โรคทางเดินอาหารอักเสบในเด็กกับโรคแทรกซ้อนจากภาวะภูมิคุ้มกัน

การศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของ “บันทึกโรคในวัยเด็ก” (Archives of Disease in Childhood) เปิดเผยว่า เด็กๆ (รวมทั้งเยาวชน) ที่เป็นโรคทางเดินอาหารอักเสบ มีความเสี่ยงที่จะวิวัฒนาไปเป็นโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Lupus)/โรคพุ่มพวง และภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน อาทิ โรคโครห์น (Crohn) [ซึ่งเป็นโรคทางเดินอาหารอักเสบโรคหนึ่งที่เกิดได้ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก] และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulceartive colitis)

โรคต่างๆดังกล่าว เชื่อมโยงโดยตรงกับโรคข้อรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่ ตามการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าความสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกันนั้นเกิดขึ้นในผู้ป่วยเด็กหรือไม่ จนกระทั่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูล 24 เดือน จาก 87 แผนงานดูแลสุขภาพในสหรัฐอเมริกา โดยแยกแยะโรคตามประเภท (International Classification of Diseases: ICD) ฉบับที่ 9 ระหว่างกลุ่มภายใต้การศึกษาวิจัย (Subject) เปรียบเทียบกับกลุ่มภายใต้การควบคุม (Control)

ผลปรากฎว่า ในจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารอักเสบ 1,225 รายที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นั้น 737 ราย (โดยมี 1,997 ราย ภายใต้การควบคุม) เป็นโรคโครห์น และอีก 488 ราย (โดยมี 1,310 ราย ภายใต้การควบคุม) เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง ผู้ป่วยแต่ละคนดังกล่าว จะได้รับการจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ภายใต้การควบคุม ตาม

  1. อายุ
  2. เพศ และ
  3. สิ่งแวดล้อม

ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม มีอายุเฉลี่ย 15 ปี เป็นเด็กชาย 54% นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่เป็น โรคหอบหืด ผิวหนังอักเสบเป็นผื่น จมูกอักเสบเป็นภูมิแพ้ โรคเบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส และโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงไปยังการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปรกติ

ทีมนักวิจัยเปิดเผยผลการวิเคราะห์ว่า โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส และภาวะขาดไทรอยด์ จะพบบ่อยในผู้ป่วยโรคโคห์น มากกว่ากลุ่มภายใต้การควบคุม ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะพบบ่อย มากกว่า ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วย โรคหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบเป็นผื่น โรคจมูกอักเสบเป็นภูมิแพ้ จะพบในเด็กทุกคน [ที่อยู่ในการศึกษาวิจัยนี้] และโรคทางเดินอาหารอักเสบในเด็กและโรคข้อรูมาตอยด์ อาจมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อม หรือทางพันธุกรรมร่วมด้วย

แต่ทีมนักวิจัยก็มีคำเตือนที่ควรระวังว่า

  1. อาจเป็นไปได้ที่การจัดประเภทของโรคทางเดินอาหารอักเสบนั้นไม่ถูกต้อง
  2. การศึกษาครั้งนี้มิได้รับการออกแบบเพื่อกำหนดว่าภาวะภูมิคุ้มกันได้รับการจัดกลุ่มภายในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยหรือไม่ และ
  3. ผลจากการศึกษาครั้งนี้ไม่สามารถสรุปใช้กับประชากรทั้งหมดได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Immune diseases' gastrointestinal link: http://online.wsj.com/article/SB10001424052970203687504577004131120505396.html [2011, November 9].
  2. Original Abstract. http://adc.bmj.com/content/early/2011/09/07/archdischild-2011-300633.abstract [2011, November 9].