โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ชนิด คือ โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่องโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมองมีสาเหตุหลากหลาย ได้แก่

  • จากโรคความดันโลหิตสูง
  • จากภาวะผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
  • และจาก “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)”

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนี้คืออะไร มีอาการรุนแรงหรือไม่ ต้องติดตามบทความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองในบทความนี้ครับ

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองคืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คือ โรคที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ที่หลอดเลือดส่วนหนึ่งมีการโป่งพองโตขึ้น ที่เหมือนลูกผลไม้ที่ติดอยู่บนก้าน ซึ่งผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนี้มีโอกาสแตกได้ง่าย เมื่อผนังหลอดเลือดมีการแตกออก ก็จะมีเลือดออกในสมองหรือในส่วนใต้เนื้อเยื่อชั้นอะแรชนอยด์ของเยื่อหุ้มสมอง ที่เรียกว่า Subarachnoid hemor rhage

ในสหรัฐอเมริกา พบโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ประมาณ 1 รายต่อประชากร 10,000 คน ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานสถิติที่แน่นอน

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดจากอะไร?

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เกิดจากมีการบางลงของผนังหลอดเลือดของสมอง มักเกิดที่บริเวณรอยต่อ หรือบริเวณทางแยกของหลอดเลือด โดยเฉพาะบริเวณหลอดเลือดที่ฐานสมอง (Base of skull) แต่ก็สามารถพบได้ทุกตำแหน่งของสมอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง?

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง พบบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย และกลุ่มคนที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมากกว่าคนกลุ่มอื่น ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • สูบบุหรี่
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • ใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
  • ผู้ที่มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรง
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • หญิงวัยหมดประจำเดือน

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ที่พบได้ในโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ คือ

  • โรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease ) เช่น โรค Ehlers –Danlos syndrome
  • โรคถุงน้ำไต (Polycystic kidney)
  • โรคท่อเลือดแดงผิดปกติ (Coarctation of aorta)
  • โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองทางพันธุกรรม (Family history of brain aneurysm)

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองคือ อาการผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตแบบไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นขึ้นแบบทัน ทีทันใด ร่วมกับอาการต่างๆดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คอแข็ง (Stiffness of neck)
  • ตามัว มองเห็นไม่ชัด
  • ชัก
  • หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น
  • สับสน
  • หมดสติโคม่า
  • อาจเสียชีวิตทันที

ซึ่งอาการทั้งหมดนั้นเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพสมองจากสา เหตุอื่นๆเช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองกรณีมีอุบัติเหตุที่สมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมีหลอดเลือดโป่งพองขนาดโต หลอดเลือดที่โป่งพองที่โตนั้นจึงไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง จึงอาจก่ออาการได้ เช่น ปวดหลังลูกตา, รูม่านตาขยายโตทำให้ตาพร่า, มองเห็นภาพซ้อนเนื่องจากการกลอกลูกตาเสียไป, ชาบริเวณใบหน้าครึ่งซีก และ/หรือ ลืมตาไม่ได้

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

กรณีมีความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ และเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทันที ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที และถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรงที่สุดในชีวิต ชักหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น ควรรีบเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินนำ ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที โดยโทรฯเรียกหมายเลข 1669 เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย (สถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ/สพฉ. กระทรวงสาธารณสุข) และไม่เสียค่าใช้จ่าย

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองจากประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจสืบค้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และอาจมีการตรวจภาพหลอดเลือดสมอง เช่น เอมอาร์ไอภาพหลอดเลือดสมอง และ/หรือ การฉีดสีโดยการสวนหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นการตรวจหลอดเลือดสมองทางรังสีร่วมรักษา

อนึ่ง กรณีต้องการตรวจว่าสมองของเรามีหลอดเลือดโป่งพองหรือไม่ สามารถทำได้แต่ไม่คุ้มค่า เพราะพบโรคได้น้อย แต่แพทย์อาจพิจารณาตรวจในกรณีมีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง มีอาการหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก หรือมีโรคที่ผิดปกติและถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่กล่าวข้างต้น ในหัวข้อ โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

รักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คือ

  • การผ่าตัดสมอง เพื่อปิดซ่อมผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือ ใช้คลิป (Surgical clipp ing) หนีบหลอดเลือดที่โป่งพอง หรือการใส่ขดลวดเข้าไปปิดหลอดเลือดที่โป่งพอง (Endovas cular coiling) รวมทั้งการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในเนื้อสมองออก ถ้ามีก้อนเลือดออกในเนื้อสมอง
  • ให้ยาแก้ปวดศีรษะ
  • ให้ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) เพื่อลดการหดเกร็งของหลอดเลือด (Vasospasm) ของสมองที่เป็นผลข้างเคียงจากหลอดเลือดโป่งพอง ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดตามมา
  • ให้ยากันชัก

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง และอันตราย คือ

  • ภาวะแตกซ้ำของหลอดเลือดโป่งพอง ที่จะก่อให้เกิดอันตรายสูงมาก อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  • หลอดเลือดสมองบริเวณข้างเคียงหลอดเลือดที่โป่งพอง หดเกร็ง (Vasospasm) ก่อ ให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด
  • ภาวะโพรงน้ำที่อยู่ในสมองโต (Hydrocephalus)
  • ร่างกายเกิดภาวะเกลือโซเดียมต่ำ (Hyponatremia) อาการ เช่น อ่อนเพลีย สับสนคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว
  • อาการชัก
  • อาการอัมพาต

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองขึ้นกับความรุนแรงของโรคที่เกิด คือการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหมดสติและ/หรือ โคม่า ผู้ป่วยก็จะมีโอ กาสเสียชีวิตสูงมาก และถ้ามีการแตกซ้ำของหลอดเลือดฯ โอกาสการเสียชีวิตยิ่งสูงมากขึ้นอีก แต่ถ้ามีอาการแต่แรกที่ไม่รุนแรง เพียงแค่ปวดศีรษะอย่างเดียว และได้รับการรักษาทัน โดยไม่มีการแตกซ้ำของหลอดเลือด ก็มีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก มีโอกาสที่จะรักษาควบคุมโรคได้หาย

ควรดูแลตนเองอย่างไร?

กรณีมีหลอดเลือดสมองโป่งพองและเคยแตกแล้ว การดูแลตนเองที่ดี คือ

  • การไม่ออกแรงเบ่ง เช่น ไม่ให้ท้องผูก ไม่ยกของหนัก และไม่ไอรุนแรง เพราะการไอแรง ๆ หรือออกแรงเบ่ง จะทำให้มีการแตกของหลอดเลือดได้ง่าย
  • ต้องระมัดระวังเรื่องการทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย เช่น ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ต้องรักษาควบคุม โรคความดันโลหิตสูงให้ดี
  • ไม่ควรสูบบุหรี่
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะเช่น สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ เป็นต้น

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

กรณีมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก ชัก มีอาการหนังตาตก อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ อาการอื่นๆที่เป็นเพิ่มขึ้นมาใหม่ และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองได้หรือไม่?

เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวแล้วข้างต้นในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง และหัวข้อโรคทางพันธุ กรรม เราไม่สามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองได้เต็มร้อย แต่ถ้าเราสามารถลด/เลิกปัจจัยเสี่ยงบางปัจจัยได้ เช่น สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การออกแรงเบ่งบ่อยๆ แรงๆ เราก็สา มารถลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองลงได้ระดับหนึ่ง