โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ (Lumbar spinal stenosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการปวดเอว ก่อให้เกิดความรำคาญ ถึงทรมาน จนไม่สามารถทำงานหรือดำรงชีวิตได้ตามปกติ ภาวะที่พบบ่อย และที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน คือ โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ (Lumbar spinal stenosis) โรคนี้คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ต้องติดตามบทความนี้ครับ

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบคืออะไร?

โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบ

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ คือ ภาวะที่มีการตีบแคบลงของโพรงที่เป็นช่องตลอดความยาวภายในกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า โพรงกระดูกสันหลัง (Spinal canal ) ซึ่งเป็นช่องทาง ผ่านของเส้นประสาท (Neural foramina) โดยการตีบแคบอาจเกิดเพียงที่ระดับเดียวหรือหลายระดับของโพรงกระดูกสันหลังก็ได้

ช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ อาจเกิดจากภาวะ/โรค กระดูกหนาตัวขึ้น, เอ็นหนาตัวขึ้น, หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง), กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis ), หรือมีหลายๆภาวะ/โรคดังกล่าวเกิดร่วมกัน

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะโรคที่เกิดจาก”โพรงกระดูกสันหลังช่วงเอวตีบแคบ” เท่า นั้น เพราะเป็นโรคที่พบบ่อย ส่วนการตีบแคบในบริเวณอื่นๆของโพรงฯพบได้น้อยกว่ามาก และมีสาเหตุ อาการ วิธีวินิฉัย การรักษา การดูแลตนเอง และการป้องกัน คล้ายคลึงกัน ปรับใช้ด้วย กันได้

สาเหตุของโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบมีอะไรบ้าง?

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ที่พบได้ คือ

  • จากความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง
  • จากการเสื่อมตามอายุ
  • จากโรค/ภาวะอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุบริเวณหลัง และโรคกระดูกต่างๆ (เช่น โรคกระดูกพรุน) และ
  • บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบมีอาการอย่างไร?

โรคนี้ มักทำให้ผู้ป่วยเกิดมีอาการปวดหลังโดยอาจพบร่วมกับ อาการปวดร้าวลงขาข้างเดียว หรือ 2 ข้างพร้อมๆกันก็ได้, เดินแล้วมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงหรือปวดขา ปวดน่อง จนต้องหยุดเดินเป็นพักๆ (Neurogenic claudication) ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทเอวถูกกดทับ หรือภาวะขาดเลือดของเส้นประสาท, และพบบ่อยว่าทำให้เกิดอาการเดินลำบาก และส่งผลถึงการดำรง ชีวิตได้

นอกจากนั้น อาจมีอาการ ปวด ชา และ/หรือ รู้สึกหนักบริเวณก้น ร้าวลงขา ในขณะกำลังเดินหรือยืนนาน อาจมีอาการผิดปกติทาง ปัสสาวะ อุจจาระได้ (เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่ออก และ/หรือ ท้องผูก) และอาจเกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้

ทั้งนี้ อาการต่างๆมักดีขึ้นเมื่อก้มตัวหรือนั่งลง และมักไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากเมื่อนั่งหรือนอนหงาย และ/หรือจะเดินได้ไกลมากขึ้น และปวดน้อยลง เมื่อก้มตัวไปด้านหน้า แต่อาการจะมากขึ้นเมื่อแอ่นหลัง

เมื่อมีอาการ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยที่ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดขา (บางรายไม่มีอาการปวดขา) ปวดหลังมาก จนส่งผลต่อการเดิน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หยุดเดินบ่อย ๆ หรือเดินได้ระยะทางสั้นลง หรือมีกล้ามเนื้อขาลีบ หรือมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

นอกจากนี้ ถ้ามีอาการปวดขาหลัง ร่วมกับมีไข้ หรือผอมลงมาก เบื่ออาหาร ปวดมากขณะนอนพัก หรือปวดช่วงกลางคืนรุนแรง ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจมีปัญหาจากการติดเชื้อหรือจากโรค มะเร็งของกระดูกสันหลัง ก็ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เช่นกัน

ใครมีโอกาสเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบได้บ่อย?

โรคนี้พบได้บ่อยใน

  • คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • คนอ้วน
  • โรคเบาหวาน และ
  • ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบได้จาก อาการที่ผู้ป่วยบอกเล่าเป็นหลัก การตรวจร่างกาย และใช้การตรวจเอกซเรย์ โดยเบื้องต้นเป็นการตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลังแบบธรรมดาก่อน เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติที่กระดูกสันหลังจริงหรือไม่ การตรวจเอกซ เรย์ธรรมดาจะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์ (โดยการตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนเอว พบหลักฐานของหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม) แต่แพทย์จะไม่ได้ใช้ผลการตรวจเอกซเรย์เป็นหลัก (ใช้อาการผู้ป่วยและการตรวจร่างกายเป็นหลัก)เพราะบ่อยครั้งที่ตรวจพบความผิดปกติในภาพเอกซเรย์ แต่ผู้ป่วยกลับไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย อย่างไรก็ตามถ้าอาการผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามที่ควรจะเป็น หรือมีอาการรุน แรง เช่น กล้ามเนื้อลีบ การขับถ่ายผิดปกติ หรือจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์ก็จะส่งตรวจเอมอาร์ไอกระดูกสันหลัง เพื่อประเมินความผิดปกติของกระดูกสันหลัง, ของไขสันหลัง, และของเส้นประสาทว่า มีการถูกกดทับจากกระดูกหรือไม่

อนึ่ง อาการจากโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ จะคล้ายคลึงกับบางโรคได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องมีการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่ง ได้แก่

  • อาการปวดร้าวลงขาจากหลอดเลือดส่วนปลายที่ขาอุดตัน (Peripheral vascular dis ease) เรียกอาการกลุ่มนี้ว่า Vascular claudication เช่น การปวดลงขาจากโรคหลอดเลือดดำขาขอด (Varicose vein, หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด) และ
  • โรคเส้นประสาทส่วนปลาย/โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy )

ลักษณะแยกโรคของ Neurogenic claudication และ Vascular claudication

การรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบมีวิธีใดบ้าง?

การรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบประกอบด้วย การใช้ยา, การทำกายภาพ บำบัด, การผ่าตัด, และวิธีอื่นๆ

1.การรักษาด้วยยา เช่น

  • ยาต้านการอักเสบเอ็นเสด เพื่อลดอาการปวดที่เล็กน้อยและปานกลาง ซึ่งผลข้างเคียงของยา เช่น ปวดท้อง แผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาทางตับ และไต
  • ยาแก้ปวด ใช้เพื่อลดอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้เพื่อลดการหดเกร็งตึงตัวของกล้ามเนื้อ อาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ก็จะลดลงได้
  • ใช้ยาหลายๆชนิดร่วมกัน เพื่อลดการปวด และลดการอักเสบ เช่น เอนเสด ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาแก้ปวดชนิดแรง (เช่น กลุ่มมอร์ฟีน) ที่มีผลต่อสมองและไขสันหลัง เพื่อลดอาการปวด แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการติดยา และใช้ยาเกินขนาด จึงต้องใช้ยาโดยแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น
  • ยาต้านเศร้าบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
  • ยากันชักบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประ สาทถูกกดทับ

2.การทำกายภาพบำบัด เพื่อรักษาอาการปวด เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยการใช้เครื่อง Transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS), การนวด, การใช้คลื่น อัลตราซาวด์, การฝังเข็ม (Acupuncture), การดึงขยายข้อต่อกระดูกสันหลัง (Traction ), และการฝึกกล้ามเนื้อหลัง และขาให้มีความแข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี

3. การผ่าตัด จะใช้เมื่อการใช้ยา และการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล, อาการที่เกิดขึ้นมีผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน, และมีการเสียการควบคุมระบบขับถ่าย โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัด เพื่อลดการกดทับต่อเส้นประสาทและต่อไขสันหลัง และให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคง เป็นการผ่าตัดเพื่อเอากระดูกสันหลังทางด้านหลัง (Lamina) ออก เพื่อลดการกดทับต่อเส้นประ สาท รวมไปถึงการตัดกระดูกที่งอกออก (ถ้ามีกระดูกงอก) และ/หรือการเอาหมอนรองกระดูกสันหลังที่แตก/ที่เสื่อมออก ในผู้ป่วยที่มีการกดทับเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกฯ นอกจาก นั้น การผ่าตัดอาจใช้เทคนิค การผ่าตัดเชื่อมกระดูก (Fusion) ที่พิจารณาในรายที่มีการเสื่อมของกระดูกสันหลังอย่างมาก จนกระดูกสันหลังสูญเสียความมั่นคง และ/หรือในรายที่ผ่าตัดเอากระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกแล้ว กระดูกสันหลังสูญเสียความมั่นคง คือ เคลื่อนที่ได้ง่าย

4. การรักษาวิธีการอื่นๆ ได้แก่

  • การออกกำลังกาย คนไข้ส่วนใหญ่จะถูกแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ มีการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ จะช่วยลดการบาดเจ็บบริเวณหลัง อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายที่ทำให้สนุกสนาน ทำง่าย และเหมาะสมกับอายุและสุขภาพร่างกาย เพื่อจะทำให้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ และไม่มีผลเสียต่อข้อกระดูกต่างๆ เช่น การว่ายน้ำ การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ
  • การลดน้ำหนัก จะช่วยลดอาการปวดหลังได้ เพราะกระดูกสันหลังไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
  • ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้สายรัดหรือเข็มขัดรัดหน้าท้อง เพื่อช่วยลดอาการปวดหลัง เป็นต้น

โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบมีการพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลการรักษาโรคนี้จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของโรค, มีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง, มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วยหรือไม่ เช่น กล้ามเนื้อขาลีบ อ่อนแรง, และมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการทางปัสสาวะ อุจจาระ ซึ่งถ้ามีอาการมากแต่แรก และมีหลายปัจจัยดังกล่าว ผลการรักษามักไม่ดี ซึ่งกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา และมีการกดทับเส้นประสาทหรือกดทับไขสันหลัง ก็มีโอกาสเกิดอัมพาตได้

เมื่อเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนี้ ได้แก่

  • ควรลดน้ำหนักเพื่อลดการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง
  • รักษา ควบคุมโรคร่วมต่างๆให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการก้มๆเงยๆ และการนั่งทำงานในท่าหนึ่งท่าใดนาน
  • ปรับพฤติกรรมการใช้หลังให้ถูกวิธี
  • ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่ออยู่บ้าน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน แต่ต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก

ป้องกันโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบอย่างไร?

ป้องกันโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้ว ในหัวข้อการดูแลตนเอง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • การควบคุมน้ำหนัก
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามควรกับอายุและสุขภาพ
  • ปรับพฤติกรรมการใช้หลังให้ถูกต้อง
  • การไม่สูบบุหรี่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ เพราะสารพิษในควันบุหรี่จะส่ง ผลให้เซลล์กระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วย