รับ อนุญาตจากแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

ในประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาไดอะเซอรีนอยู่ในประเภทยาอันตราย และเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป

ไดอะเซอรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไดอะเซอรีน

ยาไดอะเซอรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการโรคข้อเสื่อมบริเวณ ข้อสะโพก ข้อเข่า ตลอดจน ข้อไขสันหลัง

ไดอะเซอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาไดอะเซอรีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการผลิตสารโปรตีนประเภทหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า Interleukin-1 beta ซึ่งเป็นโปรตีนที่ส่งผลต่อกระบวนการอักเสบตามข้อต่อต่างๆในร่างกาย ด้วยกลไกนี้ส่งผลลดการทำลายของกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ลดความสึกกร่อนของข้อต่อกระดูกต่างๆ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ

ไดอะเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดอะเซอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Diacerein ขนาด 50 มิลลิกรัม/แคปซูล

ไดอะเซอรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดอะเซอรีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง พร้อมอาหารเย็น เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นพร้อมอาหาร
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้อยู่ในช่วง 3–6 เดือน โดยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงดุลพินิจของแพทย์
  • ห้ามปรับเพิ่มขนาดรับประทานด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไดอะเซอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดอะเซอรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดอะเซอรีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ไดอะเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดอะเซอรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคันเกิดขึ้นได้เล็กน้อย
  • ผลต่อไต: เช่น ทำให้น้ำปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือมีสีออกชมพู

มีข้อควรระวังการใช้ไดอะเซอรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดอะเซอรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการท้องเสีย แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้นหรือทรุดหนักลง ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดอะเซอรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไดอะเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดอะเซอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาไดอะเซอรีนร่วมกับ ยาลดกรดประเภท Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide ด้วยจะรบกวนและลดการดูดซึมของยาไดอะเซอรีนจากระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยาไดอะเซอรีนร่วมกับ ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือยาปฏิชีวนะ เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาไดอะเซอรีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไดอะเซอรีน ในช่วงอุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไดอะเซอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดอะเซอรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Artrodar (อาร์โทรดาร์)TRB Chemedica
Diaceric (ไดเซริค)Millimed

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aceren, Altocerin, Arcerin, Art, Cartidin, Diacer, Ostogard, Zerine, Zondar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Diacerein[2017,Sept30]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/diacerein/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept30]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/diacerein/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept30]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0013261/[2017,Sept30]
  5. http://www.ema.europa.eu/ema/index.jsp?curl=pages/news_and_events/news/2014/03/news_detail_002049.jsp&mid=WC0b01ac058004d5c1[2017,Sept30]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB11994[2017,Sept30]