โรคพยาธิตาบอด (ตอนที่ 1)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2555 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราช สำหรับในปีนี้ มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร และสาขาสาธารณสุข ได้แก่ ดร. อูเช เวโรนิกา อะมาชิโก จากประเทศไนจีเรีย

ดร. อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิ ในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก ประเทศไนจีเรีย เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า 500,000 แห่ง ใน 19 ประเทศ ของทวีปอัฟริกา ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข สามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า 40,000 ราย

โรคพยาธิตาบอด (Onchocerciasis) หรือที่รู้จักกันว่าโรค River blindness และ Robles disease เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย (Filaria) ซึ่งเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดริดสีดวงตาแล้วทำให้ตาบอด พยาธินี้เป็นสาเหตุร้ายแรงอันดับ 2 ของโลกที่ทำให้ตาบอด (อันดับแรกคือ Trachoma) และเป็นเชื้อที่อาศัยในพยาธิอื่น ที่ชื่อ Wolbachia pipientis ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการตอบสนองที่รุนแรงและทำให้เกิดตาบอดหลายราย

พยาธิชนิดนี้ ติดต่อสู่มนุษย์โดยการถูกแมลงวันดำ (Black fly) กัด แล้วพยาธิ Onchocerca volvulus จะปล่อยตัวอ่อน (Microfilaria) ระยะติดต่อ เข้าสู่ผิวหนัง โดยฝังตัวอยู่อย่างอิสระใต้ผิวหนัง เมื่อตัวอ่อนตาย มันจะปล่อยเชื้อ Wolbachia ออกมา ซึ่งโปรตีนจากผิวของเชื้อนี้จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและตายของเหยื่อที่ถูกกัด

ตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมจะกระจายทั่วร่างพยาธิ เมื่อพยาธิตาย เชื้อ Wolbachia จะถูกปล่อยออกมาจากร่างพยาธิ แล้วโจมตีระบบภูมคุ้มกันของเหยื่อที่ถูกกัด และเป็นเหตุให้เกิดการคันอย่างรุนแรง และทำลายเนื้อเยื่อตาในดวงตาได้ จนทำให้ตาบอด โดยตัวอ่อน จะไชเข้าไปอยู่ในกระจกตา บางรายเข้าไปอยู่ในช่องด้านหน้า (Anterior chamber) จอรับภาพ และน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา เป็นต้น

โรคนี้พบระบาดตามบริเวณฝั่งตะวันตกและตอนกลางของทวีปอัฟริกา เยเมนเหนือ เม็กซิโก กัวเตมาลา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ประมาณการณ์ว่ามีประชาชนเป็นโรคนี้ถึง 18 ล้านคน และตาบอดถึง 270,000 คน

ในปี พ.ศ. 2458 Dr. Rodolfo Robles Valverde ได้ศึกษาผู้ป่วยโรคนี้ในกัวเตมาลา ซึ่งพบว่าโรคนี้เกิดจากฟิลาเรีย ของเชื้อ Onchocerca volvulus โดยผู้ป่วยถูกกัดตอนกลางวันโดยแมลงวัน 2 สายพันธุ์ ในตระกูล Simulium สิ่งที่เขาค้นพบทำให้เกิดความเข้าใจในวงจรชีวิตและการติดต่อของพยาธินี้ เขาใช้กรณีศึกษาของคนงานในไร่กาแฟในกัวเตมาลา ในการตีพิมพ์ว่าเป็น “โรคใหม่” ในปี พ.ศ. 2460 ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ตุ่มใต้ผิวหนัง แผลที่ด้านหน้าดวงตา และอักเสบ

ผิวหนังที่เกิดโรคมักพบเป็นตุ่มบวมคันและสีคล้ำ โดยมากพบเป็นที่ขาข้างเดียว ไม่ค่อยพบที่แขน ต่อมน้ำเหลืองมักโต ตุ่มเหล่านี้ ประกอบด้วยตัวแก่ (ดักแด้) เพศผู้ ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปต่อตัวแก่เพศเมีย 1 ตัว พยาธิเหล่านี้อาจยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว การอักเสบจะรุนแรงในกรณีที่พยาธิตาย ซึ่งต่อมากลายเป็นก้อนพังผืดแข็งหนา

แหล่งข้อมูล

  1. “สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2555 - www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000012535&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3% [2013, February 12].
  2. Onchocerciasis - http://en.wikipedia.org/wiki/Onchocerciasis [2013, February 12].