โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ โรคสั่นอีที (Essential tremor)

สารบัญ

บทนำ

“อายุ 20 ปีค่ะ มีอาการมือสั่น กลัวว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน ทำอย่างไรดีค่ะ” ผมได้รับคำ ถามนี้ทางอีเมล และเกือบทุกวันที่ออกตรวจผู้ป่วยที่คลินิกผู้ป่วยนอก จะมีผู้ป่วยมาปรึกษาด้วยอาการสั่นทั้งในผู้ป่วยอายุน้อยและผู้สูงอายุ ทุกคนจะกังวลใจว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่

จริงๆแล้วการแยกระหว่างอาการสั่นจากสาเหตุอื่นๆ โดยเฉพาะโรคหรืออาการสั่นที่พบบ่อยที่เรียกว่า “โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ หรือ เรียกย่อว่า โรคสั่นอีที (Essential Tremor, ย่อว่า ET)” กับอาการสั่นจากโรคพาร์กินสันทำได้ไม่ยาก ผมเชื่อว่าทุกคนเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว จะสามารถแยกอาการสั่นที่พบบ่อย ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะโรคหรืออาการสั่นไม่ทราบสาเหตุ ออกจากโรคพาร์กินสันได้ ลองติดตามอ่านบทความเรื่อง “โรคสั่นไม่ทราบสา เหตุ” นี้ดูครับ

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุคืออะไร?

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ

คำว่า “Essential” ตามคำแปลคือ จำเป็น ขาดเสียไม่ได้ สำคัญที่สุดหรือเป็นพื้นฐาน แต่ในกรณีนี้หมายถึง “ไม่ทราบสาเหตุ” ส่วน “Tremor” แปลว่า “การสั่น หรือ อาการสั่น” ดังนั้น จึงขอแปลชื่อโรค/อาการ “Essential tremor” นี้ว่า โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ หรือ อาการสั่นไม่ทราบสาเหตุ

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ เป็นอาการทางระบบประสาทชนิดหนึ่งที่พบบ่อยมาก พบได้ตั้งแต่อายุไม่มากไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นอาการที่ผู้ป่วยเกิดมีการสั่น โดยแพทย์ตรวจผู้ป่วยแล้วไม่พบสาเหตุ (หาสาเหตุไม่ได้)

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุพบบ่อยในคนกลุ่มไหน?

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ พบบ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ อายุ 20-30 ปี และเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกัน เป๋นโรคมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้บ่อย เช่น พ่อแม่เป็น ลูกก็มีโอกาสเป็นได้

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ จะมีอาการสั่นที่มือเป็นส่วนใหญ่ อาการสั่นจะเป็นมากขึ้น เมื่องอแขนหรือใช้มือจับสิ่งของทำงานต่างๆ เช่น ใช้ช้อนตักน้ำแกง ยกแก้วน้ำดื่ม อาการจะเป็นสองข้างเท่าๆกัน น้อยมากๆที่พบเป็นเพียงข้างเดียว (เป็นลักษณะที่แตกต่างจากโรคพาร์กินสัน ) นอกจากนี้อาจมีอาการ คอสั่น เสียงสั่นขณะพูดได้ อาการมักค่อยๆเป็นมากขึ้นๆเมื่ออายุมากขึ้น

อาการสั่นมีกี่ชนิด/ประเภท?

อาการสั่นที่พบบ่อยๆ มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

  • อาการสั่นเมื่อยกมือ ยกแขนขึ้น (Postural tremor)
  • อาการสั่นเมื่ออยู่เฉยๆ (Resting tremor)
  • อาการสั่นตอนท้ายของการเคลื่อนไหว (Intention tremor)

อาการสั่นเมื่อยกมือ-แขนขึ้น (Postural tremor) ที่พบบ่อย คือ

  • โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการสั่นที่พบร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • และอาการสั่นที่พบเมื่อร่างกายมี ความเครียด ตื่นเต้น หิวข้าว ตกใจ เป็นต้น

โดยจะมีอาการ สั่นเมื่อยกแขน-มือ สูงขึ้นต้านแรงโน้มถ่วง (แรงดึงดูด) ของโลก และอาการสั่นจะลดลงเมื่อวางแขน-มือไว้เฉยๆ ซึ่งถ้ามีสาเหตุจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็จะมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ใจสั่น ผอมลง หงุดหงิดง่าย ถ่ายเหลว (ท้องเสีย) เหงื่อออกมาก ร้อนง่าย เป็นต้น

อาการสั่นเมื่ออยู่เฉยๆ (Resting tremor)

ผู้ป่วยจะมีอาการสั่นของมือเป็นส่วนใหญ่ สั่นมากเมื่อวางมือไว้เฉยๆ เมื่อยกมือขึ้นอาการสั่นจะลดลงมาก แต่อาการสั่นจะกลับมาเป็นใหม่ถ้ายกมือค้างไว้ในระยะเวลาหนึ่ง (Emerging tremor) ความถี่ของการสั่นจะช้ากว่าการสั่นแบบที่ 1 และอาการจะเด่นชัดที่มือข้างใดข้างหนึ่ง ไม่เท่ากัน 2 ข้าง พบการสั่นที่เท้าและขาร่วมด้วย ซึ่งโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ จะไม่พบอาการที่เท้าและขา

อาการสั่นตอนท้ายของการเคลื่อนไหว (Intention tremor)

เช่น หมอให้ผู้ป่วยเอานิ้วชี้ไปแตะจมูกของตนเอง ก็จะแตะจมูกของตนเองไม่ได้เพราะมือสั่น แตะผิดพลาดไป สาเหตุที่พบคือ มีความผิดปกติของสมองส่วน สมองน้อย (Cerebellum)

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ แต่พบว่า มีความผิดปกติทางกระ บวนการควบคุมการเคลื่อนไหวของสมอง ในส่วนที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว คือ สมองน้อย(Cerebellum), ธาลามัส (Thalamus), Basal ganglia และ สมองส่วนนอก (Cortex)

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุต่างจากโรคพาร์กินสันอย่างไร?

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุและโรคพาร์กินสัน มีอาการแยกกันได้ ดังต่อไปนี้

ลักษณะ โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ โรคพาร์กินสัน
อาการสั่น เกิดเมื่อยกแขน-มือขึ้น เกิดเมื่อแขน-มือวางเฉย อาการลดลงเมื่อยกแขน-มือขึ้น
ความถี่ของการสั่น สั่นเร็วกว่า 5-12 ครั้ง/วินาที ช้ากว่า 3-6 ครั้ง/วินาที
ตำแหน่งสั่น เป็นสองข้าง เป็นข้างเดียว ถ้าเป็นทั้ง 2 ข้างก็สั่นไม่เท่ากัน
ส่วนของร่างกายที่สั่น มือ ศีรษะ เสียง มือ ขา ริมฝีปาก
การเขียนอักษร ตัวใหญ่ สั่น ตัวเล็กลง สั่น
ธรรมชาติของโรค คงที่หรือเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
ประวัติครอบครัว พบบ่อย น้อยมาก
อาการร่วมอื่นๆ ไม่พบ ช้าลง เดินไม่สะดวก ล้มง่าย
 

แพทย์วินิจฉัยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ ทำได้ทันที โดยการพิจารณาจากประวัติอาการและลักษณะผิดปกติของอาการสั่น โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ สมองเพิ่มเติม ยกเว้นในบางรายที่แพทย์สงสัยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจต้องตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุเป็นมากขึ้น?

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุเกิดการสั่นมากขึ้น คือ

  • ภาวะเครียดของร่างกาย ตื่นเต้น
  • การงอแขน
  • หิวข้าว
  • การพักผ่อนไม่พอ
  • ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง
  • รวมทั้งผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากันชักบางชนิด ยาขยายหลอดลม ยาสเตีย รอยด์ ยาต้านอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคจิตเภท
  • และบางคนดื่มกาแฟก็มีอาการสั่นมากขึ้น แต่พบว่า ในบางคน การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้อาการสั่นลดลง แต่ไม่แนะนำเพราะอาจเกิดผลเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้มากกว่าผลดี

อนึ่ง อาการสั่นดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งแตกต่างกับโรคพาร์กินสัน เพราะมีข้อมูลทางระบาดวิทยาบางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่อาจจะลดโอกาสการเป็นโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่แนะนำให้สูบบุหรี่ เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดีเป็นอย่างมาก

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

โรค/อาการสั่นแบบไม่ทราบสาเหตุนี้ ถ้าผู้ป่วยมีความกังวลว่าตนเองมีอาการมือสั่นจากสาเหตุใด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย และวางแผนการรักษา หลังจากนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง และไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต หรือต่อการเข้าสังคม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับการรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่คิดว่าส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และต้องการการรักษาก็ควรพบแพทย์

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุรักษาอย่างไร?

โดยทั่วไป ทุกคนจะมีอาการสั่นไม่มากก็น้อย ดังนั้น ถ้าอาการไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรม หรือการดำรงชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพียงแต่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ฝึกให้มีการผ่อนคลาย การทำสมาธิก็ทำให้อาการดีขึ้น แต่ถ้าอาการรุนแรงก็รักษาด้วยยาโปรปราโนลอล (Propranolol ยาออกฤทธิ์ควบคุมประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ)

ทั้งนี้ นอกจากยาโปรปราโนลอล ยังมีการใช้

  • สาร โบทูไลนุ่มทอกซิน หรือ โบทอก (Botulinum toxin หรือ Botox สารต้านการทำ งานของเส้นประสาท) ฉีดบริเวณที่มีอาการสั่นรุนแรง
  • หรือ การฝังเครื่องกระตุ้นสมองบริเวณสมองส่วน Thalamus (ส่วนควบคุมการเคลื่อน ไหว) ก็ได้ผลดี

ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผลและผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆเลย

อนึ่ง การรักษาด้วยวิธี ผ่าตัดสมอง ซึ่งก็คือ การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นสมองบริเวณสมองส่วน Thalamus ดังกล่าวแล้ว

การใช้ยาโปรปราโนลอลมีข้อควรระวังอย่างไร?

เนื่องจากโปรปราโนลอล เป็นยามีฤทธิ์ควบคุมการเต้นของหัวใจและลดความดันโลหิตด้วย จึงต้องระวังในผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • มีภาวะหัวใจวาย
  • ผู้ป่วยเบาหวานเพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ข้อเสียอื่นๆของยาตัวนี้ที่อาจพบได้ คือ อาการซึมเศร้า ทำอะไรช้าลง ความรู้สึกทางเพศลดลง

นอกจากนั้น ยาอื่นๆที่สามารถใช้รักษาโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุได้ โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ คือ อะทีโนลอล (Atenolol) เมโทโปรลอล (Metoprolol) คลอนาซีแปม (Clonaze pam) ฟลูนาริซีน (Flunarizine) กาบาเพ็นติน (Gabapentin) และโทฟิราเมต (Topiramate) เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุมีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันหรืออัมพาตหรือไม่?

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสัน หรือ โรคอัมพาต อย่างไรก็ตามเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตได้ตามธรรมชาติของโรคอัมพาตเอง

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ มีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก คืออาการสั่นนั้นจะคงที่หรือมีอาการรุนแรงขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อมีอายุที่สูงขึ้น จะไม่มีการดำเนินโรคหรือธรรมชาติของโรคกลายเป็นโรคพาร์กินสันอย่างที่ทุกคนกลัว บางกรณีที่ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม ไม่เครียด ผ่อนคลาย ไม่รีบเร่ง ก็พบว่าอาการสั่นดีขึ้นมาก มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

แต่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำนายได้ว่า ผู้ป่วยรายใดจะตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ อย่างไรก็ตามโรคนี้มีโอกาสหายได้เองน้อยมาก จำเป็นต้องทานยาเพื่อควบคุมอาการอย่างต่อเนื่องหรือเมื่อมีอาการมาก

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร? จำเป็นต้องทานยาทุกวันหรือไม่?

ผู้ป่วยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ ควรฝึกการผ่อนคลาย ทำสมาธิ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียง พอ กรณีทานยาโปรปราโนลอลนั้น ควรสังเกตอาการผิดปกติว่ามีหรือไม่ เช่น หัวใจเต้นช้าลง อาการวิงเวียนขณะปรับเปลี่ยนท่าจากนอน เป็นนั่ง หรือยืน รวมทั้งความรู้สึกทางเพศที่ลดลง ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อพิจารณาปรับการรักษา

อนึ่ง การทานยานั้นขึ้นกับอาการสั่น และความรุนแรงของอาการสั่นว่า ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆหรือไม่ และ/หรือส่งผลต่อบุคลิกภาพหรือไม่ ถ้าไม่มีผล ก็อาจทานยาเป็นบางวันก็ได้ เมื่อต้องการให้อาการสั่นมีน้อยที่สุด ทั้งนี้ควรปรึกษาในเรื่องวิธีใช้ยากับแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ เพื่อให้ได้วิธีใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุมีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคนี้ไม่น่าจะมีผลข้างเคียง หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆทางระบบประสาทหรือระบบอื่นๆ เพียงแต่ทำให้เสียบุคลิกและขาดความมั่นใจเมื่อทำกิจกรรมต่างๆเท่านั้น รวมทั้งเมื่อมีเสียงสั่นด้วย ก็อาจทำให้มีปัญหาในการพูดสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามความรุนแรงของเสียงที่สั่น

ป้องกันโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุอย่างไร?

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถควบคุมให้อาการลดลงได้โดยการควบคุมตัวกระ ตุ้น/ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดและให้อาการรุนแรง ซึ่งก็คือ ความเครียด อารมณ์ที่ฉุนเฉียว โมโห หรือ อารมณ์โกรธ

สรุป

ท่านคงสบายใจขึ้นว่า อาการสั่นนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง และไม่ใช่จากโรคพาร์กินสันกันทุกคน อย่างไรก็ตาม แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง โรคพาร์กินสัน จากเว็บ haamor.com ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจทั้ง 2 โรคได้ขึ้น คือ ทั้งโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ และโรคพาร์กินสัน