โวริโคนาโซล (Voriconazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) คือ ยาต้านเชื้อราในกลุ่มยาไตรเอโซล(ยากลุ่มหนึ่งในยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล /Azole) วงการแพทย์นำยานี้มารักษาอาการโรคเชื้อราในระยะลุกลามซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็น ยาฉีด และยารับประทาน

จากสูตรโครงสร้างทางเคมี ทำให้ยาโวริโคนาโซลถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ถึงประมาณ 96% และเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 58% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างและทำลายยาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะขับยาทิ้งโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุโวริโคนาโซลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์ของการใช้ยาเพื่อรักษาอาการติดเชื้อราชนิดแอสเปอจิรัส (Aspergillus/โรคแอสเปอร์จิลโลซิส) ในระยะลุกลาม (Invasive aspergillosis)

ยาโวริโคนาโซลจัดอยู่ในหมวดของยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาจึงต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่า นั้น และห้ามผู้ป่วยปรับเพิ่มหรือลดขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

โวริโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โวริโคนาโซล

ยาโวริโคนาโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคเชื้อรา Invasive aspergillosis (โรคแอสเปอร์จิลโลซิส)
  • รักษาโรคเชื้อรา ชนิด แคนดิดา (Candidiasis/ แคนดิไดอะซิส) เช่น เชื้อราช่องปาก
  • รักษาอาการ Scedosporiosis (โรคเชื้อราชนิด Scedosporium) และ Fusariosis (โรคเชื้อรา ชนิด Fusarium)

โวริโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโวริโคนาโซลจะออกฤทธิ์อย่างกว้างขวางในการต่อต้านเชื้อราชนิดต่างๆที่ทำให้เกิดโรค เช่น เชื้อรา Candida, Aspergillus, Scedosporium และ Fusarium โดยตัวยาจะเข้ายับยั้ง การสังเคราะห์สาร Ergosterol ซึ่งเป็นสาระสำคัญของผนังเซลล์ (เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ในตัวเชื้อราจึงทำให้เซลล์เกิดการรั่วซึมจนส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

โวริโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโวริโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย :

  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัม/ขวด

โวริโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโวริโคนาโซลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานวันแรก 400 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง วันถัดไปรับประทาน 200 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง หากจำเป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กิโลกรัมลงมา: รับประทานวันแรก 200 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่ว โมง วันถัดไปรับประทาน 100 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง หากจำเป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็น 150 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุต่ำกว่า 12 ปีลงไปจนถึง 2 ปี: รับประทาน 200 มิลลิกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในด้านขนาดยา ผล และผลข้างเคียงจากยาในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ:

  • ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ควรรับประทานยาโวริโคนาโซลในช่วงท้องว่าง, สามารถรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง, การรับประทานยานี้ควรรับประทานตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโวริโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโวริโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโวริโคนาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า แต่การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง นอกจากจะทำให้อาการโรคไม่ดีขึ้นแล้ว ในบางกรณียังอาจส่งผลให้เกิดการลุก ลามของโรคมากยิ่งขึ้น

โวริโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโวริโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ตาพร่า
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดหัว
  • ปวดท้อง
  • ปวดหลัง
  • เจ็บหน้าอก
  • ใบหน้า มือ - เท้าบวม
  • กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • มีภาวะดีซ่าน
  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ลำไส้อักเสบ
  • ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • วิงเวียน
  • ประสาทหลอน
  • สับสน
  • ซึมเศร้า
  • วิตกกังวล
  • ภาวะสั่น
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ไซนัสอักเสบ
  • ผื่นคัน
  • ผิวแพ้แสงแดด
  • ผิวหนังอักเสบ
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ค่า ครีอะตินีน (Creatinine/ค่าการทำงานของไต) ในเลือดเพิ่มสูง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้โวริโคนาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโวริโคนาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระหว่างการใช้ยานี้ให้เฝ้าระวังเรื่องการทำงานของตับ - ไต
  • หากใช้ยานี้มากกว่า 28 วันขึ้นไปควรต้องเฝ้าระวังเรื่องการมองเห็นภาพของผู้ป่วย
  • ควบคุมและเฝ้าระวังการทำงานของตับอ่อน เมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน เช่น ผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัส
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดหรือตากแดดโดยตรง ด้วยอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้แสงของผิวหนัง/ผื่นแพ้แสงได้
  • ต้องควบคุมระดับสารเกลือแร่ในเลือดให้เป็นปกติก่อนการใช้ยานี้
  • ระวังเรื่องการขับรถหรือการควบคุมเครื่องจักรด้วยยานี้สามารถส่งผลและรบกวนการมองเห็นภาพ/ตาพร่าได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโวริโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โวริโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโวริโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโวริโคนาโซล ร่วมกับ ยากลุ่มสแตติน (Statin) สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis, กล้ามเนื้อลายอักเสบรุนแรง) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยาโวริโคนาโซล ร่วมกับ ยา Methadone สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับพิษของโวริโคนาโซลมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโวริโคนาโซล ร่วมกับ ยาต้านไวรัส เช่นยา Efavirenz จะทำให้ระดับความเข้มข้นของโวริโคนาโซลในกระแสเลือดลดลง และส่งผลให้ความเข้มข้นของ Efavirenz ในกระแสเลือดสูงขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโวริโคนาโซล ร่วมกับ ยา Fentanyl จะทำให้ความเข้มข้นของยา Fentanyl ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโวริโคนาโซล ร่วมกับยา Clopidogrel ด้วยโวริโคนาโซลจะทำให้ฤทธิ์การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวของ Clopidogrel ลดต่ำลง

ควรเก็บรักษาโวริโคนาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาโวริโคนาโซล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โวริโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโวริโคนาโซล มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
VFEND (วีเฟนด์) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antifungal#Adverse_effects [2021, April 3].
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/voriconazole?mtype=generic [2021, April 3].
  3. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a605022.html#how [2021, April 3].
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/abstral-with-voriconazole-1074-15009-2309-0.html [2021, April 3].
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/clopidogrel-with-voriconazole-705-0-2309-0.html [2021, April 3].
  6. https://www.medicinenet.com/voriconazole-oral/article.htm [2021, April 3].
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021266s032lbl.pdf [2021, April 3].