โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (ตอนที่ 3)

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย จากมูลนิธิเพื่อมนุษยธรรมและวิทยาศาสตร์ สุลตาน บินคาลิฟา อัล นายาน (H.H Sheikh Sultan Bin Kalifa AL Nahyan) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการจัดตั้งรางวัล SITA ขึ้นในปี พ.ศ.2556 เป็นปีแรก

นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลประเภทสถาบัน (Center of Excellence) ที่มีการคัดเลือกจากสถาบันการแพทย์กว่า 300 แห่งทั่วโลก โดยศูนย์ธาลัสซีเมีย รพ.ศิริราช เป็นสถาบันแห่งแรกที่ได้รับการยกย่อง รวมถึงรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี อาจารย์ด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.ศิริราช ในฐานะผู้สร้างสรรค์วิชาการและงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ต่อวงการธาลัสซีเมียมายาวนาน

ปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดธาลัสซีเมีย ได้แก่

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • มักเกิดในวงศ์ตระกูลของคนอิตาเลียน กรีก ตะวันออกกลาง เอเชีย และ แอฟริกัน

อาการที่ปรากฏโดยทั่วไปได้แก่

  • เหนื่อยอ่อนเพลีย (Fatigue)
  • หายใจลำบาก
  • อาการซีด (Pale appearance)
  • หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability)
  • ตัวเหลือง (Jaundice)
  • กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป
  • โตช้า
  • ช่องท้องบวม
  • ปัสสาวะสีเข้ม (Dark urine)

อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของธาลัสซีเมียที่เป็น เด็กบางคนอาจมีอาการตั้งแต่แรกเกิด ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีอาการเมื่ออายุ 1-2 ปี ส่วนคนที่มีธาลัสซีเมียแฝงทั้งแบบแอลฟ่าและเบต้าจะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อย แต่ไม่ปรากฎอาการ

หากมีการตรวจร่างกายจะมีลักษณะของม้ามโต และหากมีการตรวจเลือดจะพบว่า

  • มีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยและมีรูปร่างที่ผิดปกติเมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) ปรากฏภาวะเลือดจาง
  • ผลการตรวจฮีโมโกลบินด้วยกระแสไฟฟ้า (Hemoglobin electrophoresis) ปรากฏภาวะฮีโมโกลบินมีรูปร่างผิดปกติ (การตรวจฮีโมโกลบินด้วยกระแสไฟฟ้าไม่สามารถระบุว่าเป็นแอลฟ่าธาลัสซีเมียหรือไม่ นอกจากจะใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ยีน หรือที่เรียกว่า Mutation analysis)

แหล่งข้อมูล:

  1. รพ.ศิริราชสุดเจ๋ง คว้ารางวัลศูนย์ธาลัสซีเมียโลก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137473&Keyword=%b8%d2%c5%d1%ca%ab%d5%e0%c1%d5%c2 [2013, November 1]
  2. Thalassemia. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001613/ [2013, November 1].
  3. Thalassemia. http://www.mayoclinic.com/health/thalassemia/DS00905 [2013, November 1].