โรคเมลิออยด์ โรคฮิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า เชื้อเมลิออยด์ (Melioidosis) รุนแรงขนาดสหรัฐอเมริกาจัดเป็นอาวุธชีวภาพ [เป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียที่นำไปทำอาวุธชีวภาพได้] โดยสหรัฐอเมริกามีงบประมาณสำหรับทำวัคซีนเยอะมาก และพยายามพัฒนาวัคซีนตัวนี้อยู่ แต่ยังไปได้ไม่ไกลนัก

ส่วนในประเทศไทยไม่มีงบประมาณวิจัยทำวัคซีนตัวนี้ และ นพ. ดิเรก กล่าวในที่สุดว่า โรคเมลิออยด์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ในกรณีที่ต้องสัมผัสดินหรือน้ำ เช่น ทำนา ทำสวน จับปลา ควรใส่เครื่องป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือยาง และควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ดื่มน้ำต้มสุก

การเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Intensive care facilities) ที่เป็นโรคเมลิออยด์ มีความสำคัญยิ่ง เพราะสามารถอธิบายได้ถึงอัตราการเสียชีวิต โดยเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตในตอนเหนือของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 20 ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอยู่ที่ร้อยละ 40

สำหรับอัตราการกลับเป็นซ้ำ (Recurrence) อยู่ที่ร้อยละ 10 - 20 ของผู้ป่วย จากการศึกษาทางโมเลกุล (Molecular studies) พบว่าส่วนใหญ่การกลับเป็นโรคซ้ำขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติดในตอนแรก ส่วนอีก 1ใน 4 ขึ้นกับการติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) โดยเฉพาะภายหลัง 2 ปี

ปัจจัยเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ผู้ป่วยที่ผลเพาะเชื้อเป็นบวกหรือมีโรคหลายตำแหน่งจะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงกว่า) ชนิดของยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเพื่อฆ่าเชื้อที่ไม่มีประสิทธิผล ความไม่ร่วมมือของผู้ป่วยในการรับการรักษา และระยะเวลาในการรักษาที่น้อยกว่า 8 สัปดาห์ ทำให้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง

ทางการพทย์ ยังไม่ค่อยพบการติดต่อระหว่างคนสู่คน แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการควรถือว่า ตัวอย่างเชื้อ B.pseudomallei อยู่ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพที่ระดับ 3 (BSL-3) [Biosafety level = BSL เป็นการแบ่งระดับความปลอดภัยทางด้านชีววิทยา ตั้งแต่ระดับน้อยสุด คือ BSL-1 ไปยังระดับสูงสุด คือ BSL-4]

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้และพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก ตามหลังเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุไซโคลน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้ จึงป้องกันได้โดย

  • ผู้ที่มีแผลและประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น คนที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดิน โคลน และน้ำ
  • เกษตรกรควรสวมรองเท้าบูท ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อที่เท้าและขาส่วนล่าง
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากาก ถุงมือ และเสื้อคลุม

อนึ่ง โรคเมลิออยด์ได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากสามารถใช้พัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพ (Biological weapon)ได้ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention = CDC) จัดให้เชื้อโรคเมลิออยด์เป็นอาวุธชีวภาพหมวด B ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้เคยทำการศึกษาเชื้อ B.pseudomallei เพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพแล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคเมลิออยด์ - คุณหมอขอบอก - http://www.dailynews.co.th/article/1490/172361 [2013, June 15].
  2. Melioidosis. - http://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2013, June 15].
  3. Prevention. - http://www.cdc.gov/melioidosis/prevention/index.html [2013, June 15].