โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral artery Disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลอดเลือดแดง/เส้นเลือดแดงส่วนปลาย(Peripheral artery)หมายถึง หลอดเลือดแดงของอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ยกเว้นอวัยวะในทรวงอกและอวัยวะในช่องท้อง ดังนั้น “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ หรือ โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral arterial disease หรือ Peripheral artery disease ย่อว่า PAD)” หรือชื่ออื่น เช่น “โรคหลอดเลือดส่วนปลาย หรือ โรคเส้นเลือดส่วนปลาย (Peripheral vascular disease ย่อว่า PVS)” หรือ “Atherosclerotic peripheral arterial disease” หรือ “Hardening of the artery” หรือ “Peripheral arterial occlusive disease ย่อว่า PAOD ” จึงหมายถึงโรค/อาการที่เกิดจากมีหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบหรืออุดตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดของผู้ป่วย โรคมักเกิดกับหลอดเลือดแดงของขาทั้ง 2 ข้าง(แต่เกิดกับขาข้างเดียวก็ได้) ดังนั้น โดยทั่วไป รวมถึงบทความนี้ “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ”จึงหมายถึง โรคหลอดเลือดแดง”ขา”ตีบหรืออุดตัน ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบที่เกิดกับอวัยวะ/เนื้อเยื่ออื่นๆได้เช่นกัน

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบเป็นโรคมีต้นเหตุหลักจากภาวะ/โรคหลอดเลือดแดงแข็ง(Artherosclerosis) ซึ่งเป็นโรคของคนวัย 50 ปีขึ้นไป ในสหรัฐ อเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 3-10%ของประชากรทั้งหมด โดยพบได้ประมาณ 15-20%ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70ปี โรคนี้พบทุกเพศ และพบได้ใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ มักมีต้นเหตุหลักคือ มีหลอดเลือดแดงแข็งที่เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลงจนถึงอาจอุดตัน จนส่งผลให้เนื่อเยื่อ /อวัยวะที่ได้รับเลือดจากหลอดเลือดแดงที่ตีบนั้นๆ ขาดเลือด จนก่อให้เกิดอาการต่างๆที่เกิดจากอวัยวะนั้นๆขาดเลือดขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง/โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบ คือ

  • มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่ ที่รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคอ้วน โดยเฉพาะมีดัชนีมวลกายมากกว่า 30
  • มีสาร Homocysteine ในเลือดสูง
  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
  • อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ คือ อาการจากมีการตีบของหลอดเลือดแดงขาหรือขาขาดเลือด และอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง

ก. อาการจากขาขาดเลือด: ได้แก่

  • อาการปวด เท้า ขา ต้นขา หรือก้น ขณะเดิน/ออกแรงกล้ามเนื้อของอวัยวะดังกล่าว โดยเฉพาะการเดิน มักปวดจนเดินต่อไม่ได้ ต้องหยุดเดิน ซึ่งเมื่อหยุดเดินหรือหยุดกิจกรรมที่ใช้ขา อาการปวดจะดีขึ้น/หายไปเอง ที่เรียกอาการลักษณะนี้ว่า “อาการปวดขาเป็นระยะเหตุขาดเลือด” ทั้งนี้อาจมีอาการอื่นร่วมกับอาการปวด เช่น ชา หรือเจ็บเสียว(Tingling) กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขนขาร่วงหรือขนขาบางลง และในผู้ชายอาจเกิดภาวะ/โรคนกเขาไม่ขัน
  • ถ้าหลอดเลือดแดงตีบมาก หรืออุดตัน จะพบว่าเนื้อเยื่อ/ขาที่ขาดเลือด จะเย็นกว่าเนื้อเยื่อปกติ มีสีเขียวคล้ำ มีแผลเกิดง่ายแต่หายยาก และถ้าเป็นมากจะพบเกิดเนื่อตายเน่าที่อวัยวะนั้นๆ เช่น นิ้วเท้า เท้า
  • เมื่อคลำการเต้น/ชีพจรของหลอดเลือดแดงของขาจะพบว่า ชีพจรเบาผิดปกติ หรือถ้าเป็นมากก็จะคลำชีพจรของอวัยวะนั้นๆ/ขาไม่ได้

ข. อาการที่เกิดจากโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: อาการจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นกับว่ามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอ่านเพิ่มเติมแต่ละโรคได้จากบทความของโรคนั้นๆในเว็บ haamor.com

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิด โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเนื้อตายเน่าของขา/เท้าซึ่งอาจนำไปสู่การรักษาที่ต้องการต้องตัดขา/เท้าทิ้ง

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบได้จาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ประวัติโรคประจำตัว ประวัติโรคในครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจคลำชีพจรที่จุดต่างๆของร่างกาย เช่นที่ แขน ขา การตรวจเลือดต่างๆเพื่อหาสาเหตุโรค(เช่น การตรวจระดับไขมันในเลือด การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจหาค่าสารฮอโมซีสเตอีน) การตรวจวัดความดันโลหิตที่แขนเปรียบเทียบกับความดันโลหิตที่ขาด้วยอัลตราซาวด์ที่เรียกว่า “Ankle brachial pressure index ย่อว่า ABPI หรืออีกชื่อคือ Ankle brachial index ย่อว่า ABI”) นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพและการทำงานของหลอดเลือดแดงด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือด้วยการตรวจภาพหลอดเลือดแดงทางรังสีวินิจฉัยที่ใช้การสวนหลอดเลือดและการฉีดสีที่เรียกว่า Angiogriam หรือ Arteriogram

รักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ มี 3 วิธีหลักได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต, การใช้ยา, และการใช้หัตการทางการแพทย์

ก. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพมากและเป็นวิธีรักษาที่แพทย์แนะนำในผู้ป่วยโรคนี้ทุกราย และผู้ป่วยต้องดูแล/รักษาตนเองด้วยวิธีนี้ไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อาการไม่มากจะรักษาอาการนี้ได้หายด้วยวิธีนี้เพียงวิธีนี้เพียงวิธีเดียว ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ การเลิก/การป้องกันปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ที่รวมถึงบุหรี่มือสอง และการลด/จำกัดอาหารอาหารไขมัน ทั้ง2กรณีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำให้หลอดเลือดแดงแข็งจนเกิดการตีบแคบ/อุดตัน

ปัจจัยอื่นที่สำคัญเช่นกัน คือ

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน และการออกกำลังกล้ามเนื้อขาตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ เพื่อช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดแดงขาเกิดหลอดเลือดแดงใหม่ชดเชยหลอดเลือดแดงที่ตีบไปที่เรียกว่า Collateral circulation
  • การควบคุมน้ำหนักตัว ด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

ข. การใช้ยา: คือการใช้ยาเพื่อขยายหลอดเลือด/เพิ่มการไหลเวียนเลือด/โลหิต และการใช้ยาเพื่อรักษา/ควบคุมโรคที่เป็นสาเหต/ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ยาขยายหลอดเลือด/ยาเพิ่มการไหลเวียนเลือด เช่น ยา Cilostazol, Naftidrofuryl
  • การใช้ยาลดไขมันในเลือด เช่น ยากลุ่ม Statin
  • การใช้ยาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ยาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิตสูง
  • ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่จะส่งผลเพิ่มปัจเสี่ยงให้หลอดเลือดแดงตีบ/อุดตันมากขึ้น

ค. การใช้หัตการทางการแพทย์เพื่อขยายหลอดเลือด หรือเพื่อทำหลอดเลือดใหม่ชดเชยหลอดเลือดที่ตีบไป(Revascularization): วิธีนี้ แพทย์จะเลือกใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการมากและล้มเหลวจากการรักษาใน 2 ข้อ(กและข)ดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งอาจเป็น

  • การขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบด้วยบอลลูน(Balloon angioplasty)
  • การขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดขยาย/ถ่างหลอดเลือด/สเต็นท์(Angiopathy and stenting)
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดส่วนปลาย/ส่วนขาโดยใช้หลอดเลือดดำ หรือท่อพลาสติกทดแทนที่เรียกว่า (Surgical bypass หรือ Arterial bypass) ที่แพทย์จะเลือกใช้เมื่อผู้ป่วยล้มเหลวจากการทำบอลลูนและ/หรือการใส่สเต้นท์
  • การผ่าตัดเท้าหรือขาที่เกิดเนื้อตายเน่าทิ้งไป กรณีผู้ป่วยมีอาการเนื้อตายเน่าลุกลามมาก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต้องตัดขาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต้องตัดขาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ได้แก่ผู้ป่วยที่มีแผลตายเน่าที่เท้า/ขาและแผลลุกลามไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆดังกล่าวในหัวข้อ”การรักษาฯ”ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ มักเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่

  • ยังคงสูบบุหรี่ หรือสูบบุหรี่มือสองต่อเนื่อง
  • ระดับไขมันในเลือดสูงและควบคุมไม่ได้
  • ควบคุมโรคเบาหวานไม่ได้
  • ขาดการออกกำลังกายตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง(ภาวะแทรกซ้อน)ที่พบได้จากโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ คือ

  • ภาวะเท้า/ขาเกิดเนื้อตายเน่าซึ่งถ้าอาการลุกลามมาก แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการตัดเท้า/ขาด้านเกิดการทิ้งไป
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ จนเป็นสาเหตุให้เกิดอัมพาตได้
  • โรคหลอดเลือดหัวใจที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือทั่วไปเรียกว่า ภาวะหัวใจล้ม ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตฉับพลัน

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยได้พบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มมีอาการ แพทย์มักรักษาควบคุมอาการผู้ป่วยได้ดีโดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด โภชนากร แนะนำ ที่สำคัญ คือ เลิก/ไม่สูบบุหรี่ จำกัดอาหารไขมัน และออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า โรคนี้เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ประมาณ 3.8%/ปีกรณีมีอาการปวดขาเป็นระยะเหตุขาดเลือดร่วมด้วย, 6.1%/ปีกรณีไม่เคยมีอาการผิดปกติมาก่อน ทั้งนี้เป็นอัตราเสียชีวิตที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่ไม่มีโรคนี้ที่พบได้ประมาณ 2%/ปี

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด โภชนากร แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • เลิกบุหรี่ เลิกบุหรี่มือสอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน แต่ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดเป็นโรคอ้วน/น้ำหนักตัวเกิน และต้องจำกัดอาหารไขมันเพื่อไม่ให้เกิดโรคไขมันเลือดสูง
  • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ(ดังได้กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ)ให้ได้ดี
  • สังเกต นิ้วเท้า และเท้าเสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น เขียวคล้ำ ซีดกว่าปกติ/ซีดกว่าอวัยวะส่วนอื่น(โดยเฉพาะซีดที่ขาข้างเดียว) เย็นผิดปกติ หรือมีแผลเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • รักษาเท้า นิ้วเท้า ให้สะอาดเสมอ และเมื่อมีแผลเรื้อรังที่เท้า หรือแผลที่เท้าเริ่มลุกลาม ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเนื้อตายเน่า ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การตัดขา/เท้า
  • รักษาอุณภูมิเท้าให้อบอุ่นเสมอ ไม่เย็นจัด เช่น การสวมถุงเท้าเป็นประจำ
  • ดูแลเท้าเช่นเดียวกับ”การดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน”
  • ออกกำลังกาย และออกกำลังขา ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการที่มีอยู่เดิมเลวลง เช่น ปวดขามากขึ้นเมื่อเดิน หรือเดินได้ระยะสั้นลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรักษา
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น นิ้วเท้าเขียวคล้ำจากที่ไม่เคยมีมาก่อน
  • มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่งจนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”ที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่/สูบบุหรี่มือสอง และการกินอาหารไขมันสูง

บรรณานุกรม

  1. Carman,T., and Fernanandez, B. Am Fam Physician 2000;61(4):1027-1032
  2. Dhaliwat, G., and Mukherjee, D. Int J Angiol 2007;16(2):36-44
  3. Hennion, D., and Siano, K. Am Fam Physician 2013;88(5): 306-310
  4. Sontheimer, D. Am Fam Physician 2006;73(11):1971-1976
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Peripheral_artery_disease [2018,June23]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/761556-overview#showall[2018,June23]
  7. https://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/pad [2018,June23]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Peripheral_vascular_system [2018,June23]