โหม่งลูกบอล เดือดร้อนสมอง

ทีมนักวิจัยนำเสนอผลงาน ณ ที่ประชุมวิชาการประจำปีของสโมรสรแพทย์รังสีแห่งอเมริกาเหนือ (Radiological Society of North America) เมื่อเร็วๆ โดยรายงานว่า การโหม่งลูกบอล แม้เพียงวันละ 2 – 3 ครั้ง ก็อาจเชื่อมโยงถึงการบาดเจ็บสาหัสที่สมองได้

ในการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ผู้เล่นฟุตบอลสมัครเล่น จำนวน 32 คน โหม่งลูกบอลมากว่าปีละ 1,500 ครั้ง ซึ่งเท่ากับวันละ 2 – 3 ครั้งนั้น มีความผิดปรกติในบริเวณสมองส่วนมีหน้าที่จดจำ ตั้งสมาธิ วางแผน จัดระเบียบ และการ มองเห็น แต่ผู้เล่นที่โหม่งลูกบอลน้อยกว่า ไม่ได้แสดงความผิดปรกติดังกล่าว เมื่อผ่านสะแกนภาพสมอง (Brain scan)

การศึกษาก่อนหน้านี้ ในผู้เล่นเดียวกันทั้ง 32 คน แสดงว่า ผู้ที่โหม่งลูกบอลมากกว่าปีละ 1,000 ครั้ง ทำคะแนนต่ำในการทดสอบเรื่องความจำและในปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) นายแพทย์ Michael Lipton รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการตรวจภาพอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Research Center) ณ โรงเรียนแพทย์ Albert Einstein ในนครนิวยอร์ค กล่าวถึงการศึกษาครั้งใหม่นี้ว่า “อาจมีช่วงจำนวนครั้งที่สามารถใช้ศีรษะโหม่งลูกบอลได้ โดยไม่มีผลสืบเนื่องที่รุนแรงต่อสมอง”

เขากล่าวต่อไปว่า “ในอดีต ได้มีการศึกษาในผู้เล่นฟุตบอล เป็นระยะเวลายาวนาน แต่เรายังไม่มีหลักฐานที่จะระบุถึงจำนวนครั้งของการโหม่งลูกบอลที่อาจเป็นอันตราย ดังนั้น จึงขอแนะนำให้พยายามโหม่ลูกบอลน้อยที่สุด โดยเฉพาะระหว่างฝึกซ้อม ซึ่งผู้เล่นมักโหม่งลูกบอลไปมาอย่างน้อย 30 ครั้งต่อการฝึกซ้อม”

สมาคมสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) รายงานว่า ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมที่สุดในโลก [รวมทั้งประเทศไทยด้วย] ผู้คนกว่า 250 ล้านคนทั่วโลกเล่นฟุตบอลเป็นประจำ ในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อย 18.2 ล้านคน เล่นฟุตบอล โดยที่ 78% มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

แนวทางแนะนำ (Guideline) ของสมาคมอเมริกันกุมารเวชศาสตร์ (American Academy of Pediatrics: AAP) กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุน ข้อแนะนำที่ว่า ผู้เล่นฟุตบอลวัยฉกรรจ์ ควรจะละเว้นจากการโหม่งลูกบอลอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ขอแนะนำว่า ให้มีการโหม่งลูกบอลน้อยที่สุด

นายแพทย์ Lipton กล่าวว่า “การที่ศีรษะกระทบลูกบอลอย่างแรง อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการกระแทกกระเทือน (Concussion) อันได้แก่ วิงเวียนศีรษะ สับสน งงงวย และปวดศีรษะ ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลทันที แม้ว่าอายุเฉลี่ยของผู้เล่นภายใต้การศึกษานี้ จะอยู่ที่ 31 ปีแต่ทุกคนก็เล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งล่อแหลมต่อการบาดเจ็บที่สมอง”

นายแพทย์ Max Wintermark รองศาสตราจารย์รังสีวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย Virginia ณ เมือง Charlottesville กล่าวว่า ความจริงเกี่ยวกับผู้เล่นฟุตบอลที่ได้รับบาดเจ็บที่สมอง แล้วทำคะแนนได้ต่ำในการทดสอบความจำ ก็เพิ่มน้ำหนัก [ความน่าเชื่อถือ] ในเรื่องที่ค้นพบ [จากการวิจัย] อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า “ด้วยจำนวน [ตัวอย่างนักฟุตบอลที่ศึกษา] ที่น้อย บางครั้งเรื่องที่ค้นพบอาจเกิดจากความบังเอิญก็ได้”

แม้ได้มีการนำเสนอผลการค้นพบเหล่านี้ ในการประชุมทางการแพทย์ดังกล่าวข้างต้น แต่ควรตระหนักว่า การวิจัยนี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะยังไม่ได้ผ่านกระบวนการ ตรวจสอบโดยเพื่อนร่วมวิชาชีพ (Peer review) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญภายนอกจะต้องพินิจพิเคราะห์ข้อมูลให้ละเอียดลออก่อนจะได้ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Heading Soccer Ball Linked to Brain Injury. http://www.webmd.com/fitness-exercise/news/20111129/heading-soccer-ball-linked-to-brain-injury [2011, November 20].