โลวาสแตติน (Lovastatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโลวาสแตติน (Lovastatin) เป็นยาในกลุ่ม ยาสแตติน (Statin: กลุ่มยาลดไขมันในเลือดโดยออกฤทธิ์ ต้านการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล) มักถูกใช้หลังจากผู้ป่วยใช้การควบคุมอาหารโดยเฉพาะพวก ไขมัน แป้ง น้ำตาล รวมถึงการออกกำลังกาย แล้วไม่สามารถลดไขมันในเลือดได้ จึงมีความจำ เป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษา

ยาโลวาสแตติน ใช้ลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย เราสามารถได้รับโลวาสแตตินจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติโดยการบริโภค เช่น เห็ดนางรมหรือเห็ดนางฟ้า (Oyster mushroom) และข้าวยีสต์แดง (Red yeast rice) ที่ทางวงการเภสัชกรรมนำมาพัฒนาเป็นยาเพื่อรักษาโรคไขมันในหลอดเลือดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513)

สำหรับประเทศไทย ยาโลวาสแตตินยังไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจากการ ศึกษาการกระจายตัวของยาโลวาสแตตินเมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า ตัวยาจะจับโปรตีนในกระแสเลือดมากกว่า 95% จากนั้นจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 2 - 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ และส่วนน้อยผ่านไปทางปัสสาวะ

ยาโลวาสแตติน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาโลวาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โลวาสแตติน

ยาโลวาสแตตินมีสรรพคุณ /ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด
  • ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่มีสาเหตุจากไขมันในเลือดสูง

ยาโลวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโลวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะไปรบกวนกระบวนการทำงานของเอน ไซม์ HMG-CoA reductase (เอนไซม์ช่วยการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล) และก่อให้เกิดผลในการชะลอการสังเคราะห์ไขมันกลุ่มคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ยาโลวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโลวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาโลวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโลวาสแตตินมีขนาดรับประทานดังนี้ เช่น

ก. ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทาน เริ่มต้นที่ 20 มิลลิกรัม หลังอาหารเย็น หรืออาจใช้ขนาดรับประทาน 10 - 80 มิลลิกรัม/วัน โดยรับประทานเพียงครั้งเดียวหรือแบ่งรับประทาน วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า - เย็น

  • ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
  • ควรรับประทานยาโลวาสแตตินพร้อมอาหาร
  • การปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานขึ้นอยู่กับระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ซึ่งแพทย์เท่านั้นที่สามารถพิจารณาขนาดรับประทานได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

ข. เด็ก: มักไม่มีการใช้ยานี้ในเด็กเล็ก แต่ในเด็กโต ข้อบ่งชี้การใช้ยาและขนาดรับประ ทานอยู่ดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโลวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโลวาสแตติน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโลวาสแตตินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโลวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโลวาสแตติน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น

  • สามารถเพิ่มเอนไซม์ Creatine phosphokinase (เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และ/หรือโรคกล้ามเนื้อ)โดยที่ไม่ได้มีการเกิดโรคนั้นๆขึ้นในร่างกาย
  • อาจทำให้ ท้องอืด
  • คลื่นไส้
  • อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก หรือท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • ตาพร่า
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียน
  • มีผื่นคัน

อนึ่ง ผลข้างเคียง (อาการข้างเคียง) ที่พบได้น้อยแต่มีอันตรายสูงจากยานี้ เช่น

  • อาจการเกิดภาวะบาดเจ็บรุนแรงต่อกล้ามเนื้อลายที่เรียกว่า กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis: ปวด เจ็บกล้ามเนื้อมาก กล้ามเนื้อแข็ง อ่อนเพลีย อุจจาระสีเหมือนน้ำปลาจากสาร Myoglobin ที่สลายจากกล้ามเนื้อเข้าสู่กระแสเลือด และร่างกายกำจัดออกทางไต)
  • และอาจเกิดไตวายเฉียบพลัน ตายได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาโลวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโลวาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ หรือผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ รวมถึงผู้ป่วยที่มีประวัตเคยเป็นโรคตับ ผู้ที่ป่วยด้วยพิษสุราเรื้อรัง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ที่การ รักษาควบคุมโรคยังไม่ดีพอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายบาดเจ็บรุนแรง/ กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyosis) เช่น ใน ผู้สูงอายุ เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโลวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโลวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโลวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. การใช้ยาโลวาสแตตินร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถทำให้ระดับของโลวาสแตตินในกระแสเลือดสูงขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงตามมา เช่น ตับทำงานหนัก หรือปวดกล้ามเนื้อจนไปถึงขั้นกล้ามเนื้อลายบาดเจ็บรุนแรง/กล้ามเนื้อลายสลาย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือขอความคิดเห็นจากแพทย์ก่อนการใช้ร่วมกัน

  • ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Clarithromycin
    • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่นยา Cyclosporin
    • ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง เช่นยา Verapamil
    • ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Nelfinavir, Ritonavir
    • และ/หรือ เครื่องดื่มกลุ่มน้ำผลไม้ (เช่น Grapefuit juice)

ข. การใช้ยาโลวาสแตตินร่วมกับยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole อาจพบอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีไข้คล้ายเป็นโรคหวัด, หรือพบว่าปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ, ทั้งนี้ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลหากพบอาการดังกล่าว

ควรเก็บรักษายาโลวาสแตตินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโลวาสแตติน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาโลวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโลวาสแตติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Apo-Lovastatin (อะโพ-โลวาสแตติน)Apotex
Ellanco (เอลแลนโค)CCM Duopharma Bio Tech
Lestric (เลสทริค)Ranbaxy
Lovarem (โลวาเรม)Remedica
Lovastin (โลวาสติน)YSP Industries

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Lovastatin [2019,Dec14]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lovastatin/?type=brief&mtype=generic [2019,Dec14]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/lovastatin?mtype=generic [2019,Dec14]
  4. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/53232#x321 [2019,Dec14]