ไดคลอร์เฟนาไมด์ (Dichlorphenamide/Diclofenamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ (Dichlorphenamide/Diclofenamide) คือ ยาในกลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor, ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นำยานี้มารักษาโรคต้อหิน (Glaucoma) ด้วยกลไกลดการผลิตของเหลว/สารน้ำในลูกตาจนส่งผลให้ความดันลูกตาลดลง สำหรับ บางประเทศได้นำยานี้ไปใช้รักษาอาการป่วยของสัตว์ รูปแบบของยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ของ ยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน

อนึ่ง การจะใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไดคลอร์เฟนาไมด์

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma)
  • รักษาโรค/อาการความดันลูกตาสูง

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดคลอร์เฟนาไมด์คือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrogenase, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีระ หว่างคาร์บอนไดออกไซด์/carbon dioxide และน้ำ) ด้วยกลไกทางเคมีที่ติดตามมา จึงทำให้การ สร้างของเหลว/สารน้ำที่ไหลเวียนในลูกตาลดลงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/วัน

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็น โดยขนาดยาที่ใช้คงระดับการรักษารับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัมวันละ2 - 3ครั้ง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็กไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยยังขาดข้อมูลทางการแพทย์มาสนับสนุน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดคลอร์เฟนาไมด์อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดคลอร์เฟนาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
  • การรับรสของลิ้นเปลี่ยนไป
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • อ่อนแรง
  • อ่อนเพลีย
  • อาจมีภาวะตัวสั่น
  • ปวดหัว
  • สับสน
  • แพ้แสงแดดได้ง่าย
  • อาจทำให้อาการของผู้ป่วยโรคเกาต์ กำเริบได้ง่าย
  • ได้ยินเสียงก้องในหู
  • ตาพร่า

*****อนึ่ง: สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการ ง่วงนอน, เบื่ออาหาร, วิงเวียน, มึนงง, ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้- อาเจียน, ที่ค่อยๆมากขึ้น และหากมีอาการแพ้ยาสามารถพบอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ใบหน้า - ปาก – ลิ้นมีอาการบวม, อาจเจ็บคอและมีไข้ร่วมด้วย, หรืออาจพบอาการเลือดออกง่าย, มื้อเท้าสั่น, และมีผื่นคันตามตัว, หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้ใน ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ที่มีภาวะเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักรจากผลข้างเคียงของยานี้ที่ทำให้ง่วงนอนจึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • การใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ผิวหนังของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีการแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ระวังการเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการ เช่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ) เมื่อเกิดอาการ ให้หยุดใช้ยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดคลอร์เฟนาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Cyclosporine อาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยา Cyclosporine มากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Primidone (ยากันชัก) จะทำให้การออกฤทธิ์ของยา Primidone ด้อยประสิทธิภาพลง ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด Aspirin อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไดคลอร์เฟนาไมด์ด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Lithium จะทำให้ระดับยา Lithium ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาไดคลอร์เฟนาไมด์:

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไดคลอร์เฟนาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anterin (แอนเทอริน) Fu Seng, Taiwan
Daranide (ดาราไนด์) Taro, United States
Dicloberl retard (ดิโคลเบอร์ล รีทาร์ด) Menarini, Geogia
Fenamide (เฟนาไมด์) Famigea, Italy
Oratrol (ออราโทรล) Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Diclofenamide [2021,Feb20]
  2. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=17f2f05d-7375-4d7d-8083-174ed27e736f [2021,Feb20]
  3. https://www.rxwiki.com/daranide [2021,Feb20]
  4. https://www.drugs.com/mtm/dichlorphenamide.html [2021,Feb20]
  5. https://www.wikidoc.org/index.php/Diclofenamide [2021,Feb20]