โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา (Mucosal melanoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา(Mucosal melanoma) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี ที่เรียกว่า Melanocyte (เซลล์ชนิดหนึ่งของเยื่อเมือก/เยื่อบุผนังอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย) ที่จุดใด/อวัยวะใดก็ได้ เกิดกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์ที่มีการเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายอวัยวะที่เกิดโรค เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และในที่สุดรุกราน/ลุกลามเข้าระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ปอด

เยื่อเมือก (Mucosa หรือ Mucous membrane) คือเนื้อเยื่อที่บุภายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ช่องปาก อวัยวะในระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะเพศ เป็นต้น มีหน้าที่หลัก คือ ดูดซึมสารต่างๆ และสร้างสารคัดหลั่ง เพื่อช่วยการทำงานของอวัยวะนั้นๆ

เยื่อเมือก ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ ‘เซลล์สร้างเม็ดสี( Melanocyte)’ เช่นเดียวกับในผิวหนัง แต่มีจำนวนเซลล์ชนิดนี้น้อยกว่าในผิวหนังมาก ซึ่งเซลล์ชนิดนี้สามารถเจริญผิดปกติจนกลายเป็นโรคมะเร็งได้ เรียกโรคมะเร็งที่เกิดกับเซลล์ Melanocyte ของทุกอวัยวะ รวมทั้งของผิวหนังว่า “โรคมะเร็งเมลาโนมา (Melanoma)” หรือ “โรคมะเร็งมาลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant melanoma)” และเรียกมะเร็งเมลาโนมาที่เกิดกับเยื่อเมือกว่า ‘มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา(Mucosal melanoma)’

อนึ่ง เซลล์ Melanocyte นอกจากพบในผิวหนัง และในเยื่อเมือกแล้ว ยังพบได้ในลูกตาอีกด้วย ดังนั้นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ Melanocyte จึงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ที่มีธรรมชาติของโรคแตกต่างกัน คือ

  • โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา /มะเร็งไฝ (เกิดกับผิวหนัง) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าอีก 2 กลุ่มมาก
  • โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา
  • และโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมา (Ocular melanoma)

ซึ่งแต่ละโรค ในเว็บhaamor.com จะแยกเขียนเป็นแต่ละบทความ โดยบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา” เท่านั้น

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา มีธรรมชาติของโรคที่มีความรุนแรงสูง/การพยากรณ์โรคไม่ดี และรุนแรงกว่าโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาและโรคมะเร็งลูกตาเมลาโนมามาก

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา เป็นโรคของผู้ใหญ่ (พบในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวได้เพียงประมาณ 0.6% ของมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาทั้งหมด) พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย อายุที่พบสูงสุด คือ ประมาณ 65 ปี เป็นมะเร็งที่พบน้อย ประปราย และเป็นชนิดพบน้อยที่สุดในกลุ่มมะเร็งเมลาโนมาทุกชนิด เพียงประมาณ 0.8-2% ของมะเร็งเมลาโนมาทั้งหมด ทั้งนี้ มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ในผู้หญิง 2.8 รายต่อประชากรสตรี 1 ล้านคน และในผู้ชาย 1.5 รายต่อประชากรชาย 1 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานสถิติการเกิดโรคนี้

อวัยวะที่พบโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาได้บ่อย คือ

  • อวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ (ประมาณ 50 -60% ของมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาทั้งหมด) เช่น ในโพรงจมูก, ไซนัส, โพรงหลังจมูก, ช่องปาก (เช่น เพดาน เหงือก กระพุ้งแก้ม)
  • รองลงมา คือ ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ (ลำไส้ตรง และทวารหนัก) พบได้ประมาณ 25%
  • อวัยวะสืบพันธุ์สตรี พบได้ประมาณ 15-20%
  • และอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้ประมาณ 3%
  • นอกนั้น อวัยวะอื่นๆมักมีเพียงเป็นรายงานผู้ป่วย เช่น อวัยวะเพศชาย/องคชาต, หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร เป็นต้น

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา แต่พบว่า โรคนี้พบได้บ่อยในชาวญี่ปุ่น โดยพบมะเร็งชนิดนี้ได้ถึงประมาณ 20-30% ของโรคมะเร็งเมลาโนมาทั้งหมดของชาวญี่ปุ่น

นอกจากนั้น พบว่า ประมาณ 50-60% ของผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา มีความผิดปกติของจีน/ยีน (Gene) บางชนิดที่ควบคุมการเกิดโรคมะเร็ง (BRAF Oncogene)

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมามีอาการอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดกับเยื่อเมือกอวัยวะภายใน ดังนั้นเมื่อเริ่มแรกเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาจึงมักไม่แสดงอาการ จะมีอาการต่อเมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น ซึ่งเมื่อก้อนเนื้อโตขึ้นก็จะขัดขวางการทำงานของอวัยวะที่เกิดโรค ดังนั้น อาการจึงแตกต่างกันไป และไม่ใช่อาการเฉพาะของก้อนเนื้อ (ก้อนเนื้อทุกชนิดจะให้อาการเหมือนกัน) ขึ้นกับว่า เกิดโรคกับอวัยวะใด เช่น

  • มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรังร่วมกับแน่นจมูก เมื่อโรคเกิดในโพรงจมูก
  • มีแผลแตกเรื้อรัง มีเลือดออกที่เพดานปาก เมื่อเกิดโรคกับเพดานปาก
  • มีตกขาวและ/หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เมื่อโรคเกิดในช่องคลอด
  • หรือมีอุจจาระเป็นเลือด ร่วมกับท้องผูก ปวดท้อง เมื่อโรคเกิดกับลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยซึ่งที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • อาจต้องส่องกล้องตรวจ ทั้งนี้ขึ้นกับอวัยวะที่เกิดโรค
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/ รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ซึ่งเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะของโรค เช่น
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ ภาพอวัยวะที่เกิดโรคเพื่อดูการลุกลามของโรค
    • เอกซเรย์ปอดดูโรคแพร่กระจายสู่ปอด
    • และอัลตราซาวด์ตับดูโรคแพร่กระจายสู่ตับ เป็นต้น

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมามีกี่ระยะ?

ดังกล่าวแล้วว่า โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาเป็นโรครุนแรงมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียงได้สูง และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้รวดเร็วตั้งแต่เกิดโรค ดังนั้นระยะโรคจึงต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ได้แก่

ก. มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาที่เกิดในอวัยวะระบบศีรษะและลำคอ เป็นโรคที่รุนแรงมาก ดังนั้น ระยะโรคจึงมีเพียง 2 ระยะเท่านั้น คือ ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 โดยระยะโรคจะเริ่ม ต้นที่ ระยะที่ 3 เสมอ ไม่มีระยะที่ 1, 2 ไม่ว่าขนาดของก้อนเนื้อจะเท่าใดก็ตาม และมักใช้ร่วมกับการให้ระยะโรคเป็นแบบ ’ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม(TNM cancer staging)’ (แนะนำอ่านรายละเอียดได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ระยะโรคมะเร็งทีเอ็นเอ็ม) โดยระยะโรค ได้แก่

  • ระยะที่ 3 หรือ T3N0M0 คือโรคลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อเมือก หรือ T3N0M0
  • ระยะที่ 4 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม/ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A หรือ T4AN0M0 หรือ T3,T4AN1M0 ที่โรคยังไม่แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต แต่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียงรุนแรง เช่น กระดูก กระดูกอ่อน ผิวหนัง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลือง
    • ระยะ4B หรือ T4BN0M0 คือ โรคลุกลามรุนแรงมาก เช่นลุกลามเข้า สมอง, เส้นประสาทสมอง, กล้ามเนื้อใบหน้า, หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ, เนื้อเยื่อติดกับกระดูกสันหลัง, และ/หรือเนื้อเยื่อในช่องอก
    • และ ระยะที่ 4C หรือ T3,T4,N1,N2,M1 กลุ่มที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่ไปสู่ ปอด กระดูก สมอง และตับ

ข. มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาของอวัยวะอื่นๆที่เหลือทั้งหมด แบ่งเป็น 3 ระยะตามการลุกลามของโรค โดยไม่แบ่งเป็น ตัวเลข 1,2,3 คือ

  • ระยะที่โรคลุกลามอยู่ในเยื่อเมือก และยังผ่าตัดได้
  • ระยะที่โรคลุกลามจนผ่าตัดไม่ได้ หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งมักแพร่กระจายสู่ ปอด กระดูก สมอง และตับ

รักษาโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา เช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา คือ

  • การผ่าตัด ที่เป็นการรักษาหลัก และหลังผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาการรักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด โดยประเมินจาก ระยะโรค, การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่, อายุ, และสุขภาพของผู้ป่วย
  • ส่วนยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา แต่ก็มีการนำมาใช้ทางคลินิกถึงแม้ยาฯยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้เพียงแต่อาจช่วยชะลอการลุกลามของเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้น ยายังมีราคาแพงมาก เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียง หรือ ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา ขึ้นอยู่กับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ/หรือ โรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • และในผู้สูงอายุ

อนึ่ง ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ คือ

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา’)
  • ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียง เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมารุนแรงไหม?

โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมา เป็นโรครุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังการรักษา และมักมีการแพร่กระจายของโรคเข้ากระแสโลหิตอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากเป็นโรคพบได้น้อย ผลการรักษาจึงมักรายงานเป็นภาพรวม ไม่ได้แยกเป็นแต่ละระยะโรค

โดยความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น เมื่อ

  • ผ่าตัดไม่ได้
  • มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • และ /หรือมีโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตแล้ว

ทั้งนี้ อัตรารอดที่ห้าปีโดยประมาณ ได้แก่

  • โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะในระบบศีรษะลำคอ มีอัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-30%
  • โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาที่เกิดในอวัยวะเพศสตรี
    • กรณีที่สามารถผ่าตัดโรคออกได้หมด และโรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง หรือยังไม่แพร่กระจาย มีอัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 50%
    • ถ้ามีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 25%
    • และเมื่อมีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต อัตรารอดที่ห้าปี คือ 0%
  • โรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาที่เกิดในลำไส้ตรงและทวารหนัก
    • กรณีที่ผ่าตัดโรคออกได้หมด และโรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 20%
    • ส่วนเมื่อโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตแล้ว อัตรารอดที่ห้าปี คือ 0%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดๆที่สามารถตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุ และยังไม่พบว่า มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ การดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้ จึงเป็นการรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการแต่เนิ่นๆ

ดูแลตนเอง ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึง มะเร็งเยื่อเมือกเมลาโนมาจะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น อ่อนเพลียมาก เลือดออกจากอวัยวะต่างๆมากขึ้น มีไข้โดยเฉพาะเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีอาการใหม่เกิดชึ้น เช่น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตโดยไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th edition
  2. Halperin, E., Perez, C., and Brady, L. (2008). Principles and practice of radiation oncology.Z (5th edition). Philadelphia: Wolters Kluwer/ Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Krengli, M. et al. (2008). What is the role of radiotherapy in the treatment of mucosal melanoma of head and neck. Critical Reviews in Oncology/Hematology. 65, 121-128.
  4. Mc Laughlin, C. et al. (2005). Incidence of noncutaneous melanoma in the U.S. Cancer. 103, 1000-1007.
  5. Pfister, D. et al. (2012). Mucosal melanoma of the head and neck. J Natl Compr Canc Netw.10, 320-338.
  6. Seetharamu,N. et al. (2010). Mucosal melanoma: a case-based review of literature. The Oncologist. 15, 772-781.
  7. Wagner, M. et al. (2008). Mucosal melanoma of the head and neck. Am J Clin Oncol. 31, 43-48.
  8. https://www.dermnetnz.org/topics/mucosal-melanoma/ [2019,Feb2]
  9. https://emedicine.medscape.com/article/853662-overview#showall [2019,Feb2]