โรคซีไอดีพี โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP: Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการชาและอ่อนแรงของแขนขา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความพิการถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาล่าช้าหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม การอักเสบของเส้นประสาทเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการชาและอ่อนแรงของแขนขา สาเหตุเกิดจากอะไร ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอย่างไร ต้องรีบพบแพทย์หรือไม่ รักษาอย่างไร จะหายดีหรือไม่ ลองติดตามบทความนี้ครับ

โรคเส้นประสาทอักเสบคืออะไร? มีกี่ระยะ?

โรคซีไอดีพี

โรคเส้นประสาทอักเสบ คือ โรคที่เกิดการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) โดยมีการอักเสบทั้งส่วนของปลอกหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาท (Myelin sheath) และ/หรือ แกนกลางเส้นประสาท/แอกซอน(Axon) ส่งผลให้การนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประ สาทส่วนปลายเสียไป จึงส่งผลให้มีอาการผิดปกติ มีอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

โรคเส้นประสาทอักเสบประกอบด้วย 2 ระยะ คือ

  1. โรคเส้นประสาทอักเสบแบบระยะเฉียบพลัน (Acute inflammatory demyelinating polyradiculoneurophaty: AIDP หรือ เอไอดีพี) หรือ Guillain Barre’syndrome (GBS: โรคจีบีเอส) โดยโรคนี้มีระยะเวลาการดำเนินโรคภายในเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักภายใน 2 สัปดาห์ โดยในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงโรคในระยะนี้ แต่ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความต่างหาก อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส
  2. โรคเส้นประสาทอักเสบแบบระยะเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty หรือ Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy: CIDP หรือ โรคซีไอดีพี) โดยมีระยะเวลาการดำเนินโรคนานมากกว่า 6 - 8 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคเส้นประสาทอักเสบระยะเรื้อรังนี้เท่านั้น

โรคซีไอดีพีมีสาเหตุจากอะไร? พบได้บ่อยไหม?

โรคซีไอดีพี พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1 - 2 รายต่อประชากร 100,000 คน และถ้าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปพบได้ประมาณ 7 รายต่อประชากร 100,000 คน

สาเหตุของโรคซีไอดีพี เกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กาย ที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ แล้วภูมิคุ้มกันฯที่ผิดปกตินั้นมาทำลายเส้นประ สาทในส่วนของปลอกเยื่อหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาทเป็นหลัก

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคซีไอดีพี ?

โรคซีไอดี พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ผู้สูงอายุพบได้บ่อยกว่าคนอายุน้อย และผู้ที่พบเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป คือ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน, โรคที่มีความผิดปกติของโปรตีนในเลือด, โรคมะเร็ง, โรคเอชไอวี, ผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการถ่ายทอดโรคนี้ทางพันธุกรรม

โรคซีไอดีพีมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคซีไอดีพี ประกอบด้วย

  1. อาการระบบความรู้สึกผิดปกติ ได้แก่ ชา เจ็บ เสียวแปล๊บ เหมือนมีแมลงหรือมดไต่บริเวณมือ แขน เท้า ขา
  2. อาการระบบกล้ามเนื้อผิดปกติ ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรงของมือ เท้า แขน ขา ทั้งส่วนต้นและ/หรือส่วนปลายของแขนขา ทั้ง 2 ข้าง
  3. อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น มึนงงศีรษะ วิงเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทาง ระบบขับถ่ายผิดปกติ รวมทั้งการเต้นของหัวใจก็อาจผิดปกติได้
  4. อาการผิดปกติของเส้นประสาทสมอง เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท หรือมองเห็นภาพซ้อน (แต่พบได้ไม่บ่อย)
  5. อาการเดินผิดปกติเนื่องจากมีอาการอ่อนแรงและเสียความรู้สึกของ เท้า ขา ทำให้เดินลำบาก หรือเดินเซ

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ที่เป็นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และ/หรืออาการเป็นนานมากกว่า 1 - 2 สัปดาห์ และเป็นอาการที่ไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลเสมอ เพื่อให้การดูแลและวินิจฉัยโรคต่อไป (แต่ถ้ามีอาการแขน ขาอ่อนแรงเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที)

แพทย์วินิจฉัยโรคซีไอดีพีอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคซีไอดีพีได้จาก ลักษณะอาการทางคลินิกที่กล่าวในหัวข้อ อาการ เช่น อาการชา อาการอ่อนแรงของแขน ขา มือ เท้าทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิดปกติดังกล่าว เช่น พบมีอาการชาและอ่อนแรงของแขนขาจริง ตรวจรีเฟล็กซ์ (Reflex) จะพบว่า ผิดปกติทั้งแขนและขาทั้งสองข้าง ซึ่งอาการต่างๆดัง กล่าวจะค่อยๆเป็นมากขึ้น ใช้เวลาในการดำเนินโรคนานมากกว่า 6 สัปดาห์

หลังจากได้ทราบประวัติทางการแพทย์และจากการตรวจร่างกาย แพทย์ก็จะพิจารณาส่งตรวจกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ) การส่งตรวจเลือดดูค่าโปรตีนและสารต่างๆ และเจาะตรวจหาความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะหลัง)

ก. การตรวจกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ จะสามารถบอกแยกได้ว่า ผู้ ป่วยมีความผิดปกติของเส้นประสาทหรือของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าเป็นโรคซีไอดีพี ก็จะตรวจพบว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทเป็นหลัก และสามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดปกติของปลอกเยื่อหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาท (Myelin sheath) หรือ แกนหลักของเส้นประสาท/แอกซอน (Axon) โดยไม่พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อ

ข. การตรวจเลือด มีวัตถุประสงค์หลัก คือ

  1. ตรวจหาสาเหตุของโรคซีไอดีพี เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี, โรคเอสแอลอี, ความผิดปกติของโปรตีน, โรคเบาหวาน
  2. ตรวจหาโรคร่วมอื่นๆซึ่งต้องระวัง เมื่อมีการใช้ยารักษาโรคซีไอดีพี เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ, โรควัณโรค, ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

ค. การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะหลัง) มีความสำคัญมากเพราะเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการวินิจฉัย คือ จะตรวจพบลักษณะเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนไม่สูง และพบโปรตีนมีระดับสูงขึ้น

ง. การวินิจฉัยโรคซีไอดีพี ไม่จำเป็นต้องตรวจเอมอาร์ไอระบบประสาท ยกเว้นแพทย์จะมีวินิจฉัยแยกโรคที่คิดว่าเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทจึงจะส่งตรวจ

โรคหรือภาวะใดที่มีลักษณะคล้ายโรคซีไอดีพี?

โรคหรือภาวะที่มีลักษณะคล้ายกันและจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคออกจากโรคซีไอดีพี คือ

  1. โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน
  2. โรคจีบีเอส (Gullanin Barre’ syndrome) ที่ไม่หาย
  3. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี
  4. โรคเส้นประสาทอักเสบเหตุความผิดปกติของโปรตีนในเลือด
  5. โรคเส้นประสาทอักเสบสาเหตุจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
  6. โรคเส้นประสาทอักเสบเหตุไตวาย
  7. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี

รักษาโรคซีไอดีพีอย่างไร?

การรักษาโรคซีไอดีพีประกอบด้วย

  1. การใช้ยาสเตียรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) ขนาดสูงเป็นระยะเวลาหลายเดือน ขึ้นกับผลการตอบสนองต่อการรักษา
  2. การใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ร่วมกับยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูง
  3. การใช้ยาที่เป็นสารภูมิต้านทานโรค ที่เรียกว่าอิมมูโนกลอบบลูลิน (Immunoglobulin )
  4. การฟอกเลือด (Plasma exchange) การฟอกเลือดมีวัตถุประสงค์เพื่อนำภูมิต้านทานที่ผิดปกตินั้นออกจากร่างกาย ใช้รักษากรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันฯ
  5. การทำกายภาพบำบัด

โรคซีไอดีพีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาโรคซีไอดีพี อยู่ในเกณฑ์ดีในระดับหนึ่ง ประมาณ 60 -75% ตอบสนองต่อการรักษาและได้ผลดี ส่วนที่เหลือต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด

ผู้ป่วยกลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาดีนั้น มีโอกาสรักษาหายเป็นปกติได้มากกว่า 50% ผู้ที่ไม่หายดีอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อเล็กน้อย

ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษานั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกันฯและการฟอกเลือด หรือการให้ยาอิมมูโนกลอบบลูลิน ซึ่งก็ให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรักษา ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ความรุนแรงของโรค, โรคร่วมที่พบด้วย เพราะจะเป็นตัวจำกัดวิธีการรักษา เช่น เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย การให้ยาสเตีย รอยด์ก็จะให้ได้ลำบาก เพราะทำให้มีระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น และโรคเบาหวานเองก็มีผลเสียต่อเส้นประสาทอยู่แล้วด้วย, และผู้ที่มีอายุมากก็ตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่ดี

อนึ่ง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้ คือประมาณ 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด กรณีที่เป็นซ้ำนั้นผลการรักษาก็ไม่ดี และยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคเกิดเป็นซ้ำ

โรคซีไอดีพีก่อภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของโรคซีไอพีดี คือ อาการอ่อนแรงที่ไม่หายเป็นปกติ ส่งผลให้เดินไม่สะดวก กล้ามเนื้อลีบ และอาการปวดเหตุจากเส้นประสาทอักเสบ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคซีไอดีพี ประกอบด้วย

  1. การทานยาต่างๆตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา และหมั่นสังเกตว่ามีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาหรือไม่ เช่น อาการของโรคเบาหวาน, การติดเชื้อ, ปวดท้อง, อุจจาระเป็นเลือด
  2. หมั่นออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกำลังของกล้ามเนื้อ
  3. ทำกายภาพบำบัด ตามแพทย์ นักกายภาพ และพยาบาลผู้ดูแลแนะนำ
  4. พบแพทย์ตามนัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการทรุดลง เช่น ชา หรือปวดมากขึ้น อ่อนแรงมากขึ้น
  • มีผลแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น ไข้สูง อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อยกลางคืน และ/หรือสงสัยเป็นเบาหวาน
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคซีไอดีพีอย่างไร?

โรคซีไอดีพีไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าท่านเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น รูสึกชา แขน ขา หรืออ่อนแรงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น