ใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ ความเชื่อที่หลงผิด (ตอนที่ 1)

นพ. พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนคนไทย อย่าใช้ยาแก้ปวดโดยเฉพาะ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ เพราะไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรคตามที่เข้าใจกันผิดๆ โดยที่ยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ยาที่แตกต่างกัน

กรณีใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่บรรเทาอาการแล้ว ซ้ำร้ายอาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง (Side Effect) ของการใช้ยา นพ. พงศ์พันธ์ ได้แนะนำให้ปฏิบัติตามฉลากยา หากไม่เข้าใจให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน โดยทั่วไปมีการแบ่งยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่ม

ยากลุ่มแรกคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดขั้นรุนแรง ถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (Morphine) ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดนิ่วในไต ปวดกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือด ปวดจากบาดแผลขนาดใหญ่ เช่น หลังการผ่าตัด การคลอดลูก และโรคมะเร็ง จึงมักใช้กับคนไข้ในสถานพยาบาล ที่มีแพทย์คอยกำกับวิธีใช้

ยากลุ่มที่สองคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) แอสไพริน (Aspirin) และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ เอนเสดส์ (Non-steroidal anti-inflammatory drug : NSAID) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย [ในเชิงลบ]

พาราเซตามอล (Paracetamol) จัดเป็นยาแก้ปวดกลุ่มที่สอง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาที่ใช้บรรเทาความเจ็บปวด (Analgesic) และเป็นยาลดไข้ (Antipyretic) ส่วนใหญ่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะและอาการปวดอื่นๆ เป็นยาที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักของยาแก้หวัด

เมื่อใช้ร่วมกับสารสังเคราะห์บรรเทาปวด (Opioid analgesics) พาราเซตามอลก็สามารถใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรง เช่น ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดและความเจ็บปวดของคนเป็นโรคมะเร็งในขั้นท้ายๆ หลังการรับประทานพาราเซตามอลได้ประมาณ 11 นาที ยาจะเริ่มทำงานและจะมีผลไปอีก 1–4 ชั่วโมง

พาราเซตามอลใช้เป็นยาลดไข้ในคนทุกวัย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) แนะนำให้ใช้พาราเซตามอลได้ในเด็กเฉพาะที่มีไข้มากกว่า 38.5 °C จากการทบทวนหลักฐานตามข้อมูลทางสถิติที่รวบรวมขึ้นพบว่า การใช้พาราเซตามอลในเด็กอาจมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)

พาราเซตามอลใช้บรรเทาอาการปวดได้ทุกส่วนในร่างกาย มีคุณสมบัติบรรเทาความเจ็บปวดเหมือนกับยาแอสไพริน (Aspirin) แต่ลดการอักเสบ (ที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ) ได้น้อยกว่า ในผู้ป่วยที่มีกรดในกระเพาะมาก พาราเซตามอลจะใช้ได้ดีกว่าแอสไพริน เนื่องจากเป็นยาที่หาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ พาราเซตามอลจึงได้กลายเป็น ยาสามัญประจำบ้าน

พาราเซตามอลสามารถใช้ลดอาการเจ็บปวดของโรคปวดข้ออย่างอ่อนๆ แต่ไม่มีผลต่อการอักเสบ แดง และบวมของข้อ ถือเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อย่างไรก็ดี พาราเซตามอลสามารถใช้ลดอาการอักเสบได้เล็กน้อย ไม่เหมือนยาแก้ปวด NSAID อย่างแอสไพรินและยาไอบูโปรเฟน

จากการทดลองใช้ในเด็กที่มีอาการปวดอย่างเฉียบพลันเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal) พบว่าการใช้ยาไอบูโปรเฟนสามารถลดอาการเจ็บปวดได้ดีกว่าการใช้ยาพาราเซตามอล ส่วนการทดลองใช้ในผู้ใหญ่ที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังจากกระดูกและข้ออักเสบ (Osteoarthritis) พบว่า พาราเซตามอลให้ผลเหมือนกับไอบูโปรเฟน

แหล่งข้อมูล:

  1. อย.เตือนอย่าใช้ “พาราเซตามอล” พร่ำเพรื่อ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000064300 [2012, June 11].
  2. Paracetamol. http://en.wikipedia.org/wiki/Paracetamol [2012, June 11].