ไข้พาราไทฟอยด์ ไข้รากสาดเทียม (Paratyphoid fever)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไข้พาราไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดเทียม (Paratyphoid fever) เป็นโรคติดเชื้อแบคที เรียจากทางเดินอาหาร ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะทุกระบบของร่างกาย (Systemic disease) ซึ่งเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไข้พาราไทฟอยด์ เป็นเชื้อชื่อ ซาลโมเนลลา เอนเทริกา(Salmonella enterica หรือ S. enterica) ซึ่งเชื้อ ซาลโมเนลลาฯนี้ มีหลายสายพันธุ์ย่อย โดยโรคที่เกิดจากเชื้อนี้ทั้งหมด เรียกว่า “โรคไข้เอนเทริก (Enteric fever)”

โรคไข้เอนเทริก ประกอบด้วย 2 โรคคือ

  • โรคไข้ไทฟอยด์ (โรคไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไทฟอยด์) ซึ่งเกิดจากเชื้อ ซาลโมเนลลา สายพันธุ์ Salmonell typhi (S. typhi)
  • และโรคไข้พาราไทฟอยด์ ที่เกิดจากเชื้อ ซาลโมเนลลา สายพันธุ์ Salmonella paratyphi (S. paratyphi) ที่แบ่งย่อยเป็น สายพันธุ์ย่อย A, B, และ C

เชื้อไข้พาราไทรอยด์ สามารถอยู่นอกร่างกายได้เป็นวัน ถึงสัปดาห์ เดือน หรือเป็นปี ขึ้น กับแหล่งที่มันอยู่ และชนิดของสายพันธุ์ย่อย เชื้อจะถูกฆ่าได้

  • ในอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง
  • ในน้ำต้มเดือดนานประมาณ 15-30 นาที
  • จากการอบด้วยอุณหภูมิ 10-70 องศาเซลเซียส (Celsius) นานประมาณ 1 ชั่วโมง
  • และจากน้ำยาฆ่าเชื้อหลายชนิด เช่น 1% Sodium hypochlorite, 70% แอลกอฮอล์, น้ำยาฆ่าเชื้อไอโอดีน, น้ำยาฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), และ 2% Glutaraldehyde

โรคไข้พาราไทฟอยด์ เกือบทั้งหมด พบเกิดในคน โดยพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สถิติการเกิดโรคไม่ชัด เจน เพราะการรายงานมักรวมอยู่ในรายงานของโรคไข้เอนเทริก ซึ่งมีรายงานพบไข้เอนเทริกทั่วโลกได้ประมาณ 22 ล้านคนต่อปี โดยมีอัตราเสียชีวิตประมาณ 2 แสนคนต่อปี ส่วนในโรคไข้พา ราไทฟอยด์ มีรายงานพบได้ประมาณ 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่พบโรคนี้เกิดในประเทศที่กำ ลังพัฒนา ในเอเชีย และแอฟริกา มักเกิดในชุมชนแออัดที่การสาธารณสุขยังไม่ดีพอ ขาดส้วม และขาดแหล่งน้ำสะอาด

ไข้พาราไทฟอยด์มีสาเหตุจากอะไร?

ไข้พาราไทฟอยด์

ไข้พาราไทฟอยด์ มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย S. paratyphi ดังได้กล่าวแล้วในบทนำ โดยเป็นการติดเชื้อทางเดินอาหาร จากการกินอาหาร และ/หรือ ดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อนี้ หรือปากสัมผัสกับมือที่มีเชื้อนี้อยู่ (จากอุจจาระ และ/หรือ ปัสสาวะของคนที่เป็นโรคนี้ หรือที่เป็นพาหะโรคนี้) ซึ่งเรียกการติดต่อลักษณะนี้ว่า “อุจจาระสู่ปาก (Fecal–oral route)”

เชื้อไข้พาราไทฟอยด์ มีคนเป็นรังโรค และเป็นพาหะโรค ซึ่งในผู้ป่วยโรคไข้พาราไท ฟอยด์จะสามารถแพร่เชื้อทางอุจจาระและปัสสาวะได้ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ กล่าวคือ ตั้งแต่ในระยะฟักตัวของโรค ไปจนถึงประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังอาการหายแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางราย ยังมีเชื้ออยู่ได้ ซึ่งจะเป็นพาหะโรคได้นานเป็นเดือน หรือเป็นปี และประมาณ 3-5% ของผู้ที่ติดเชื้อจะกลายเป็นพาหะโรคนี้ตลอดไป

เชื้อพาราไทฟอยด์ก่อโรคได้อย่างไร?

เชื้อพาราไทฟอยด์ ก่อโรคได้เช่นเดียวกับโรคไข้ไทฟอยด์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง ไทฟอยด์) กล่าวคือ เมื่อกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคพาราไทฟอยด์เข้าไปแล้ว เชื้อโรคจะเดินทางผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งโดยปกติแล้ว เชื้อแบคที เรียชนิดอื่นๆมักจะถูกทำลายด้วยภาวะที่เป็นกรดของกระเพาะอาหาร น้ำดี และน้ำย่อยอาหารชนิดต่างๆ แต่สำหรับเชื้อชนิดนี้จะทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้ดี และสามารถเดินทางต่อไป จนถึงลำไล้เล็กส่วนปลายในที่สุด จากนั้นเชื้อจะก่อการอักเสบต่อลำไส้เล็ก และผ่านเยื่อบุลำไส้เล็กเข้าไปในผนังลำไส้เล็ก แล้วเชื้อจะเข้าไปในเนื้อเยื่อผนังลำไส้เล็กชนิดมีเม็ดเลือดขาวอยู่ ที่เรียกว่า Payer’s patch โดยจะมีเม็ดเลือดขาวชื่อ Macrophage ในเนื้อเยื่อนี้มาเก็บกินเชื้อ เชื้อที่ถูกกินนี้จะมีระบบป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกทำลาย ซึ่งเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อเหล่านี้จะเดินทาง เข้าสู่หลอดน้ำเหลือง กระจายเข้าสู่ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ตับ ม้าม ไขกระดูก และต่อมน้ำ เหลืองทั่วตัว ซึ่งเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในอวัยวะเหล่านี้ และกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งเชื้อโรคนี้บางกลุ่มที่เข้าสู่ตับ จะเข้าสู่ถุงน้ำดีแล้วลงสู่น้ำดีต่อไป เมื่อน้ำดีถูกขับเข้าสู่ลำไส้เล็ก เชื้อเหล่านี้จะถูกขับออกมาด้วย เชื้อบางตัวจะกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เมื่ออยู่ที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ก่อการติดเชื้อในลำไส้และในร่างกายซ้ำ (Re-infection) และเชื้อบางส่วนจะถูกขับออกทางอุจจาระ และติดต่อสู่ผู้อื่นต่อไป

อนึ่ง ในช่วงที่เชื้ออยู่ในกระแสโลหิต จะมีเชื้อปนเปื้อนออกมาทางปัสสาวะ ที่ติดต่อสู่ผู้ อื่นจากการสัมผัสปัสสาวะที่มีเชื้ออยู่ได้ เช่นเดียวกับเชื้อจากอุจจาระ แต่ปริมาณเชื้อในปัสสาวะจะมีน้อยกว่าในอุจจาระมาก จึงเป็นช่องทางที่ติดต่อได้ยากกว่าทางอุจจาระ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้พาราไทฟอยด์?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้พาราไทฟอยด์ ได้แก่

  • อาศัยในชุมชนแออัด ขาดการสาธารณสุขที่ดี ขาดส้วม ขาดแหล่งน้ำสะอาด
  • โรงเรียนเด็กเล็กที่แออัด และจัดการสุขอนามัยไม่ดี
  • กินอาหารดิบ สุกๆดิบๆ ดื่มน้ำ/น้ำแข็งไม่สะอาด
  • ทำงานเกี่ยวกับการสัมผัสอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ทุกประเภท
  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ การสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคนี้
  • ผู้เดินทางท่องเที่ยวในถิ่นที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น หรือเมืองที่การสาธารณสุขยังไม่ดี

ไข้พาราไทฟอยด์มีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

อาการของโรคไข้พาราไทฟอยด์ เหมือนกับอาการจากโรคไข้ไทฟอยด์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไทฟอยด์) เพราะเกิดจากแบคทีเรียชนิดเดียวกัน แต่ต่างสายพันธุ์ โดยเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงน้อยกว่า ดังนั้นอาการของไข้พาราไทฟอยด์จึงรุนแรงน้อยกว่าอาการจากไข้ไทฟอยด์

ไข้พาราไทฟอยด์มีระยะฟักต้ว ประมาณ 1-30 วัน (90% ประมาณ 21วัน) ซึ่งในระยะฟักตัวนี้ ผู้ป่วยอาจมีท้องเสียได้ แต่ไม่รุนแรง รวมทั้งในระยะนี้ เชื้อก็สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย

หลังจากระยะฟักตัว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้เฉียบพลัน โดยไข้จะค่อยๆขึ้นสูงถึงสูงสุดประ มาณ 39-40 องศาเซลเซียส (Celsius) ในระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ท้องผูก ไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ อาจมีชีพจรเต้นช้า มีตับ ม้ามโต และอาจมีเยื่อตาอักเสบร่วมด้วยได้ นอกจากนั้น คือ อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยเนื้อตัว

ในสัปดาห์ที่ 2 ของอาการ ผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการท้องเสีย ท้องอืด และถ้ายังไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมองได้ เช่น สับสน และชัก

ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่ได้นานเป็นเดือน และอาจเสียชีวิตได้จากผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรค ซึ่งมักจะเกิดในประมาณสัปดาห์ที่ 3-4 ถ้าไม่ได้รับการรักษา เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ หรือ อาการจากทางสมอง

ทั้งนี้ เมื่อมีอาการไข้สูง และไข้ไม่ลงหลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น ภายใน 2-3 วันควรพบแพทย์เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการ อ่อนเพลีย กินได้น้อย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และ/หรือท้องเสียร่วมด้วย

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้พาราไทฟอยด์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้พาราไทฟอยด์ได้จาก ประวัติอาการ โดยเฉพาะจากลักษณะของไข้ ประวัติการสัมผัสโรค (เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย การเดินทาง การกินอาหาร) การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด อาจจากอุจจาระ และ/หรือจากปัสสาวะ และในผู้ป่วยบางรายอาจจากไขกระดูก และการตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานสำหรับโรคนี้

รักษาโรคไข้พาราไทฟอยด์อย่างไร?

การักษาโรคไข้พาราไทฟอยด์ คือ การรักษาสาเหตุ, การรักษาประคับประคองตามอาการและ การรักษาผลข้างเคียงจากโรค

  • การรักษาสาเหตุ คือการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง การรักษาจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้มีได้หลายชนิด เช่น Ciprofloxacin, Chloramphenicol, Trimethoprim, และ Azithromycin ซึ่งการให้ยาต่างๆ อาจให้อยู่นาน 5-14 วัน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ กรณีผู้ป่วยกินได้น้อย และ/หรือมีภาวะขาดน้ำ ให้ยาแก้ปวด/ยาลดไข้ เป็นต้น
  • การรักษาผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรค ขึ้นกับว่าเกิดผลข้างเคียงอะไร เช่น การผ่าตัดกรณีเกิดลำไส้ทะลุ เป็นต้น

โรคไข้พาราไทฟอยด์มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้พาราไทฟอยด์ เช่นเดียวกับจากไข้ไทฟอยด์ แต่โอกาสเกิดน้อยกว่า จากการที่โรครุนแรงน้อยกว่า ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ในรายที่โรครุนแรง คือ การอักเสบติดเชื้อไข้พาราไทฟอยด์ของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ลำไส้อักเสบเกิดแผลในลำไส้ (ซึ่งจะก่อให้เกิด เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ และ/หรือ เยื่อบุช่องท้องอัก เสบติดเชื้อ) ภาวะตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ และ/หรือไตอักเสบ และ/หรือไตวาย

โรคไข้ไทฟอยด์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคไข้พาราไทฟอยด์ คือ เป็นโรคที่รักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอัตราเสียชีวิตต่ำเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการ

ถ้าได้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง เช่น ได้ไม่ครบตามระยะเวลา อาจก่อภาวะเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

แต่ถ้าไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ หรือในรายที่โรครุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดผลข้างเคียงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ผลข้างเคียง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้โรคไข้พาราไทฟอยด์ มักรุนแรง ในผู้ป่วยเด็ก ในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และเมื่อได้รับเชื้อในปริมาณมาก

โรคไข้ไทฟอยด์ สามารถกลับเป็นซ้ำใหม่ได้เสมอ เมื่อได้รับเชื้อกลับเข้าร่างกายมาใหม่

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองภายหลังพบแพทย์แล้ว และทราบว่าเป็นโรคไข้พาราไทฟอยด์แล้ว ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ซึ่งในระยะฟื้นไข้ควรเป็นอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เกร็ดเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละประมาณ 6-8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันโรคเกิดเป็นซ้ำ และ/หรือแพร่ กระจายสู่ผู้อื่น
  • พบแพทย์ตามนัด
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ กลับมามีไข้ อาการต่างๆเลวลง มีอาการใหม่เกิดขึ้น และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไข้พาราไทฟอยด์ได้อย่างไร?

การป้องกันโรคไข้พาราไทฟอยด์ ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ใช้ส้วมในการขับถ่ายเสมอ
  • ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ย
  • กินอาหารปรุงสุขอย่างทั่วถึงเสมอ
  • รักษาความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆในการปรุงอาหาร และในการกินอาหาร เช่น เขียง มีด ช้อน แก้วน้ำ
  • รักษาความสะอาดเครื่องปรุงอาหารทุกชนิด
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด และระมัดระวังเรื่องน้ำแข็ง
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังขับถ่าย
  • เมื่อไม่สบาย เช่น มีไข้ และโดยเฉพาะเมื่อมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะท้องเสีย ต้องหยุดปรุงอาหารให้ตนเองและให้ผู้อื่น
  • ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคไข้พาราไทฟอยด์ มีแต่วัคซีนสำหรับโรคไข้ไทฟอยด์

บรรณานุกรม

  1. แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส. ไทฟอยด์ http://haamor.com/th/ไทฟอยด์ [2014,Jan23].
  2. Paratyphoid fever http://en.wikipedia.org/wiki/Paratyphoid_fever [2014,Jan23].
  3. Salmonella paratyphi http://www.phac-aspc.gc.ca/lab-bio/res/psds-ftss/msds133e-eng.php [2014,Jan23].
  4. Typhoid and paratyphoid fever http://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2014/chapter-3-infectious-diseases-related-to-travel/typhoid-and-paratyphoid-fever [2014,Jan23].
  5. Water-related diseases http://www.who.int/water_sanitation_health/diseases/typhoid/en/ [2014,Jan23].