โรคบิดไม่มีตัว โรคบิดชิเกลลา (Shigellosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคบิดไม่มีตัว หรือ โรคบิดชิเกลลา (Shigellosis หรือ Shigella infection หรือ Bacilla ry dysentery) เป็นโรคที่ก่ออาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Enterobac teriaceae โดยเป็นแบคทีเรีย ชื่อ ชิเกลลา/Shigella (Shigella species ย่อว่า S.)

แบคทีเรียชิเกลลา เป็นแบคทีเรียที่มักดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ง่าย และมีหลายสายพันธุ์ย่อย โดยสายพันธุ์ S. dysenteriae type 1 เป็นสายพันธุ์ที่ก่ออาการรุนแรงสูงสุด และก่อให้มีการระ บาดของโรค ซึ่งเป็นสายพันธุ์พบบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ในประเทศที่กำลังพัฒนา ยังพบสายพันธุ์ S. flexneri และ S. boydii ส่วนสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศที่เจริญแล้ว คือ S. sonnei ซึ่งเป็นสายพันธุ์มีความรุนแรงต่ำที่สุด

โรคบิดชิเกลลา เป็นโรคติดต่อจากอาหาร น้ำดื่ม อุจจาระ-มือ-สู่ปาก ที่เรียกว่า ”Fecal-oral transmission” ที่พบได้ในทุกอายุ และพบได้ทั้งสองเพศในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

โรคบิดชิเกลลา เป็นโรคท้องเสียที่มีความรุนแรงสูงและพบได้บ่อย โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่อยู่ในเขตร้อน โดยมีรายงานการเกิดโรคนี้ทั่วโลกประมาณ 160 ล้านคนต่อปี ในการนี้จะเสียชีวิตประมาณ 1ล้านคน ซึ่ง 60% ของผู้เสียชีวิตจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่ของเด็กที่เสียชีวิต จะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา

ส่วนในประเทศไทย รายงานสถิติ รวมโรคบิดทุกสาเหตุ จากกระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวมพบโรคบิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2549 รายงานโรค 30.77 ราย ต่อประชากร 1แสนคน ในปีพ.ศ. 2557 รายงาน 10.28 รายต่อประชากร 1 แสนคน

อนึ่ง ที่เรียกว่า ‘บิดไม่มีตัว’ เพราะเป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กมากที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือมองไม่เห็นด้วยตาจากการใช้กล้องจุลทรรศน์ ต้องใช้การตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระ หรือด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมใน ‘หัวข้อ การวินิจฉัยโรคฯ’) จึงจะรู้ได้ว่า เป็นแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคนี้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคบิดไม่มีตัว?

โรคบิดไม่มีตัว

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อบิดไม่มีตัว หรือแบคทีเรียชิเกลลา คือ

  • เด็กวัย 2-4 ปี
  • เด็กอ่อนในถิ่นระบาดของโรคที่ไม่ได้กินนมแม่
  • การอยู่ในสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเล็ก บ้านพักคนชรา ค่ายทหาร และใน คุก
  • การขาดสุขอนามัย หรือผู้เดินทางในถิ่นที่ขาดสุขอนามัย หรือมีการระบาดของโรค
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

โรคบิดไม่มีตัวก่ออาการได้อย่างไร?

เชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา มีมนุษย์เป็นรังโรค โดยเชื้อจะเจริญเติบโตในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ และปนออกมากับอุจจาระ เมื่อเราสัมผัสกับอุจจาระที่มีเชื้ออยู่ อาจจากมือเรา หรือแหล่งน้ำใช้ น้ำดื่ม อาหาร หรือการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านกระเพาะอาหาร ซึ่งเชื้อทนกรดได้ดี และเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เชื้อจะเจริญเติบโต แบ่งตัวทวีจำนวน และเข้าทำลายเยื่อเมือกบุผนังลำไส้ใหญ่ ก่อให้ผนังลำไส้ใหญ่เกิดการอักเสบรุนแรง และเกิดแผล จึงเกิดเป็นอาการท้องเสีย ที่มีอุจจาระเป็นมูกเลือด ซึ่งก็คือ สารคัดหลั่งจากแผลของผนังลำไส้นั่นเอง ร่วมกับอาการผิดปกติต่างๆ

ผู้มีเชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ได้รับเชื้อ (ช่วงระยะฟักตัวของโรค) ช่วงมีอาการ และภายหลังหายจากอาการแล้ว ซึ่งทั้งหมดรวมเป็นระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ แต่ถ้าได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง เชื้อจะตาย จึงลดการแพร่เชื้อลง เหลือเพียงช่วงระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังการรักษา

ผู้ที่เคยติดเชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลาแล้ว มีโอกาสกลับมาติดเชื้อได้อีก เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้อย่างถาวร

เมื่ออยู่ภายนอกร่างกาย เชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในดิน ในน้ำ ในอาหาร และในฝุ่น มีรายงานว่าเชื้ออยู่ได้นานถึงประมาณ 7 สัปดาห์ ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะ เช่น ในอุจจาระที่ปนอยู่ในดิน

เชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลาสามารถฆ่าตายได้ด้วยสารคลอรีน (Chlorine) และด้วยความร้อนที่สูงกว่า 75 องศาเซลเซียส (Celsius) ดังนั้น น้ำต้มเดือดอย่างน้อย 5-15 นาทีจึงดื่มได้ปลอดภัย

โรคบิดไม่มีตัวมีอาการอย่างไร?

เชื้อบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลาจะก่ออาการหลังจากเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 1-4 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อได้ในช่วงยังไม่ก่ออาการ/ระยะฟักตัว

อาการของโรคบิดไม่มีตัวที่พบได้บ่อย คือ

  • ปวดท้องทันที ปวดท้องได้ในทุกตำแหน่งของช่องท้อง และมักมีอาการแบบปวดบิด
  • ท้องเสีย อุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดเบ่งเมื่อถ่ายอุจจาระ จึงมักเป็นสาเหตุให้เนื้อ เยื่อทวารหนักปลิ้นออกมาตามแรงเบ่ง (Rectal prolapse)
  • มีไข้สูงทันที อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส (Celsius) ดังนั้นเมื่อเกิดโรคในเด็กเล็ก จึงเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดไข้ชักได้
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมลง/น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน มีภาวะขาดอาหาร/ทุโภชนา

อนึ่ง อาการต่างๆมักกลับเป็นปกติหลังการรักษาแล้วประมาณ 10-14 วัน แต่มีผู้ป่วยประ มาณ 3% จะเกิดมีการสร้างสารภูมิต้านทานที่ต้านตนเอง ก่อให้เกิดมีอาการอื่นๆตามมาภาย หลังการติดเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ เรียกว่ากลุ่มอาการ “Reiter’s syndrome หรือ Reactive arthritis” กล่าวคือ มีอาการปวดข้อ ตาแดงจากการอักเสบของเยื่อตา (เยื่อตาอักเสบ) และของผนังลูกตาชั้นกลาง (Uvea) และมีการอักเสบของท่อปัสสาวะ ก่อให้เกิดการปวดแสบเมื่อปัสสา วะ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดตามหลังการติดเชื้อชนิด S.flexneri

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดไม่มีตัวอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลาได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ถิ่นที่อยู่ อาศัย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจหาเชื้อชิเกลลาจากอุจจาระด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ เช่น
    • จากการเพาะเชื้อ
    • จากการตรวจสารภูมิต้านทานด้วยเทคนิคเรืองแสง
    • และ/หรือจากการตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reactor)

รักษาโรคบิดไม่มีตัวอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาประ คับประคองตามอาการ

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Norfloxacin, Ofloxacin, และ Ciprofloxacin
  • การรักษาประคับประคองฯ เช่น
    • ยาลดไข้
    • การให้ดื่มยาสารละลายเกลือแร่ ORS
    • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อมีภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

โรคบิดไม่มีตัวรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

โรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา เป็นโรครุนแรงและเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากการเกิดผล ข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน โดยขึ้นกับ

  • สายพันธุ์ของเชื้อบิด
  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • และผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น มีโรคเรื้อรังประจำตัว

ทั้งนี้ ในส่วนผลข้างเคียงจากโรคบิดไม่มีตัวที่พบได้ เช่น

  • ภาวะขาดน้ำจากอาการท้องเสีย
  • ไข้ชักจากไข้สูง
  • การเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจากพิษจากเชื้อชิเกลลา
  • แผลที่ผนังลำไส้ทะลุ ส่งผลให้เกิด ลำไส้ทะลุ ก่อการติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักแสบ)
  • ภาวะลำไส้ใหญ่หยุดการบีบตัวจากพิษของเชื้อชิเกลลา ซึ่งอาจทำให้ลำไส้ใหญ่แตกทะลุได้ (Toxic megacolon)
  • กลุ่มอาการ Reiter’s syndrome
  • และเนื้อเยื่อทวารหนักปลิ้นออกนอกทวารหนักจากแรงเบ่งอุจจาระ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรค เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ภายหลังพบแพทย์แล้ว และทราบว่าเป็นโรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา การดูแลตนเอง คือ

  • ควรปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • และกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา และไม่หยุดยาก่อนแพทย์สั่ง ถึงแม้อาการจะหายเป็นปกติแล้วก็ตาม
  • นอกจากนั้น คือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และป้อง กันไม่ให้เชื้อแพร่สู่ผู้อื่น
    • ใช้ส้วมเสมอเมื่อถ่ายอุจจาระ
    • ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
    • ช่วงยังมีอาการ ควรกินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์)
    • รักษาความสะอาดทุกขั้นตอนในการปรุงอาหาร น้ำดื่ม และน้ำใช้
    • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น กลับมามีอุจจาระเป็นมูกเลือดอีก
    • หรืออาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดท้องมาก, กลับมามีไข้สูง, ปัสสาวะน้อย, ไม่มีปัสสาวะ เป็นต้น
    • หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกมากต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคบิดมีตัวอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลา แต่กำลังมีการศึกษาที่คาดว่าน่า จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในเร็ววันนี้ แต่จะป้องกันโรคได้เฉพาะจาก 3 สายพันธุ์ที่พบก่อโรคได้บ่อย คือ S.dysenteriae type 1, S. flexneri, และ S. sonnei

การป้องกันโรคบิดไม่มีตัว/บิดชิเกลลาในขณะนี้ คือ การลดโอกาสติดเชื้อ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รักษาความสะอาดของ อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ โดยเฉพาะเมื่อท่องเที่ยวในถิ่นระบาดของโรค หรือสถานที่ที่ขาดสุขอนามัย
  • กินอาหารปรุงสุกทั่วถึงเสมอ
  • ผัก ผลไม้ สด ต้องล้างให้สะอาดก่อนบริโภค ระวังการกินน้ำแข็ง
  • รักษาความสะอาด เสื้อผ้า เครื่องใช้โดยเฉพาะในการปรุงอาหาร
  • ล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ รวมทั้งการสอนเด็กๆให้รู้จักคุณค่าของการล้างมือและวิธีล้างมือ
  • ไม่ใช้ ช้อนและแก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
  • ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ’ ตามสโลแกนของกระทรวงสาธารณสุข
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • เลี้ยงเด็กอ่อนด้วยนมแม่
  • เมื่อเด็กท้องเสีย ควรให้เด็กหยุดโรงเรียนจนกว่าจะหาย เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ
  • ทิ้งทิชชูที่ทำความสะอาดจากท้องเสีย ให้เป็นที่ทาง ถูกหลักอนามัย
  • เมื่อเราท้องเสีย ควรหยุด ไม่ควรทำครัว หรือปรุงอาหารให้ผู้อื่น
  • ใช้ส้วมเสมอเมื่อถ่ายอุจจาระ
  • ช่วยกันดูแลชุมชนที่อยู่อาศัยให้มีสุขอนามัย

บรรณานุกรม

  1. Choompook, P. et al. (2006). Risk factor for shikellosis in Thailand. International Journal of Infectious Diseases. 10, 425-433.
  2. Musher, D., and Musher, B. (2004). Contagious acute gastrointestinal infections. N Engl J Med. 351, 2417-2427.
  3. Sur, D. et al. (2004). Shigellosis: challenges & management issue. Indian J Med Res. 120, 254-462.
  4. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/ConditionsAndTreatments/gastroenteritis-shigella [2018,Dec29]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/968773-overview#showall [2018,Dec29]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/182767-overview#showall [2018,Dec29]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Shigellosis [2018,Dec29]
  8. http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/07/dysentery.pdf [2018,Dec29]