โรคมือเท้าปาก จากโรงเรียนหนูน้อย (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

โรงเรียนได้ทำหนังสือถึงผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด ให้รับทราบถึงสาเหตุที่ปิดโรงเรียนชั่วคราว ซึ่งทุกคนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนั้นทางโรงเรียนได้ประสานไปยังหน่วยงานต้นสังกัด รายงานให้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ได้เดินทางมาล้างทำความสะอาดโรงเรียนตลอดทั้งวัน อีกทั้งยังฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามโรงครัว ห้องเรียน ห้องน้ำ และตามจุดต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแพทย์ที่รักษาเด็กชายคนดังกล่าวเบื้องต้นทราบว่า เด็กไม่น่าจะป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ตามที่ทุกคนวิตกกังวล และจากการตรวจร่างกายเพื่อหาเชื้อ และดูจากอาการเด็ก เบื้องต้นเด็กอาจจะป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หรือป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสตามวัยของเด็ก ทั้งนี้หมอจะทำการตรวจหาเชื้อให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองและทางโรงเรียนทราบต่อไป

โรคมือเท้าปากมีการติดต่อจากคนไปสู่คนด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสารคัดหลั่งจากจมูกและคอ เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก ของเหลวจากแผลผุพอง และอุจจาระของผู้ติดเชื้อโรคนี้ เชื้อไวรัสอาจติดต่อได้โดยการสัมผัสกับวัตถุที่มีเชื้อติดอยู่

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายในระหว่างสัปดาห์แรกที่ป่วย อย่างไรก็ดีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอาจยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยได้อีกหลายสัปดาห์หลังจากที่อาการป่วยหายแล้ว นั่นหมายความว่าผู้ติดเชื้อสามารถเป็นพาหนะนำโรคได้แม้ว่าอาการปรากฏทางร่างกายจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

ยังไม่มีวัคซีนใดๆ ที่ใช้ป้องกันโรคมือเท้าปากได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคนี้ได้โดย

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม และหลังการเข้าห้องน้ำ
  • ทำความสะอาดผืนผิวที่สกปรกรวมทั้งของเด็กเล่น โดยเบื้องต้นล้างด้วยน้ำและสบู่ แล้วฆ่าเชื้อด้วยสารละลายคลอรีน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส เช่น การจูบ การกอด หรือการใช้ภาชนะอาหารร่วมกันกับผู้ที่เป็นโรคนี้

นอกจากนี้ยังไม่มีการรักษาโรคมือเท้าปากได้อย่างจำเพาะ แต่สามารถให้การรักษาได้ตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้และลดปวด (ไม่ควรให้ยาแอสไพรินกับเด็ก) หรือใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสเปรย์เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก การติดเชื้อในเด็กโต เด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ไม่ค่อยรุนแรง และสามารถหายได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากเด็กมีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้แก่

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral or "aseptic" meningitis) ที่ทำให้เป็นไข้ ปวดหัว คอแข็ง หรือปวดหลัง ซึ่งพบได้น้อย
  • ภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Encephalitis) ซึ่งไม่ค่อยพบบ่อย
  • เล็บมือและเล็บเท้าหลุด ซึ่งมักเกิดในเด็กภายใน 4 สัปดาห์หลังจากเป็นโรคมือเท้าปาก

อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโรคแทรกซ้อนทางประสาท เช่น ภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Encephalitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือ กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน (Acute flaccid paralysis = AFP) อาการปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) หรือมีเลือดออกในปอด (Pulmonary hemorrhage)

แหล่งข้อมูล:

  1. ผวา!โรคมือเท้าปากสั่งปิดร.ร.7วัน http://www.komchadluek.net/detail/20120523/130989/ผวา!โรคปากเท้าเปื่อยสั่งปิดร.ร.7วัน.html [2012, June 2].
  2. Hand, foot and mouth disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Hand,_foot_and_mouth_disease [2012, June 2].
  3. Hand, foot, and mouth disease. http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/about/index.html [2012, June 2].