โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 8 และตอนสุดท้าย): ไข้หวัดใหญ่

ข่าวด่วนรายวันจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกลาง ในสังกัดกรุงเทพมหานคร รายงานเมื่อวานซืนนี้ว่า ไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นอีกโรคหนึ่งในจำนวนโรคพึงระวัง ที่มาพร้อมกับน้ำท่วม และคงอยู่หลังจากน้ำลดแล้ว

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดเชื้อด้วยไวรัสตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งมีผลกระทบต่อนกและ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาการที่พบบ่อยมากที่สุด ได้แก่ หนาวสะท้าน มีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะรุนแรง ไอ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และรู้สึกไม่สบาย

ไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา ซึ่งเกิดจากไวรัสที่แตกต่างกัน ไข้หวัดใหญ่อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นเหียนและอาเจียน โดยเฉพาะในเด็ก แต่อาการหล่านี้คล้ายกับกระเพาะและลำไส้อักเสบ โดยไม่เกี่ยวข้องกัน ไข้หวัดใหญ่อาจเป็นสาเหตุโดยตรงของปอดบวมจากเชื้อไวรัส หรือสาเหตุโดยอ้อมของปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

ในกรณีทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ติดต่อผ่านทางอากาศ โดยการไอหรือจามซึ่งทำให้เกิดละอองที่มีเชื้อไวรัสปนอยู่ และอาจติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับขี้นก (กรณีไข้หวัดนก) หรือขี้มูก หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีสารปนเปื้อน แม้เป็นที่เข้าใจกันว่าละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ แต่ยังไม่มีความกระจ่างในเรื่องวิธีการติดต่อของเชื้อโรคที่ชัดเจน

แสงแดด น้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfectant) และผงซักฟอก สามารถฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ สามารถลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ลงได้ เนื่องจากสบู่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายไปทั่วโลกตามฤดูกาล ทำให้มีการตายระหว่าง 250,000 ถึง 500,000 คนต่อปี และเป็นจำนวนล้านๆ คนในปีที่มีการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกอย่างน้อย 2 ครั้ง [ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย] โดยที่แต่ละครั้งเกิดจากสายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์ถึงคน หรือสายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนอยู่แล้ว แต่ได้รับยีน (Gene) ใหม่จากไวรัสที่มักติดเชื้อในนกหรือในหมู

ครั้งหนึ่งคือไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งเกิดจากแหล่งเริ่มต้นในทวีปเอเชีย แต่มิได้วิวัฒนาการแพร่กระจายจากคนถึงคนได้ง่ายนัก และอีกครั้งหนึ่งคือ ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ A/H1N1 ซึ่งเกิดจากวิวัฒนาการรวมตัวของยีนจากคน หมู และนก มีต้นกำเนิดจากเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา

นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในคนแล้ว ยังมีการฉีดวัคซีนเป็ดไก่ที่เลี้ยงในปศุสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ตายทั้งเล้าเมื่อเกิดโรคระบาด วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในคนคือ TIV (Trivalent influenza vaccine) ซึ่งประกอบด้วยสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) และสารภูมิต้นทาน (Antibody) จากไวรัส 3 สายพันธุ์ (ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น, Live vaccine) จึงไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคจากวัคซีน แต่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่ำ จึงมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้เพียงประมาณ 1 ปี

วัคซีนที่เตรียมขึ้นในปีหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลในปีถัดไป เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีวิวัฒนการที่เร็วมาก และสายพันธุ์ใหม่มักทดแทนสายพันธุ์เก่าในเวลาอันสั้น ยาต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายขนาน ส่วนขนานที่ใช้ได้ผล ได้แก่กลุ่ม Neuraminidase inhibitors ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Tamiflu หรือ Relenza แต่เชื้อไวรัสเหล่านี้ก็สามารถดื้อต่อยาเหล่านี้ได้รวดเร็วเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Influenza. http://en.wikipedia.org/wiki/Flu [2011, October 19].