โรคจิตเภท "สคิซโซฟรีเนีย" (ตอนที่ 2)

ในขณะที่ ดร.ดักลาส มอสส์แมน ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซินซินนาติกล่าวว่า สคิซโซฟรีเนีย มักเกิดขึ้นในช่วงปลายวัยรุ่นต่อเนื่องกับการเริ่มต้นวัยผู้ใหญ่ในผู้ชาย อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงปลายๆ วัยรุ่น คือ 17-19 ปีจนถึงวัย 20 ปีต้นๆ ส่วนผู้หญิงจะเกิดขึ้นช้ากว่า โดยจะเป็นช่วงวัย 20 ตอนปลายขึ้นไป โดยจะค่อยเป็นค่อยไปเหมือนๆ กัน

ตามสถิติมีคนอเมริกันเพียงร้อยละ 1 ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยชี้ชัดเจนว่า สคิซโซฟรีเนีย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่บุคคลจะแสดงออกอย่างรุนแรงหรือก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดการรักษาหรือไม่ได้รับยาที่เหมาะสมตามอาการ

มีงานวิจัยที่ระบุว่าสคิซโซฟรีเนียอาจเกิดจากยีน (Gene) สำคัญที่ทำให้สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับยีนยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะเรายังไม่สามารถใช้ข้อมูลเกี่ยวกับยีนมาคาดการณ์ว่าคนนั้นจะต้องเป็นโรคนี้

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคิดว่าปฎิสัมพันธ์ระหว่างยีนและสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อทารกในครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสคิซโซฟรีเนีย เช่น การติดเชื้อไวรัส ภาวะขาดออกซิเจน (Oxygen deprivation) ทุพโภชนาการ (Malnutrition) และปัจจัยด้านจิตสังคม (Psychosocial factors) อื่นๆ ที่ยังไม่รู้

สำหรับปัจจัยด้านสารเคมีต่างๆ ในสมอง (Brain chemistry) นั้น นักวิทยาศาสตร์คิดว่า ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองทำให้โดพามีน (Neurotransmitters dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาท และกลูตาเมต (Glutamate) เป็นสาเหตุให้เกิดสคิซโซฟรีเนียได้

โครงสร้างของสมอง (Brain structure) ของคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียมักแตกต่างจากคนปกติทั่วไป ความแตกต่างนี้มักเกิดในส่วนของสมองที่เกี่ยวกับความจำ การจัดระบบ อารมณ์ การควบคุมพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และภาษา ซึ่งเกิดขึ้นสมองกลีบหน้า (Frontal cortex) สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) และส่วนที่เชื่อมระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวา (Corpus callosum) นอกจากนี้คนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียบางคนจะมีโพรงที่บรรจุน้ำเลี้ยงสมอง (Ventricles) ที่อยู่บริเวณกลางสมองใหญ่กว่าคนปกติ

จากการศึกษาเนื้อเยื่อสมองก็พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเซลล์สมองเล็กน้อยเหมือนตอนก่อนคลอด ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่สมองกำลังพัฒนาเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค แต่ปัญหาจะแสดงออกเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เพราะสมองช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากจนทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ ทั้งนี้ยังคงต้องศึกษาวิจัยกันต่อไปเพื่ออธิบายให้ชัดถึงสาเหตุ

ในอดีตมีหลายคนที่เป็นเป็นสคิซโซฟรีเนียที่มีชื่อเสียง อย่างหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง “A Beautiful Mind” ได้กล่าวถึงประวัติของ John Forbes Nash นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งได้รับรางวัลโนเบล ที่เป็นสคิซโซฟรีเนีย นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่อง “The Soloist” ที่สร้างจากชีวิตจริงของ Nathaniel Ayers นักดนตรีที่มีพรสวรรค์ซึ่งต้องออกจากโรงเรียนหลังจากที่เริ่มมีอาการเป็นสคิซโซฟรีเนีย

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนอันตราย จาก"สคิซโซฟรีเนีย" - http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380642223&grpid=&catid=09&subcatid=0902 [2013, November 11].
  2. Schizophrenia - http://simple.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia [2013, November 11].
  3. What Is Schizophrenia?. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2013, November 11].