ไข้หวัดหมูระบาดในตะวันออกกลาง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีคนไข้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ประเทศอิสราเอล ถึง 3 ราย และผู้ติดเชื้ออีกอย่างน้อย 4 ราย ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาจากไข้หวัดใหญ่นี้ ทำให้ผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็น 21 ราย และผู้ติดเชื้อทั่วปาเลสไตน์ไม่ต่ำกว่า 600 ราย

ไข้หวัดหวัดใหญ่ดังกล่าว คือ ไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือที่เรียกในบางพื้นที่ว่า “ไข้หวัดหมู” พบครั้งแรกที่ประเทศ เม็กซิโก มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A/H1N1 ประกอบด้วยการรวมกันของพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคน ในสัตว์ปีก (นก) ในสุกร

ตามปกติแล้วเชื้อไข้หวัดใหญ่ นี้จะติดจากคนที่สัมผัสหมูโดยตรงเท่านั้น แต่ไม่ติดต่อผ่านการบริโภคผลิตภัณฑ์จากหมู เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการไอ จาม รวมถึงการสัมผัสจากสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน คล้ายกับการแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น

จากอดีตถึงปัจจุบันเคยมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ถึง 3 ครั้ง ไม่นับรวมไข้หวัดใหญ่ซึ่งระบาดตามฤดูกาล อันได้แก่

  • ไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี พ.ศ. 2461 - 2462 เป็นไวรัสชนิดฺ A/H1N1 มีผู้เสียชีวิต 20-100 ล้านคน
  • ไข้หวัดใหญ่เอเชีย ในปี พ.ศ. 2499 - 2501 เป็นไวรัสชนิดฺ A/H2N2 มีผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน
  • ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2511 -2512 เป็นไวรัสชนิดฺ A/H3N2 มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน
ผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะมีอาการแสดงไม่แตกต่างจากโรคไข้หวัดทั่วๆ ไป อาจมีอาการไข้สูง ไอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ซึ่งมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กซึ่งมีอาการทางประสาท สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ

ปกติแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติ ก็คือ การบริโภคน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับยาต้านไวรัส คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งเป็นยาชนิดกิน หรือยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) เป็นยาชนิดพ่น หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มแสดงอาการของโรค จะเป็นประโยชน์มากที่สุด ยาทั้งสองแบบอาจมีผลข้างเคียง เช่นอาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน เบื่ออาหาร และหายใจลำบาก

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ อาจทำได้โดยการ

  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา
  • เมื่อต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที

แหล่งข้อมูล:

  1. “หวัดหมูมรณะ” ระบาดหนักในตะวันออกกลาง สังเวยแล้วอย่างน้อย 24 ศพ ติดเชื้อหลายร้อย - http://www.manager.co.th/around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000008644 [2013, January 27].
  2. Influenza A virus subtype H1N1 - http://en.wikipedia.org/wiki/Influenza_A_virus_subtype_H1N1 [2013, January 27].