Hoarding Disorder โรคเก็บสะสมของ (ตอนที่ 2 และเป็นตอนจบ)

โรคเก็บสะสมของ-2

      

ผลของการเก็บสะสมของมากเกินไปและการไม่ยอมทิ้งของ มีดังนี้:

  • เกิดกองของที่สะสม เช่น หนังสือพิมพ์ เสื้อผ้า เอกสาร หนังสือ หรือสิ่งของที่มีค่าทางใจ
  • มีข้าวของที่ปิดกั้นทางเดินและพื้นที่ใช้สอยทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ได้ เช่น ไม่สามารถพักผ่อนในห้องนั่งเล่นได้ ไม่สามารถทำอาหารในห้องครัวได้ หรือไม่สามารถชำระร่างกายในห้องน้ำได้ เป็นต้น
  • เกิดกองอาหาร หรือกองขยะมากเกินกว่าถูกสุขลักษณะ
  • เกิดความเครียด หรือปัญหาในการอาศัยอยู่อย่างปลอดภัย
  • เกิดความขัดแย้งกับคนที่พยายามทิ้งของที่ไม่จำเป็นออกไป
  • เกิดความลำบากในการจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ บางครั้งทำของสำคัญหายไปในกองข้าวของ

ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของมักเก็บข้าวของไว้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้

  • เชื่อว่าสิ่งของเหล่านั้นจะมีประโยชน์ในอนาคต
  • สิ่งของเหล่านั้นมีความสำคัญทางจิตใจ เป็นเครื่องเตือนความทรงจำดี ๆ หรือเป็นตัวแทนของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก
  • รู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจเมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งของที่เก็บสะสมไว้
  • รู้สึกไม่อยากทิ้งขว้างสิ่งใดให้เสียของเลย

สาเหตุ

      ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของโรคเก็บสะสมของแม้ว่าทราบถึงปัจจัยเสี่ยงก็ตาม ผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ผู้ที่มีปัญหาการตัดสินใจ หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเก็บสะสมของ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเก็บสะสมของทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของส่วนใหญ่มักเป็นโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety) อีกด้วย บางรายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder – OCD) ซึ่งในอดีต โรคเก็บสะสมของเคยถูกจัดให้เป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคย้ำคิดย้ำทำเนื่องจากทั้งสองโรคนี้มีลักษณะคล้ายกันบางประการ แต่ในปัจจุบัน โรคเก็บสะสมของถูกจัดว่าเป็นโรคอีกชนิดหนึ่ง เพราะอาการต่าง ๆของโรคเก็บสะสมของไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตโรคใดโรคหนึ่ง และไม่ได้เกิดจากปัญหาทางสุขภาพ มีงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า เหตุผลยอดนิยมที่ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของเก็บของไว้คือ ไม่อยากทิ้งเสียของ

การเก็บสะสมสัตว์

      ผู้เก็บสะสมสัตว์อาจเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนับสิบหรือร้อยตัว สัตว์เหล่านั้นอาจถูกกักขังทั้งในบ้านและนอกบ้าน และเนื่องจากมีจำนวนมากเกินไป สัตว์เหล่านั้นมักไม่ได้รับการดูแลอย่างดี จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพทั้งต่อบุคคลและต่อสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น

      แม้ว่าโรคเก็บสะสมของจะเป็นโรคที่เป็นไปได้ตลอดชีวิตก็ตาม แต่การรักษาก็สามารถช่วยลดการยึดติดกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น และช่วยเรื่องการตัดสินใจ การลดความเครียด และเสริมทักษะการบริหารจัดการได้ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-behavioral therapy) และการใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressant medication) เป็นการรักษาเบื้องต้นเพื่อลดอาการเก็บสะสมของ และเนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคดังกล่าว จึงยังไม่มีวิธีการป้องกัน อย่างไรก็ตาม การรับการรักษาโดยเร็วหลังจากสังเกตเห็นอาการ คือวิธีที่ดีที่สุด

      

แหล่งข้อมูล:

  1. “Hoarding Disorder” https://www.nhs.uk/conditions/hoarding-disorder/ [January 4, 2018]
  2. “Hoarding Disorder” https://www.psychologytoday.com/us/conditions/hoarding-disorder [January 5, 2018]
  3. “Hoarding: The Basics” https://adaa.org/understanding-anxiety/obsessive-compulsive-disorder-ocd/hoarding-basics [January 6, 2018]