โรคจิตเภท "สคิซโซฟรีเนีย" (ตอนที่ 6)

นอกจากนี้ยากลุ่มใหม่ยังอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและระบบการเผาผลาญ (Metabolism) ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและคลอเรสเตอรอลสูง ดังนั้นระหว่างที่ใช้ยากลุ่มใหม่นี้ควรทำการชั่งน้ำหนัก ตรวจระดับน้ำตาลกลูโกส (Glucose levels) และระดับไขมัน (Lipid levels) อยู่เป็นประจำ

ส่วนยากลุ่มเดิมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เช่น

  • มีสภาพแข็งทื่อ (Rigidity)
  • มีการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อตลอดเวลา (Persistent muscle spasms)
  • ตัวสั่น (Tremors)
  • กระสับกระส่าย (Restlessness)

การใช้ยาระงับอาการทางจิตเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะการเคลื่อนไหวช้าที่เรียกว่า Tardive dyskinesia (TD) ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวได้ มักเกิดที่บริเวณปาก อาการ TD มีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับที่รุนแรง และบางรายก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่บางครั้งคนที่มีอาการ TD อาจดีขึ้นบางส่วนหรือหายหมดหลังจากที่มีการหยุดยา สำหรับคนที่ใช้ยากลุ่มใหม่จะเกิดอาการ TD ได้น้อยกว่า ทั้งนี้ คนที่คิดว่ามีอาการ TD ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยา

ยาระงับอาการทางจิตมักอยู่ในรูปแบบเม็ดหรือน้ำ บางทีก็อยู่ในรูปของยาฉีดเดือนละ 1-2 ครั้ง อาการรู้สึกกระวนกระวายใจและประสาทหลอนมักจะหายไปภายในไม่กี่วัน ส่วนอาการหลงผิดมักจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากการใช้ยา 6 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี แต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อยาที่ต่างกันไป ไม่มีใครสามารถบอกได้ล่วงหน้าว่าใครเหมาะกับยาอะไร บางทีต้องลองยาไปเรื่อยจนกว่าจะพบชนิดยาและขนาดยาที่ถูกกัน

บางคนอาจมีอาการโรคกำเริบหรือแย่ลง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดใช้ยาหรือใช้ยาไม่ต่อเนื่อง บางคนหยุดยาเพราะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นหรือคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาแล้ว อย่างไรก็ดีผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน และเมื่อแพทย์อนุญาตแล้วก็ควรค่อยๆ ลดยาลงทีละน้อย อย่าหยุดยาทั้งหมดทันที

ยาระงับอาการทางจิตอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่น่าพึงพอใจหรืออันตรายเมื่อใช้ร่วมกับยาตัวอื่น แพทย์จึงต้องรู้ถึงยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยกิน ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ (Minerals) และยาสมุนไพร ดังนั้นการใช้ยาอื่นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน

การบำบัดรักษาทางจิตสังคม (Psychosocial treatments) สามารถช่วยคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียได้หลังจากที่กินยามาอย่างต่อเนื่องแล้ว การบำบัดรักษาทางจิตสังคมช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับชีวิตประจำวันได้ เช่น ความลำบากในการสื่อสาร การดูแลตัวเอง การทำงาน การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้ตามปกติ

  1. What Is Schizophrenia?. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2013, November 15].