โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection) คือ โรคจากกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ  H.pylori ซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (ตำแหน่งกระเพาะอาหาร) เรื้อรัง, และในระยะยาวเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหารได้ 

เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือย่อว่า เอชไพโลไร/ H.pylori) คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งการติดต่อเกิดขึ้นระหว่างคนสู่คน เชื้อนี้ที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร, ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการ, แต่ในบางราย เชื้ออาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือ แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเปบติค) รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกระเพาะอาหาร, ซึ่งมียาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อนี้ สำหรับรักษาให้โรคติดเชื้อนี้ให้หายได้

โรคติดเชื้อเอชไพโลไร หรือการติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori infection) พบได้ทั่วโลก ซึ่งประมาณการว่าประชากรทั่วโลกอย่างน้อย 50% มีการติดเชื้อชนิดนี้อยู่ โดยประเทศด้อยพัฒนาพบมีการติดเชื้อมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากการดูแลด้านสุขอนามัยแตกต่างกัน ในประเทศที่เจริญแล้วแถบตะวันตก พบการติดเชื้อนี้ในประชากร ประมาณ 25%, พบใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย(บางรายงานพบในเพศหญิงสูงกว่าเล็กน้อย),  พบทุกอายุ ตั้งแต่ในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุโดยจะพบสูงขึ้นตามอายุ, สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาของโรคนี้ที่ชัดเจน

อะไรเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อเอชไพโลไร? มีวิธีแพร่เชื้อได้อย่างไร?

โรคติดเชื้อเอชไพโลไร

 

นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเป็นคนแรกที่ค้นพบว่า มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งรูปร่างเป็นเกลียว สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของเราได้ ทั้งๆที่กระเพาะอาหารของเราเป็นกรดและมีน้ำย่อยที่สามารถทำลายเชื้อโรคหลายๆชนิดได้ โดยพบเมื่อปี พ.ศ. 2418 แต่ไม่สามารถเพาะเชื้อพิสูจน์ได้, ต่อมา Walery Jaworski แพทย์ชาวโปแลนด์ ก็พบแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเกลียวเช่นกันจากน้ำล้างกระเพาะอาหาร และเป็นคนแรกที่ให้ข้อสันนิษฐานว่า เชื้อชนิดนี้น่าจะทำให้เกิดโรคของกระเพาะอาหาร การศึกษาและค้นพบต่อๆมา ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน, จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 พยาธิแพทย์ Robin Warren และนักวิทยาศาสตร์ Barry Marshall ชาวออสเตรเลีย สามารถเพาะเชื้อแบคทีเรียที่เก็บมาจากกระเพาะอาหารได้สำเร็จ จึงเป็นการพิสูจน์ว่า แบคทีเรียชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของเราได้จริง, นอกจากนี้ Marshall ยังเป็นคนพิสูจน์ว่า แบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคในกระเพาะอาหาร โดยทดลองดื่มเอาเชื้อแบคทีเรียที่เพาะขึ้นมาเข้าไป หลังจากนั้นหลายวันเขารู้สึกมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อครบ 10 วัน เขาได้ส่องกล้องตรวจดูกระเพาะอาหาร พบว่ากระเพาะอาหารมีลักษณะของการอักเสบ และพบเชื้อแบคทีเรียอยู่ การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ทั้ง 2 คนได้รับรางวัลโนเบิล สาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาในปี พ.ศ. 2548

การค้นพบในช่วงแรก ได้ให้ชื่อแบคทีเรียชนิดนี้ว่า Campylobacter pyloridis หรือ Campylobacter pylori เนื่องจากแบคทีเรียมีรูปร่างเป็นเกลียวเหมือนกับแบคทีเรียในสกุล Campylobacter spp. ต่อมาเมื่อศึกษาถึงคุณสมบัติของเชื้อมากขึ้น ทำให้ทราบว่า เชื้อเป็นคนละสกุลกับแบคทีเรีย Campylobacter spp. จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Helicobacter pylori หรือ ย่อว่า H. pylori

เชื้อแบคทีเรีย เอชไพโลไร อาศัยอยู่ในร่างกายของคนเป็นหลัก แทบไม่พบในสัตว์หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และคาดว่าอาศัยอยู่กับมนุษย์มาหลายหมื่นปีแล้ว

สำหรับวิธีการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งนั้นยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะติดต่อกันทางน้ำลาย (Oral-oral route) โดยอาจติดจากการกินอาหารโดยใช้ช้อนร่วมกัน, การจูบปากกัน, เป็นต้น ดังนั้น การติดต่อมักมาจากบุคคลในบ้านเป็นหลัก, นอกจากนี้การกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระ (Fecal-oral route) ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ เพราะพบว่าสามารถเพาะเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรจากอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อได้

นอกจากเชื้อเอชไพโลไรแล้ว ยังพบเชื้อชนิดอื่นๆที่มีคุณสมบัติคล้ายกันอีก เช่น Helicobacter heilmanii ซึ่งพบอยู่ในสัตว์หลายชนิดรวมถึงหมาและแมว ซึ่งเชื้ออาจติดมาสู่คนและทำให้เกิดโรคของกระเพาะอาหารได้ด้วย ถือได้ว่าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนโรคหนึ่ง (เรียกว่า Zoonosis), นอกจากนี้ ก็มีเชื้อ Helicobacter felis พบในหมาและแมวเป็นหลัก, เชื้อ Helicobactor acinonychis พบในเสือชนิดต่างๆเป็นหลัก, และเชื้อ Helicobactor mustelae พบในตัวเฟอเรท (Ferret/สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง) เป็นต้น

โรคติดเชื้อเอชไพโลไรมีพยาธิกำเนิดอย่างไร?

พยาธิกำเนิดหรือกลไกในการติดเชื้อเอชไพโลไร ได้แก่ เมื่อคนเรากินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปแล้ว เชื้อก็จะเข้าสู่กระเพาะอาหารของเรา และใช้หนวดที่ยื่นยาว (Flagellum) รวมถึงรูปร่างที่เป็นเกลียว ช่วยในการเคลื่อนไหวตัวเข้าไปอยู่ในชั้นเยื่อเมือก (Mucous) ที่เคลือบอยู่บนเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร และเข้าไปเกาะอยู่กับเซลล์เยื่อบุผิว ทั้งนี้การอยู่ในชั้นเยื่อเมือก จะช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียถูกขับออกไปจากกระเพาะอาหาร จากการบีบรัดตัวของกระเพาะอาหารเวลาย่อยอาหาร อีกทั้งค่าความเป็นกรดในชั้นเยื่อเมือกนี้ก็จะไม่เป็นกรดมากเท่าบริเวณที่อยู่นอกชั้นเยื่อเมือก นอกจากนี้แบคทีเรียนี้ยังมีเอนไซม์ชื่อ Urease ที่สามารถย่อยสลายสารยูเรียที่มีอยู่ในกระเพาะอาหาร ให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และแอมโมเนีย ซึ่งช่วยให้เกิดภาวะความเป็นด่าง ช่วยทำให้ความเป็นกรดรอบๆตัวของแบคทีเรียอ่อนลงได้ แบคทีเรียชนิดนี้จึงสามารถเอาตัวรอดอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของเราได้

เมื่อมีแบคทีเรียเข้ามาในร่างกาย ร่างกายก็พยายามจะกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งการส่งเม็ดเลือดขาว และสร้างแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody) มาเพื่อทำลายแบคทีเรีย แต่ก็ไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียนี้ได้

เชื้อเอชไพโลไร มีอยู่หลายชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีความแตกต่างในการสร้างชนิดโปรตีน และสารเคมีที่มีปฏิกิริยาต่อเซลล์เยื่อบุผิวที่แตกต่างกันไป, แต่โดยภาพรวมแล้ว โปรตีนและสารเคมีที่สร้างขึ้นมา จะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆที่อยู่ในกระแสเลือด เดินทางมาที่บริเวณเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร และปล่อยสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบออกมา เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารก็จะเกิดการอักเสบ, เชื้อชนิดย่อยๆบางชนิด สามารถกระตุ้นการอักเสบได้รุนแรง และทำให้มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็กส่วนต้นได้มากกว่าชนิดย่อยๆอื่นๆ เช่น ชนิดย่อยที่มีสารพันธุกรรมที่เรียกว่า Cag pathology island (cag PAI )

 ดังนั้น:

  • ในผู้ที่ติดเชื้อ เอช ไพโลไร ทุกราย จะมีการอักเสบของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดขึ้น เรียกว่า กระเพาะอาหารอักเสบ  ซึ่งการอักเสบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อ, และชนิดย่อยของเชื้อ,  ทั้งนี้ การอักเสบจะเกิดขึ้นตลอดเวลาที่ยังมีเชื้ออยู่  ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพียง 15% ที่จะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer) ที่รวมเรียกว่า แผลเปบติค (Peptic ulcer) หรือกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ซึ่งการจะเกิดโรคดังกล่าวเหล่านี้ ต้องมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน
    • ทั้งปัจจัยจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มักเกิดจากชนิดย่อยที่มีความรุนแรงในการทำให้เกิดการอักเสบ
    • ปัจจัยจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในผู้ติดเชื้อแต่ละคน และ
    • ปัจจัยภายนอกอื่นๆที่ร่วมกระตุ้นให้เกิดโรคนั้นๆได้มากขึ้น เช่น
      • การดื่มแอลกอฮอล์
      • การดื่ม ชา กาแฟ
      • การกินยาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs)
      • การสูบบุหรี่
      • การกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitosamine) ซึ่งมักพบในปลาเค็ม แหนม ไส้กรอก หมูยอ ปลาส้ม เป็นต้น

กลไกในการเกิดแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) เริ่มจากเมื่อมีการอักเสบของเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหารส่วนปลาย (Antrum) ทำให้เซลล์เยื่อบุผิวชนิดที่สร้างฮอร์โมน Somatostatin มีจำนวนลดลง ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน Gastrin เมื่อการสร้างฮอร์โมน Somatostatin ลดลง ฮอร์โมน Gastrin ก็จะเพิ่มขึ้น

ฮอร์โมน Gastrin นี้จะไปกระตุ้นเซลล์เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารชนิดที่หลั่งกรดให้หลั่งกรดมากขึ้น อาหารจากกระเพาะอาหารที่มีความเป็นกรดสูงนี้ก็จะเคลื่อนสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น  โดยปกติเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กจะไม่ทนต่อความเป็นกรดสูงๆ เมื่อโดนความเป็นกรดสูงๆจากอาหารเข้าบ่อยๆ ลำไส้เล็กก็จะสร้างเซลล์เยื่อบุผิวขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีรูปร่างและคุณสมบัติเช่นเดียวกับเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เรียกว่าเกิด Gastric metaplasia เชื้อเอช ไพโลไร จากกระเพาะอาหารก็จะเข้ามาเกาะที่เซลล์เยื่อบุผิวชนิดใหม่ที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสร้างขึ้นนี้ และทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นแผลได้ในที่สุด

ในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร เริ่มต้นจากมีการอักเสบของเยื่อบุผิวบริเวณกระเพาะอาหารส่วนกลาง (Corpus), หรือมีการอักเสบในทั้งสามส่วนของกระเพาะอาหาร (ทั้ง Fundus/ส่วนต้น, Corpus/ส่วนกลาง และ Antrum/ส่วนปลาย), เซลล์เยื่อบุผิวชนิดที่หลั่งกรด ซึ่งอยู่บริเวณกระเพาะอาหารส่วนต้นและส่วนกลาง จะมีปริมาณลดลง และทำให้การหลั่งกรดลดลงไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยที่มีแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นที่การหลั่งกรดจะเพิ่มขึ้น แผลมักจะเกิดบริเวณรอยต่อของกระเพาะอาหารส่วนกลางและส่วนปลาย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการอักเสบมาก

เซลล์เยื่อบุผิวชนิดที่หลั่งกรด ยังมีหน้าที่หลั่งสารที่เรียกว่า Intrinsic factor ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการดูดซึม 'วิตามินบี 12' ที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ซึ่งวิตามินชนิดนี้ มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง, ซึ่งเมื่อมีการอักเสบของกระเพาะอาหาร จึงมีจำนวนเซลล์ชนิดนี้ลดลง จึงส่งผลให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ลดลง, ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิด ‘โลหิตจางจากขาดวิตามินบี 12)’,   

นอกจากนี้ หากการหลั่งกรดลดลงมาก กระเพาะอาหารก็จะอยู่ในสภาพที่แทบไม่มีความเป็นกรด (Hypochlorhydria) หรือรุนแรงจนถึงเกิดภาวะไร้กรดเกลือ (Achlorhydria)  ซึ่งมีผลให้การดูดซึมธาตุเหล็กที่ลำไส้เล็กลดลงเช่นกัน ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ร่วมได้อีกด้วย

การอักเสบของเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน ทำให้สารพันธุกรรมบางตัวถูกทำให้เสียหาย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงไป, หากมีจำนวนเซลล์ที่มีสารพันธุกรรมที่เสียหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด, โดยจะเกิดเป็นมะเร็งของเยื่อบุผิวชนิด Adenocarcinoma (มะเร็งกระเพาะอาหาร), หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร ชนิด Mucosa-associated lymphoid tissue lymphoma (MALT lymphoma)

นอกจากนี้ มีรายงานว่า การติดเชื้อ H.pylori อาจมีความเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดโรคอื่นๆด้วย เช่น โรค/ภาวะเกล็ดเลือดต่ำชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenic purpura), โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต แต่หลักฐานและพยาธิสภาพในการเกิดโรคมะเร็งเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน ต้องรอการศึกษาต่อไป

โรคติดเชื้อเอชไพโลไรมีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรเข้าไปแล้ว จะเกิดพยาธิสภาพของกระเพาะอาหารอักเสบ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ, ในบางรายที่มีอาการ ก็จะมีอาการเหมือนอาการของโรคกระเพาะอาหารจากทุกสาเหตุ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียดลิ้นปี่ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการอิ่มเร็วหลังกินอาหาร หรือมีอาการหิวมากในตอนเช้าที่ตื่นนอน

ในผู้ป่วยบางราย เมื่อมีการอักเสบที่รุนแรงเกิดขึ้นจนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (แผลเปบติก) อาการดังกล่าวข้างต้น ก็จะรุนแรงมากขึ้น, นอกจากนี้ อาจมีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีลักษณะเหมือนยางมะตอยได้ (อุจจาระเป็นเลือด)จากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กอาจมีเลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่เลือดจะค่อยๆซึมออกจากแผล เมื่อเลือดค่อยๆไหลผ่านลำไส้ใหญ่ ธาตุเหล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเม็ดเลือดแดง จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้มองเห็นเป็นสีดำ เมื่อเราถ่ายอุจจาระออกมา จึงเห็นอุจจาระเป็นสีดำ

 ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจากเชื้อเอชไพโลไรจะมีอาการของกระเพาะอาหารอักเสบที่เป็นเรื้อรัง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ, การใช้ยาลดกรด และยาแก้ปวดท้อง มักไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น, นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลดอย่างมีนัยสำคัญ

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชไพโลไรได้อย่างไร?

ทั่วไป เมื่อผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดแน่นท้อง จุกเสียดลิ้นปี่ ท้องอืด มักได้รับการวินิจฉัยจากอาการเหล่านี้ว่า เป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบของกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น,  ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิด อาจเป็นผลจากการติดเชื้อเอชไพโลไร หรือจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ เช่น การใช้ยาแก้ปวดลดอักเสบกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เป็นต้น, ดังนั้นในเบื้องต้น แพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาลดกรด, ยาแก้ปวดท้อง, และแนะนำให้ผู้ป่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุไปก่อน

หากอาการของผู้ป่วยเป็นเรื้อรัง ไม่ดีขึ้น อาการรุนแรง หรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จึงจะใช้การตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscope), ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่พบจากการส่องกล้องเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ป่วยมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นหรือไม่ (การตรวจทางพยาธิวิทยา) และเป็นแผลมะเร็งของกระเพาะอาหารหรือไม่ รวมทั้งการพิสูจน์ว่ามีการติดเชื้อเอชไพโรไล ร่วมด้วยหรือไม่

 ทั้งนี้ การพิสูจน์ว่ามีการติดเชื้อเอชไพโลไรหรือไม่นั้น ทำได้หลายวิธี  เช่น                 

  • การตัดชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก แล้วนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีที่เรียกว่า Urease test, หรืออาจนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งนอกจากจะตรวจหาเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว ยังสามารถประเมินความรุนแรงของการอักเสบ และเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะ เร็งกระเพาะอาหารหรือไม่
  • การนำสารคัดหลั่งหรือชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารไปเพาะเชื้อ: วิธีนี้มักจะใช้เพื่อต้องการดูความไว/การตอบสนองของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ให้ยาไป 2 ครั้งแล้ว เชื้อแบคทีเรียนี้ยังไม่หายไป
  • การให้ผู้ป่วย ดื่มสารยูเรียที่มีสารกัมมันตภาพรังสี หากผู้ป่วยมีเชื้อ เอชไพโลไร เชื้อจะไปย่อยสารยูเรีย กลายเป็นแอมโมเนียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีสารกัมมันตภาพรังสีติดอยู่ ซึ่งจะตรวจพบสารดังกล่าวจากลมหายใจออกของผู้ป่วยได้ เรียกการตรวจนี้ว่า ‘Urea breath test’
  • การตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อจากอุจจาระ (Stool antigen test)

รักษาโรคติดเชื้อเอชไพโลไรอย่างไร?

การรักษาโรคติดเชื้อเอชไพโลไร คือ การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ, ร่วมกับการให้ยาลดกรด จะให้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการส่องกล้อง และตรวจพบแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ร่วมกับการตรวจพบเชื้อเอช ไพโลไร, หรือให้ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารแล้วไม่ได้ส่องกล้องตรวจ แต่ตรวจพบเชื้อ เอช ไพโลไร ด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวใน 'หัวข้อ การวินิจฉัยฯ'

ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเชื้อแบคทีเรียนี้ จะประกอบด้วยยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิด การใช้ยาชนิดเดียวพบว่า ไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ นอกจากนี้ จะต้องให้ยาลดกรดควบคู่ไปด้วย, การให้ยาจะอยู่ในรูปแบบรับประทานโดยให้นานประมาณ 7-14 วัน, หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จะตรวจดูอีกครั้งว่า ยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหรือไม่ ซึ่งอาจใช้วิธี Urea breath test หรือ Stool antigen test,  หากยังพบเชื้ออยู่ จะต้องรักษาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะที่ให้, หลังจากนั้นก็จะตรวจซ้ำเช่นเดิม หากยังไม่หาย ต้องมีการนำเชื้อแบคทีเรียไปเพาะเชื้อ เพื่อทดสอบความไวของยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆต่อเชื้อ

สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารชนิด (MALT lymphoma) ที่ตรวจพบเชื้อ เอช ไพโลไร พบว่าการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ มีโอกาสทำให้โรคหายได้,  ส่วนโรคมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดทั่วไป (Adenocarcinoma) การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไม่สามารถทำให้โรคหายได้, ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น  การผ่าตัด อาจร่วมกับ การให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสีรักษา

ผลข้างเคียงจากโรคและการพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อเอชไพโลไรเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคและการพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อเอช ไพโลไร เช่น

  • ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษาจนเชื้อแบคทีเรียหาย มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่ค่อน ข้างน้อย โดยการติดเชื้อซ้ำมักจะเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หากได้รับปฏิชีวนะรักษาจนเชื้อหายไป แผลจะสามารถหายได้เป็นปกติ
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น แล้ว’ไม่ได้รับ’การรักษา หากมีการเสียเลือดจากการมีเลือดออกจากแผลเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง/ภาวะซีดได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย ในบางครั้งหากมีเลือดออกปริมาณมาก ผู้ป่วยก็จะแน่นท้อง และอาจอาเจียนออกมาเห็นเป็นสีกาแฟได้ เรียก Coffee ground ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการใจสั่น หน้ามืด มีความดันโลหิตต่ำ จนถึงภาวะช็อก หมดสติได้

โรคติดเชื้อเอชไพโลไรมีการดูแลตนเองและการป้องกันอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันการติดเชื้อเอชไพโลไรทั่วไป ได้แก่

  • การดูแลสุขอนามัยที่ดี ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อลงได้บ้าง
  • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อ เอช ไพโลไร และได้รับยาปฏิชีวนะรักษา การกินยาให้ครบตามจำนวนวันที่กำหนด เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื้อมีโอกาสดื้อยาได้ง่าย ทำให้การรักษาอาจไม่ได้ผล
  • มีการคิดค้นวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ เอช ไพโลไร ซึ่งพบว่า มีประสิทธิ ภาพเพียงพอที่จะป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมทั้งมะเร็งของกระเพาะอาหารได้ แต่เนื่องจากมีการศึกษาบางการศึกษา พบว่า ในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ เอช ไพโลไร มีอัตราการป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน  ลดลง รวมถึงโรคที่เกี่ยวเนื่องจากกรดไหลย้อน ซึ่งคือมะเร็งหลอดอาหารในส่วนล่างที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร ก็พบน้อยกว่าด้วย จึงเป็นไปได้ว่า เชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร สามารถป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ได้ ทำให้การฉีดวัคซีนยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากหากนำมาใช้จนผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียมีจำนวนลดน้อยลงมากแล้ว อาจพบโรคกรดไหลย้อนและมะเร็งของหลอดอาหารส่วนล่างเพิ่มมากขึ้นแทน อีกทั้งเชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่กับมนุษย์มานานมากแล้ว การกำจัดเชื้อให้หมดไป อาจทำให้มนุษย์เราพบโรคบางอย่างอื่นๆเพิ่มมาแทนก็ได้
  • ด้วยเหตุผลเดียวกับข้างต้น การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อ H.pylori และ/หรือการกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ที่ตรวจพบเชื้อนั้น จึงไม่แนะนำให้ปฏิบัติ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดแน่นท้อง จุกเสียดลิ้นปี่ ท้องอืด หลังจากได้กินยาลดกรดรักษา ร่วมกับการงดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นเหตุให้กระเพาะอาหารอักเสบ เช่น งดการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เป็นต้น,  ‘หากอาการยังไม่ดีขึ้น และ/หรือ รุนแรงขึ้น’ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อประเมินโดยการส่องกล้องตรวจ ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร

บรรณานุกรม

  1. John C. Atherton, Martin J. Blaser, Helicobacter pylori infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. “William D.Chey, Benjamin C.Y. Wong, American college of gastroenterology guideline on the management of Helicobacter pylori infection. Am J Gastroenterol, 2007;102:1808-1825.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Helicobacter_pylori [2023,April8]