โรคเมลิออยด์ โรคฮิตของชาวนาไทย (ตอนที่ 5)

นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งว่า วิธีการรักษาโรคเมลิออยด์ (Melioidosis) นั้น หากสงสัยว่าจะติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทันที ระหว่างรอผลเลือดจากห้องปฏิบัติการ (Laboratory)

ถ้าผลเลือดออกมาว่าเป็นเชื้อเมลิออยด์ แล้วคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อจนครบ 14 วันเป็นอย่างน้อย พออาการดีขึ้นแล้วก็ต้องให้ยารับประทานต่อเนื่องอีก 5 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อในร่างกายออกให้หมด ถ้าฆ่าเชื้อไม่หมด คนไข้อาจเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำและทำให้เสียชีวิตได้ เชื้อตัวนี้ทนเหมือนวัณโรค แต่ร้ายแรงกว่า

การรักษาโรคเมลิออยด์แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ (Intravenous high intensity phase) และระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยการกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (Eradication phase)

การให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ควรให้อย่างน้อย 10 - 14 วัน และไม่ควรหยุดให้จนกว่าอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยจะลดกลับมาเป็นปกติอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน

ยาที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เฉียบพลัน คือยาปฏิชีวนะเซฟตาซิดิม (Ceftazidime) นอกจากนี้ก็มี ยาเมอโรเพเนม (Meropenem) ยาไอมิเพเนม (Imipenem) และยาเซโฟพีราโซน-ซัลแบคแทม (Cefoperazone-sulbactam) แม้ว่าจะมีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง แต่ไข้ก็มักจะอยู่นานนับสัปดาห์หรือเดือน โดยโรคนี้มีไข้เฉลี่ยอยู่ที่ 10 วัน

หลังจากการรักษาในระยะเฉียบพลัน แนะนำให้รักษาต่อเนื่องหรือฆ่าเชื้อด้วยยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ร่วมกับยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) เป็นเวลา 12 - 20 สัปดาห์ เพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ

อย่างไรก็ดี หลักฐานการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีนออกฤทธิ์ต้านกัน และโค-ไตรม็อกซาโซลตัวเดียวน่าจะให้ผลดีกว่า ทั้งนี้ ในออสเตรเลียมีการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวในการรักษาเพื่อฆ่าเชื้อ โดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำกว่าที่พบในประเทศไทย

การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกมักใช้กับการรักษาฝีในต่อมลูกหมากและข้ออักเสบติดเชื้อ อาจใช้ในการรักษาฝีในต่อมน้ำลายพาโรติด แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาฝีในตับหรือม้าม (Hepatosplenic abscesses)

กรณีที่มีการติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ อาจพิจารณารักษาด้วยการตัดม้าม (Splenectomy) อย่างไรก็ดี มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการรักษาด้วยวิธีนี้

กรณีที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม (โดยหลักแล้วคือเซฟตาซิดิมหรือเมอโรเพเนม) การติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 90 แต่หากได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยมีภาวะแบคทีเรียในกระแสเลือดหรือภาวะติดเชื้อรุนแรง จะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 80

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคเมลิออยด์ - คุณหมอขอบอก - http://www.dailynews.co.th/article/1490/172361 [2013, June 14].
  2. Melioidosis. - http://en.wikipedia.org/wiki/Melioidosis [2013, June 14].