โรคมือเท้าปาก จากโรงเรียนหนูน้อย (ตอนที่ 1)

นายเสริมฤทธิ์ สำแดงเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 ซ. โรงฆ่าสัตว์ ต. บ้านเหนือ อ. เมือง จ. กาญจนบุรี ได้สั่งปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว ในปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องมาจาก มีเด็กนักเรียนชายชั้นอนุบาล 3 วัย 5 ขวบ ได้ป่วยคล้ายเป็นโรคมือเท้าปาก ซึ่งมีลักษณะเป็นแผลผื่นแดงและเป็นตุ่มที่บริเวณฝ่ามือ

ทางโรงเรียนจึงให้ผู้ปกครองพาเด็กดังกล่าวไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าเด็กป่วยเป็นโรคชนิดใด โดยนายเสริมฤทธิ์ได้ประชุมคณะครูทั้งโรงเรียน และเห็นพร้อมกันว่า สมควรปิดการเรียนเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่ติดกับโรงฆ่าสัตว์และโรงเรียนอนุบาลกาญจนบุรี ซึ่งมีเด็กอนุบาลไปจนถึงนักเรียนประถม 6 รวม 2,000 คน

โรคมือเท้าปาก (HFMD = Hand, foot and mouth disease) เป็นอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสในลำไส้ประเภท Picornaviridae family โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากมากที่สุดคือ เชื้อไวรัสค็อกซากี ชนิดเอ (Coxsackie A virus) และ เชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV-71)

โรคนี้มักเกิดในเด็กทารกและเด็กทั่วไป ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ยกเว้นกรณีที่ผู้ใหญ่มีระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่บกพร่อง ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระของผู้ที่เป็นโรค การแพร่ระบาดของโรคมักเกิดในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน มีระยะเวลาฟักตัว 3–7 วัน

โรคมือเท้าปาก เป็นคนละโรคกับโรคเท้าเปื่อยปากเปื่อยของสัตว์ (FMD = Foot-and-mouth disease หรือ Hoof-and-mouth disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสัตว์กีบ เช่น แพะ วัว หมู เป็นต้น ทั้ง 2 โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสคนละตัวและไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ไม่มีการติดต่อของโรคที่เกิดในคนไปยังสัตว์ หรือ โรคที่เกิดในสัตว์ไปยังคน

อาการของโรคมือเท้าปากที่ปรากฏโดยทั่วไปอาจรวมถึง การมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน เพลีย รู้สึกไม่สบาย เจ็บคอ ปวดแผลในปาก มีผื่นขึ้นตามตัว ตามด้วยอาการเจ็บแผลพุพองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า (ผื่นที่เกิดในเด็กจะไม่ค่อยคัน แต่จะคันมากถ้าเกิดในผู้ใหญ่) ปากมีแผลเปื่อย อาจมีแผลที่จมูกและรูจมูก หรือที่สะโพกของเด็กเล็กและเด็กทารก เด็กจะหงุดหงิด เบื่ออาหาร และท้องเสีย

อาการเริ่มต้นมักมีไข้ ตามด้วยอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบาย ระหว่างวันที่ 1–2 หลังการมีไข้ อาจจะรู้สึกเจ็บแผลในปาก (Herpangina) ซึ่งเริ่มด้วยการมีจุดแดงเป็นแผลผุพองแล้วกลายเป็นแผลเปื่อย มีผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลิ้น กระพุ้งแก้ม อาจพบผื่นบริเวณเข่า ข้อศอก แก้มก้น และอวัยวะเพศด้วย

บางรายโดยเฉพาะเด็กเล็กอาจมีภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ด้วย เพราะปากเจ็บไม่สามารถดื่มน้ำได้ บางรายอาจไม่มีอาการทั้งหมดของโรคปรากฏ มีเพียงแต่อาการเจ็บปากหรือผิวหนังเป็นผื่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บปากและกลืนลำบาก การดื่มน้ำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถกลืนน้ำได้มากพอ อาจใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดแทน (IV = Intravenous therapy)

โรคมือเท้าปากเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดแผลในปาก เราสามารถบอกความแตกต่างระหว่างอาการเจ็บปากที่เกิดจากโรคมือเท้าปากหรือเกิดจากสาเหตุอื่นโดยการสังเกตจาก

  • อายุของผู้ป่วย
  • อาการที่ผู้ป่วยเป็น และ
  • ลักษณะของผื่นและอาการแผลในปากเป็นอย่างไร

แหล่งข้อมูล:

  1. ผวา!โรคมือเท้าปากสั่งปิดร.ร.7วัน http://www.komchadluek.net/detail/20120523/130989/ผวา!โรคปากเท้าเปื่อยสั่งปิดร.ร.7วัน.html [2012, June 1].
  2. Hand, foot and mouth disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Hand,_foot_and_mouth_disease [2012, June 1].
  3. Hand, foot, and mouth disease. http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/about/index.html [2012, June 1].