โรคจิตเภท "สคิซโซฟรีเนีย" (ตอนที่ 3)

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยสคิซโซฟรีเนียมีการเสพยาหรือดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด การสูบกัญชาบ่อยก็ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นสคิซโซฟรีเนียเพิ่มเป็น 2 เท่า

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยสคิซโซฟรีเนียมีการสูบบุหรี่มากกว่าคนปกติ ประมาณว่าอย่างน้อยร้อยละ 60-90 ของผู้ป่วยสคิซโซฟรีเนียมีการสูบบุหรี่ และผลการวิจัยล่าสุดก็ยังพบว่าบุหรี่อาจเป็นปัจจัยให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นสคิซโซฟรีเนีย

ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ชาย และร้อยละ 23 ของผู้หญิง จะมีอาการเริ่มต้น (Pre-onset) ของการเป็นเป็นสคิซโซฟรีเนียก่อนอายุ 19 ปี อาการเริ่มต้นนี้จะเป็นอยู่นาน 30 เดือนก่อนอาการจริง โดยอาการเริ่มต้นนี้อาจจะเป็นการแยกตัวออกจากสังคม (Social withdrawal) ขี้รำคาญ (Annoyance) รู้สึกไม่มีความสุขอย่างมาก และซุ่มซ่าม (Clumsiness)

ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเป็นสคิซโซฟรีเนียได้เท่าๆ กัน ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 1 ของคนอเมริกันเป็นโรคนี้ สคิซโซฟรีเนียที่มีอาการประสาทหลอน (Hallucinations) และอาการหลงผิด (Delusions) มักเริ่มเป็นระหว่างอายุ 16-30 ปี ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นเร็วกว่าผู้หญิง แต่ถ้าเลยอายุ 45 ปีไปแล้วมักจะไม่เป็น สคิซโซฟรีเนียไม่ค่อยเกิดในเด็กแต่แนวโน้มที่จะเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กมีมากขึ้น

เป็นการยากที่จะวิเคราะห์ว่ามีการเป็นสคิซโซฟรีเนียในขณะที่เป็นวัยรุ่น เพราะสัญญาณแรกของสคิซโซฟรีเนียที่เกิดอาจรวมถึง การเปลี่ยนเพื่อน ผลการเรียนตก มีปัญหาเรื่องการนอน และหงุดหงิดฉุนเฉียว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น อย่างไรก็ดีการรวบรวมปัจจัยต่างๆ ก็สามารถใช้คาดการณ์ถึงการเกิดอาการสคิซโซฟรีเนียได้ถึงร้อยละ 80

ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ การแยกตัวเองอยู่คนเดียว การมีความคิดและการหวาดระแวงที่ผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ และการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคจิต ซึ่งเราเรียกว่าช่วงเวลาของการพัฒนาโรคในวัยรุ่นนี้ว่า ระยะอาการนำ (Prodromal period)

คนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียอาจจะมีอาการจิตผิดปกติ (Mental health disorders) อื่นๆ ด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) วิตกกังวล (Anxiety) และมีการเสพยา (Drug abuse)

เพราะคนที่เสพสารเสพติด (Substance abuse) มักมีอาการคล้ายคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียด้วย ดังนั้นจึงอาจทำให้มีการวิเคราะห์โรคที่ผิดพลาดได้ นักวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าการเสพสารเสพติดเป็นสาเหตุของสคิซโซฟรีเนีย อย่างไรก็ดีคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียส่วนมากจะมีปัญหาเรื่องการเสพยาหรือแอลกอฮอล์มากกว่าคนทั่วไป

การรักษาสคิซโซฟรีเนียอาจรวมถึงการกินยา การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เช่น การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-behavioral therapy = CBT) และการบำบัดด้วยการฟื้นฟูกระบวนการคิดต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความรุนแรงได้

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนอันตราย จาก"สคิซโซฟรีเนีย" - http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380642223&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, November 11].
  2. Schizophrenia - http://simple.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia [2013, November 12].
  3. What Is Schizophrenia?. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2013, November 12].