โรคพึงระวังหลังจากน้ำลด (ตอนที่ 4): ปอดบวม

ข่าวเด่นรายวันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวานนี้ได้รายงานถึง โรคปอดบวม ว่าเป็นหนึ่งในจำนวนโรคภัยมากับน้ำท่วมที่พึงระวัง

โรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นอาการอักเสบของปอด โดยเฉพาะมีผลกระทบต่อถุงลมขนาดจิ๋ว (Microscopic) ในปอด มักมีอาการร่วมของ ไอ ไข้ขึ้นจนหนาวสั่น เจ็บหน้าอก (โดยเฉพาะเวลาหายใจลึก) และหายใจลำบาก กล่าวคือจะไม่มีช่องอากาศ (Air sac) บนแผ่นฟิล์มเอ็กซ์เรย์ให้เห็น ในกรณีร้ายแรง อาจมีอาการ ตัวเขียว ชัก อาเจียนตลอด หรือหมดสิติ

โรคปอดบวมมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา และพยาธิ ประมาณ 45% ของการติดเชื้อในเด็ก และ 15% ของการติดเชื้อในผู้ใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อผสมของไวรัสและแบคทีเรีย แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย ไม่สามารถแยกประเภทของเชื้อได้อย่างชัดเจน แม้จากการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด การวินิจฉัยโรคอาศัยการเอกซ์เรย์ภาพปอด และการตรวจเสมหะ การตรวจร่างกายเบื้องต้นของแพทย์อาจพบความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นหัวใจสูง หรือระดับอ๊อกซิเจนในเลือดต่ำ [จนหายใจลำบาก] เนื่องจากปอดที่อักเสบ

ปอดบวมเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นโรคอันดับต้นๆที่คร่าชีวิตผู้คน แต่อัตราการรอดตายของผู้ป่วยมิได้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล จนถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการค้นพบยาปฏิชีวนะและวัคซีน (ซึ่งป้องกันได้เฉพาะโรคปอดบวมบางชนิดเท่านั้น) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน โรคปอดบวมยังเป็นสาเหตุหลักของการตายในบรรดาผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในประเทศที่ด้อยพัฒนา

ส่วนการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นสำคัญ แพทย์จะให้กินยาปฏิชีวนะในกรณีที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวมจากแบคทีเรีย และยาลดไข้ แล้วแนะนำให้พักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอย่างอื่นด้วย อาทิหายใจลำบาก หรือเป็นผู้ป่วยสูงอายุ อาจต้องได้กับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพะกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นระหว่างเยียวยาที่บ้าน หรือเกิดอาการแทรกซ้อน อาจต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ตามสถิติทั่วโลก ประมาณ 7–13% ของกรณีที่เกิดขึ้นในเด็ก มักลงเอยด้วยการเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กหายใจติดขัด ส่วนยาแก้ไอที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า กินแล้วได้ผลจริง

โรคปอดบวมเป็นการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อย และมีผลกระทบต่อประชากรโลกประมาณ 450 ล้านคนต่อปี (ประมาณ 200 ล้านคนเกิดจากเชื้อไวรัส) และเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เป็นสาเหตุการตายหลักของทุกกลุ่มอายุ ประมาณ 4 ล้านคนต่อปี หรือ 7% ของการตายทั่วโลก โดยมีอัตราการตายสูงสุดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุเกินกว่า 75 ปี อัตราการตายในประเทศที่กำลังพัฒนาจะสูงประมาณ 5 เท่าของอัตราตายในประเทศที่พัฒนาแล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. Pneumonia. http://en.wikipedia.org/wiki/Pneumonia [2011, October 15].