โลมีฟล็อคซาซิน (Lomefloxacin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โลมีฟล็อกซาซิน (Lomefloxacin หรือ Lomefloxacin hydrochloride) คือ ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone), ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยานี้ได้กว้างขวางทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ  

เช่น หลอดลมอักเสบ, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะก่อนผ่าตัด, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน

อนึ่ง: ชื่ออื่นของยานี้ เช่น  Lomefloxacin HCl

กลุ่มแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ เช่น S.pneumoniae (Streptococcus pneumoniae),  H.influenzae(Haemophilus influenzae), S.aureus(Staphylococcus aureus),  P.aeruginosa(Pseudomonas aeruginosa),  E.cloacae(Enterobacter cloacae),  P.mirabilis(Proteus mirabilis), C.diversus(Citrobacter diversus),  S.saprophyticus(Staphylococcus saprophyticus),   E.coli(Escherichia coli), และ  K.pneumoniae (Klebsiella pneumoniae)

หลังรับประทาน ตัวยาโลมีฟล็อกซาซินสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 95 – 98%, เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ10%,   ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไปในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ 

อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่โดดเด่นของยาโลมีฟล็อกซาซิน เช่น  กระสับกระส่าย  อาจพบอาการวิตกกังวล   ภาวะผิวแพ้แสงแดด    

ทั้งนี้ มีข้อมูลบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน เช่น  

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้มาก่อน
  • ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ในช่วงที่ได้รับวัคซีนชนิดที่มีชีวิต เช่น วัคซีนป้องกันไทฟอยด์,  ด้วยการใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวด้อยลงไป
  • หากเป็นสตรี ต้องไม่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมารดา
  • ไม่ควรมีโรคประจำตัว เช่น  โรคสมอง  โรคหัวใจ  โรคลำไส้อักเสบ   อยู่ในภาวะขาดน้ำ  เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน  และโรคไต, ดัวยตัวยาโลมีฟล็อกซาซิน สามารถทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบมากขึ้นได้
  • ยานี้จะทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ, หากได้รับยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • *ควรทราบถึงอาการแพ้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก  หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  ปาก-ลิ้น-คอมีอาการบวม  เกิดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย,  รวมถึงอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ที่สังเกตจาก มีอาการ งุนงง/มึนงง  สับสน  วิงเวียน  ง่วงนอน  รู้สึกเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น ใบหน้าบวม  อาการชาตามตัว แขน ขา   คลื่นไส้   พูดไม่ชัด,  เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด, และ*เมื่อเกิดอาการต่างๆดังกล่าวหลังการบริโภคยานี้  ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยานี้ ต้องใช้ต่อเนื่องจนครบคอร์ส (Course) ของการรักษาตามที่แพทย์สั่ง
  • *กรณีที่ได้รับยานี้แล้วในเวลาอันเหมาะสม แต่อาการป่วยยังไม่ทุเลา หรือมีอาการทรุดลงมากกว่าเดิม *ให้รีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีการรับประทานยาอื่นอยู่ก่อน ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพื่อ หลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกัน

จากข้อมูลที่กล่าวมา ทำให้เราเห็นภาพโดยรวมของการใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

โลมีฟล็อกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โลมีฟล็อคซาซิน

 

ยาโลมีฟล็อกซาซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษา: รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆที่ตอบสนองต่อยานี้  เช่น

  • หลอดลมอักเสบ
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • ไข้ไทฟอยด์
  • โรคอาหารเป็นพิษที่มีสาเหตุจากเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella gastroenteritis)
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ

โลมีฟล็อกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาโลมีฟล็อกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า’ดีเอ็นเอไจเรส/DNA gyrase’ ซึ่งเป็นเอนไซม์จำเป็นในการสร้างสารพันธุกรรมของแบคทีเรีย, ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

โลมีฟล็อกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโลมีฟล็อกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 400 มิลลิกรัม/เม็ด

โลมีฟล็อกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโลมีฟล็อกซาซิน มีขนาดรับประทานแตกต่างกันตามชนิดของโรค, ความรุนแรงของอาการ, รวมไปถึงดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น        

ก. รักษาอาการหลอดลมอักเสบ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, เป็นเวลา 3 วัน

ข. รักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น
    • กรณีติดเชื้อ coli: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, เป็นเวลา 3 วัน  
    • กรณีติดเชื้อ pneumoniae, P. mirabilis,  หรือ S. saprophyticus ในสตรี:รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ1ครั้ง, เป็นเวลา 10 วัน

ค. รักษาโรคไข้ไทฟอยด์: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ 1 ครั้ง, เป็นเวลา 7 – 14 วัน

ง. รักษาโรคอาหารเป็นพิษที่มีสาเหตุจากเชื้อซัลโมเนลลา : เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ 1 ครั้ง, เป็นเวลา 3 วัน

จ. รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ : เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม, วันละ 1 ครั้ง, เป็นเวลา 14 วัน

*อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจพิจารณาปรับลดขนาดรับประทานลง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโลมีฟล็อกซาซิน  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์  พยาบาล และเภสัชกร เช่น               

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโลมีฟล็อกซาซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโลมีฟล็อกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโลมีฟล็อกซาซิน ตรงเวลา

โลมีฟล็อกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโลมีฟล็อกซาซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้  ท้องเสียหรือท้องผูก  ปวดท้อง  ท้องอืด  อาเจียน  มีเลือดออกในทางเดินอาหาร  ลิ้นมีสีซีด  กระเพาะอาหารอักเสบ  ลำไส้อักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว วิงเวียน มีภาวะ ตัว มือ สั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน  อุณหภูมิร่างกายสูง มีภาวะลมชัก เหงื่อมาก ปากคอแห้ง ใบหน้าแดง อาการวูบ/หมดสติ อาจเกิดภาวะโคม่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวแพ้แสงแดดง่าย  ผื่นคัน  ลมพิษ  ผิวหนังเกิดลักษณะตุ่มน้ำหรืออักเสบ  เกิดสิว  ผิวหนังเกิดแผลเปื่อย  ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผิวหนังซีด  บางรายอาจเกิดภาวะผิวหนังคล้ำ
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริว
  • ต่ออวัยวะตับ: เช่น  ระดับบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูง เอนไซม์การทำงานของตับชนิดแอลคาไลน์ฟอสฟาเตส (Alkaline phosphatase)ในเลือดสูง  เกิดภาวะเซลล์ตับตาย
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น  มีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า  ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ  ภาวะหัวใจล้มเหลว  กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด  หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
  • ผลต่ออวัยวะไต: เช่น มีภาวะปัสสาวะมาก ไตวาย ปัสสาวะขัด นิ่วในไต
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คัดจมูก คออักเสบ ไอ  หลอดลมหดเกร็ง/หายใจลำบาก  เสมหะมาก กดการหายใจ (หายใจเบา ตื้น) จนถึงขั้นหยุดหายใจได้ 
  • ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด ช่องคลอดติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดา/แคนดิไดอะซิส (Candidiasis) 
  • ผลต่อภาวะจิตใจ: เช่น  นอนไม่หลับ  กระสับกระส่าย ซึมเศร้า รู้สึกสับสน อยากอาหารเพิ่มขึ้น วิตกกังวล
  • ผลต่อสายตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติ ตาไม่สู้แสง ปวดตา หนังตากระตุก
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย:  เช่น  เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือไม่ก็ต่ำ  มีภาวะโรคเกาต์คุกคาม  สารโปรตีนชนิดแอลบูมินในเลือดเพิ่มขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้โลมีฟล็อกซาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน: เช่น               

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโลมีฟล็อกซาซิน
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง หรือหยุดการใช้ยานี้โดยที่รับประทานยายังไม่ครบคอร์สตามแพทย์สั่ง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ อะลูมิเนียม แมกนีเซียม   แคลเซียม หรือยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสี  และยา Sucralfate ด้วยตัวยาดังกล่าว ส่งผลต่อการดูดซึมยาโลมีฟล็อกซาซินทั้งสิ้น
  • ห้ามนำยานี้ไปรักษาโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด เป็นต้น เพราะยานี้ฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้
  • หากพบอาการอุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง  ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • การใช้ยานี้เป็นเวลาบ่อยๆ นานๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดที่ไม่ตอบสนองกับยานี้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยา แล้วพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาโลมีฟล็อกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร    และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง  ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โลมีฟล็อกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโลมีฟล็อกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจเกิดความเสี่ยงทำให้เอ็นอักเสบ/เอ็นบาดเจ็บ หรืออาจถึงขั้นเส้นเอ็นปริแตก หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน ร่วมกับยา Tramadol ด้วยอาจทำให้มีภาวะลมชักเกิดขึ้นได้
  • การใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน ร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไ
  • การใช้ยาโลมีฟล็อกซาซิน ร่วมกับยา Haloperidol อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยในระดับรุนแรงตามมา  หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโลมีฟล็อกซาซินอย่างไร?

ควรเก็บยาโลมีฟล็อกซาซิน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โลมีฟล็อกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโลมีฟล็อกซาซิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Floxaday (ฟล็อกซาเดย์) Ranbaxy
Floxaquin- LA (ฟล็อกซาควิน-แอลเอ) Themis Chemicals Ltd
Foxil (ฟอกซิล) Sarabhai Chemicals
Gynalom (กายนาลอม) Wockhardt Ltd.
Lomaday (โลมาเดย์) Dr Reddy Laboratories Ltd
Lomedon (โลมีดอน) Cadila HealthcareTablet
Lomef -400 (โลมฟ์-400) Torrent Labs
Lomeflox -400 (โลมฟล็อกซ์-400) IPCA Laboratories
Lomegen (โลมเจน) Genix Pharma LtdTablet
Lomewon (โลมีวัน) Max Life Sciences
Lomexel (โลเมเซล) Medley Pharmaceuticals
Lomflox (ลอมฟล็อกซ์) IPCA Laboratories
Lomibact (โลมิแบ็คท์) Sun Biotic Labs

 

อนึ่ง: ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ยาชื่อการค้าอื่นของยาฟล็อกซาซิน เช่น Maxaquin, Okacyn, Uniquin

บรรณานุกรม

  1. https://www.encyclopedia.com/medicine/drugs/pharmacology/fluoroquinolones  [2022,Nov5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lomefloxacin  [2022,Nov5]
  3. https://go.drugbank.com/drugs/DB00978  [2022,Nov5]
  4. https://www.drugs.com/cdi/lomefloxacin.html  [2022,Nov5]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/lomefloxacin-index.html?filter=3&generic_only=[2022,Nov5]
  6. https://www.medindia.net/drug-price/lomefloxacin.htm  [2022,Nov5]