โรคไบโพลาร์ อารมณ์สองขั้ว (ตอนที่ 4)

อาการแทรกซ้อนของไบโพลาร์ที่พบได้แก่ การทำร้ายตัวเองเพื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ โดยมีผู้ป่วยร้อยละ 10-15 ที่พยายามฆ่าตัวตาย

อาการไบโพลาร์อาจแย่ลงหากไม่รับการรักษา ซึ่งอาจมีอาการบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น การวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้คนที่เป็นไบโพลาร์มีชีวิตที่ดีขึ้น

การเสพสารเสพติดเป็นสิ่งที่คนเป็นไบโพลาร์นิยมกันเพราะคิดว่าจะสามารถรักษาอาการได้ด้วยแอลกอฮอล์หรือยา อาการกระวนกระวายใจ อย่างโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-traumatic stress disorder = PTSD) โรคหวาดระแวงสังคม (Social phobia) และโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder = ADHD) ก็มักเกิดขึ้นได้ในคนที่เป็นไบโพลาร์

นอกจากนี้คนที่เป็นไบโพลาร์ยังมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคธัยรอยด์ โรคไมเกรน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคทางกายภาพอื่นๆ ซึ่งโรคเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งหรือซึมเศร้า หรืออาจเป็นผลมาจากการรักษาโรคไบโพลาร์

โรคไบโพลาร์ไม่สามารถรักษาให้หายได้เด็ดขาด การรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้คนที่เป็นไบโพลาร์สามารถควบคุมอารมณ์ที่แปรปรวนไปมาและอาการที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นจึงต้องรักษากันนานต่อเนื่องตลอดชีวิต

โดยส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นเคยกับการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการตรวจเลือดหรือดูผลแล็ปต่างๆ แต่สำหรับไบโพลาร์แล้ววิธีการเหล่านี้อาจไม่ได้ผล เพราะสิ่งสำคัญของในการวินิจฉัยโรคนี้ก็คือ การเปิดอกคุยกับแพทย์ถึงอารมณ์ ความประพฤติ และการใช้ชีวิตที่แปรปรวน

การรักษาโรคไบโพลาร์มีหลายชนิด ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันไป การจดบันทึกอาการ ความรุนแรง ระยะเวลา ความถี่ในการเกิด และวิถีการนอน จะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลข้างเคียงสุดที่จะทนได้ แพทย์ก็อาจปรับการรักษาได้เลย

การรักษาโรคไบโพลาร์อาจใช้ยาใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers) ยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ (Atypical antipsychotics) และยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressants) ซึ่งยาแต่ละตัวล้วนมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

โดยผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาควบคุมอารมณ์ ได้แก่ อาการง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องร่วง ท้องผูก แสบอก หรือมีอาการคัดจมูก

ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยายารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ ได้แก่ อาการง่วงซึม เวียนศีรษะเมื่อมีการเปลี่ยนท่า เห็นภาพไม่ชัด หัวใจเต้นเร็ว ไวต่อแสงแดด ผิวหนังเป็นผื่น หรือมีปัญหารอบเดือนในผู้หญิง

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ หงุดหงิด กระสับกระส่าย มีความต้องการทางเพศลดลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Bipolar Disorder. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/bipolar-disorder/index.shtml [2014, March 22].
  2. Bipolar Disorder - Overview & Facts. http://www.webmd.com/bipolar-disorder/guide/bipolar-disorder-overview-facts [2014, March 22].
  3. Diagnosing Bipolar Disorder. http://www.webmd.com/bipolar-disorder/guide/bipolar-disorder-diagnosis [2014, March 22].