โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration หรือ AMD)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration หรือย่อว่า AMD) เป็นโรค หรือ ภาวะที่มีความเสื่อมของจอตาบริเวณที่เรียกว่า Macular (จอตาจุดที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดที่สุด, แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา’)

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นโรค/ภาวะที่เกิดในผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีสายตาเลือนรางหรือตาบอด ซึ่งปัจจุบันคนเราอายุยืนขึ้น จึงมีโอกาสพบโรคนี้ได้มากขึ้น จากสถิติประชากรสูงอายุในสหรัฐอเมริกาที่ตาบอด มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากโรคนี้ ในประเทศเรา แม้จะพบโรคนี้น้อยกว่า แต่น่าจะพบมากขึ้นๆจากการที่คนเรามีอายุที่ยืนขึ้น คาดกันว่ามีความชุกของโรคนี้เป็น 1.2-1.8% ในประชากรที่อายุมาก กว่า 50 ปีขึ้นไป

จอตาคนเรามีภาวะความเสื่อมตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้นคล้ายอวัยวะอื่นๆ โดยรอย ต่อระหว่างการเสื่อมตามอายุ (ซึ่งถือว่าเป็นตามปกติโดยจะไม่ก่ออาการ เรียกว่า Age-related maculopathy ย่อว่า ARM)กับ ระยะเริ่มของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ไม่มีขีดแบ่งที่ชัดเจน การติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของจอตาเป็นระยะๆ จึงช่วยแยกระหว่างภาวะ ARM กับ AMD ได้

การเสื่อมที่ไม่จัดเป็นโรคของจอตาสื่อมตามอายุไปจนถึงเป็นโรคจอตาเสื่อม (ตามอายุ)นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่จอตา ดังต่อไปนี้

  • เซลล์รับรู้การเห็น คือ Rod & Cone cells และตลอดจนเซลล์ชั้นในของจอตามีจำนวนลดลง
  • จอตาชั้น RPE มีเม็ดสี (Melanin) ลดลง มีการเพิ่มของเม็ดสีที่ผิดปกติ (Lipofuscin) และมีความผิดปกติ โดยมีสารที่ประกอบด้วยไขมันปนอยู่ เกิดมีสีประปรายบางบริเวณ และบางแห่งของ RPE กลับมีสีลดลง
  • มีเนื้อเยื่อชั้น Choroid ของลูกตาเกิดการเสื่อมร่วมไปด้วย ทำให้เลือดมาเลี้ยงจอตาลดลง

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ชั้นต่างๆของจอตาและของลูกตาในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา’)

ใครมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ?

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอตาเสื่อมจากสูงอายุ คือ

  • อายุ: ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
  • พันธุกรรม: เพราะพบว่า ฝาแฝด จะเกิดโรคนี้ได้เหมือนๆกัน และพบว่าคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป
  • เพศ: บางรายงานพบว่าเพศหญิงเป็นมากกว่าชาย แต่บางรายงานพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen , ฮอร์โมนเพศหญิง) น่าจะป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้หญิงวัยขาดฮอร์โมนนี้ จึงเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่า แต่บางรายงานพบว่าชายและหญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้พอๆกัน
  • เชื้อชาติ: พบว่าคนผิวขาว มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนชาติอื่นๆ
  • ผู้มีสายตายาว (Hyperopia) มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้มีสายตาสั้น หรือมีสายตาปกติ
  • ผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้มีโรคไขมันในเลือดสูง
  • ตาได้รับแสงแดดเรื้อรัง
  • การสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญด้วย จากสารพิษในควันบุหรี่ ทำลายเซลล์จอตาโดยตรงและก่อให้เกิดหลอดเลือดแข็งซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดจอตา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคหลอดเลือดแดงแข็ง’)
  • ดื่มสุรา
  • ขาดอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • ระยะแรก อาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่จักษุแพทย์/หมอตา ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงต่างๆองจอตาโดยบังเอิญ เช่น จากการตรวจสุขภาพตาเพื่อวัดสายตา หรือ การตรวจสุขภาพตาประจำปี
  • เห็นภาพบิดเบี้ยวหรือตามัวลงเล็กน้อย เนื่องจากพยาธิสภาพอยู่บริเวณจอตาส่วน Macula ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็นในบริเวณตรงหน้า ซึ่งภาพบิดเบี้ยวจะเห็นชัดเจนเมื่อมองภาพใกล้ๆ
  • เห็นขนาดภาพเปลี่ยนไป
  • เห็นมีเงาดำบังอยู่ตรงกลางภาพ
  • เห็นสีผิดเพี้ยนไป เนื่องจากบริเวณ Macula มีเซลล์ Cone (ที่เป็นเซลล์รับรู้การเห็นสี) อยู่หนาแน่น
  • ตามัวลงมากอย่างฉับพลัน มักจะพบในผู้ป่วยที่มีเลือดออกเข้าสู่น้ำวุ้นตา และใต้จอตาหรือเป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุที่รุนแรงแล้ว

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุมีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

แบ่งความผิดปกติของจอตาในผู้สูงอายุ ออกเป็น

ก. การเสื่อมตามอายุที่ยังไม่ก่อให้เกิดโรคหรือไม่ก่ออาการผิดปกติ (Early ARM, Age-related maculopathy)

ข. การเสื่อมเข้าขั้นเป็นโรคหรือโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Late ARM หรือ AMD/Age-related macular degeneration) ซึ่งแบ่งได้

  • โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดแห้ง (Dry AMD): เป็นชนิดไม่มีหลอดเลือดที่เกิดใหม่ (Non – neovascular AMD) เป็นชนิดที่รุนแรงน้อยกว่า และการรักษาจะช่วยชะลอการลุกลามของโรคให้ช้าลงได้
  • โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก (Wet AMD): เป็นชนิดมีของเหลว (Exudative) ซึมออกมาจากหลอดเลือดที่เกิดใหม่ (Neovacular AMD) เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งมาก (พบได้เพียงประมาณ 10%) แต่รุนแรงกว่า และอาจเกิดเป็นพังผืดที่จอตา ส่งผลให้จอตาสูญเสียการทำงานถาวรได้

แพทย์วินิจฉัยโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ได้จาก การตรวจจอตาด้วยเทคนิคเฉพาะดังได้กล่าวแล้วในบทความในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคของจอตา’ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทนั้น)

ก. จอตาเสื่อมตามอายุ (ARM): จะมีลักษณะที่จักษุแพทย์ตรวจพบได้ดังนี้ (อนึ่ง อ่านเพิ่ม เติมในเรื่องของเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของจอตา และของลูกตาในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา’)

  • การสะท้อนแสงไฟที่ใช้ในการตรวจตา ที่เรียกว่า Foveal reflex ลดลง
  • มีเม็ดสีในจอตาผิดปกติ
  • การกระจายของเม็ดสีในเนื้อเยื่อจอตาชั้น RPE ไม่สม่ำเสมอ บางบริเวณมีเม็ดสีน้อย (Hypopigment) บางบริเวณมีเม็ดสีมาก(Hyperpigment) และจอตาจะบางลง จึงเห็นหลอดเลือดในชั้น Choroid ของลูกตาชัดขึ้น เรียกกันว่า Tigroid fundus
  • จำนวนหลอดเลือดขนาดเล็กรอบๆ Fovea (เนื้อเยื่อตรงกลางของ Macula มีหน้าที่ทำให้การมองเห็นภาพถูกต้องที่สุด) ลดลง ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดบริเวณนี้ลดลง

ข. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดแห้ง (Dry AMD): จะมีลักษณะที่จักษุแพทย์ตรวจพบได้ดังนี้ (อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของจอตา และของลูกตาในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

  • มีการตายของเซลล์ในจอตาชั้น RPE ทำให้เม็ดสีของ RPE กระจาย จึงเห็นบางบริ เวณมีเม็ดสีน้อย และบางบริเวณมีเม็ดสีมาก ซึ่งถ้าเกิดผิดปกติในบริเวณกว้างมากขึ้นเรียกว่า Geographic atrophy ส่งผลให้จอตาบางลง จึงเห็นหลอดเลือดในชั้น Cho roidal ชัดเจนขึ้น ซึ่งการที่จอตาบางลง จะส่งผลให้เซลล์เพื่อการมองเห็นของจอตา (เซลล์ Cone และ เซลล์ Rod) มีปริมาณลดลงตามไปด้วย จึงส่งผลให้เห็นภาพมัวลง
  • มี Drusen (สารซึ่งช่วยในการทำงานของเนื้อเยื่อจอตาชั้น RPE) ขนาดใหญ่ และจำ นวนมากขึ้น เป็นลักษณะตาข่ายเชื่อมติดกัน ขนาดประมาณ 250 ไมครอน

ค. โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก (Wet AMD): จะมีลักษณะที่จักษุแพทย์ตรวจพบได้ดังนี้ (อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของจอตาและของลูกตาในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา’) คือ

  • ลักษณะที่บ่งว่าเป็น โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก คือการตรวจพบหลอดเลือดขนาดเล็กๆที่เกิดใหม่ในชั้นเนื้อเยื่อ Choroid (Choroidal neovascularization เรียกย่อว่า CNV) หลอดเลือดใหม่เหล่านี้ จะทะลุผ่านเข้ามาในจอตา หลอดเลือดเกิดใหม่เหล่านี้ เป็นหลอดเลือดที่พร้อมจะฉีกขาด จึงทำให้เกิดเลือดออกกระจายไปบริเวณใกล้เคียง ผู้ป่วยมักมีอาการตามัว ภาพบิดเบี้ยว มีเงาดำตรงกลาง ถ้ามีเลือดออกมาก ตาอาจมัวลงมากอย่างฉับพลัน

อนึ่ง การมีหลอดเลือดเกิดใหม่ (CNV) จะส่งผลให้เกิด

  • มีน้ำ/ของหลวใต้ต่อจอตา (Subretinal fluid)
  • มีเลือดใต้จอตา
  • มีไขมันทั้งในและใต้จอตา
  • มีจุดเม็ดสีเป็นวงแหวน (Pigment ring)
  • เนื้อเยื่อจอตาชั้น RPE ไม่ราบเรียบ จะสูงๆ ต่ำๆ
  • Macular บวม
  • มีหลอดเลือดชัดเจนใต้จอตา

อนึ่ง การตรวจพบลักษณะดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก ต้องใช้วินิจฉัยด้วยการฉีดสีถ่ายรูปที่เรียกว่า Fundus fluorescein angiography (FFA) เพื่อแสดงให้เห็นหลอดเลือดเกิดใหม่ CNV ชัดเจนขึ้น

รักษาโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดแห้งอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดแห้ง คือ

  • การติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการ ผู้ป่วยควรจะทราบถึงอาการที่บ่งว่าโรคลุกลาม เช่น ภาพบิดเบี้ยวมากขึ้น, ขนาดภาพเปลี่ยนไป, ซึ่งต้องรีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัด
  • อาหารที่อาจช่วยชะลอหรืออาจช่วยลดโอกาสโรคลุกลาม เช่น อาหารมีประโยชน์ห้า หมู่, อาหารประเภทต่อต้านอนุมูลอิสระ (ส่วนใหญ่ คือ วิตามิน และเกลือแร่ ที่มีมากในผักและในผลไม้) ในปัจจุบันมียาที่อยู่ในกลุ่มต่อต้านอนุมูลอิสระให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดแห้งรับประทาน ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสการกลายเป็นชนิดเปียกที่รุนแรงกว่าชนิดแห้งได้
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่ชัดในบางรายงานว่าแสงยูวี (UV) ในแสงแดด ทำให้โรคนี้เลวลง แต่มีบางรายงานพบว่า การหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยใช้แว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันแสงยูวีได้อย่างน้อย 90% เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะอาจช่วยลด หรือชะลอการลุกลามของโรคได้
  • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ได้ประโยชน์และจำเป็นในผู้ป่วยบางราย

รักษาโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุชนิดเปียก คือ

  • การใช้แสงเลเซอร์: ต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ขึ้นอยู่ว่าหลอดเลือดเกิดใหม่ CNV มากน้อยอยู่ในระดับไหน และเกิดในบริเวณใด
  • Photodynamic therapy (PDT): เป็นการฉีดสารสีบางชนิดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้เข้าไปสู่ Macular แล้วตามด้วยการใช้เลเซอร์ เฉพาะเนื้อเยื่อที่จับกับสารสีนั้นเท่านั้น ทำให้แสงเลเซอร์ไม่ไปกระทบจอตาส่วนที่ดี แต่สารที่ฉีดนี้มีราคาแพงมากและต้องให้การรักษาซ้ำๆหลายครั้งจึงจะได้ผล
  • การใช้สาร/ยาต้านการเกิดหลอดเลือดใหม่ (Antiangiogenic drug/ Angiogenesis inhibitor) เรียก ว่ายา Anti-VEGF ฉีดเข้าไปในน้ำวุ้นตา ปัจจุบันยานี้มีใช้อยู่หลายตัว เช่น Ranibizumab (Lucentis), Pegaptamib Sodium (Macugen) และ Bevacizumab (Avastin) อย่างไรก็ตามยายังมีราคาแพงมากๆ
  • การผ่าตัด: เป็นการผ่าตัดเอาหลอดเลือดเกิดใหม่ CNV ออก ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ผลการผ่าตัดไม่แน่นอน มีการทดลองหลายเทคนิควิธี เช่น Submacular surgery (ผ่าตัดหลอดเลือดใหม่ และหลอดเลือดที่เกิดเลือดออกเฉพาะส่วนอยู่ที่ Fovea ), Macular translocation (ผ่าตัดย้าย Macular ไปอยู่ในจอตาส่วนที่ยังปกติ) , การใช้แก๊สไล่เลือดที่อยู่ใต้ Macula ออกไป เป็นต้น
  • ในกรณีที่เป็นโรคทั้ง 2 ตา และได้ลองการรักษาต่างๆแล้วไม่ได้ผล ผู้ป่วยจะตกอยู่ในภาวะผู้มีสายตาเลือนราง อาจต้องพิจารณาใช้เครื่องช่วยสายตา (Low vision aid) เพื่อเพิ่มคุณภาพการมองเห็น เช่น การใช้แว่นขยาย, การใช้สีต่างๆ, และการเพิ่มแสงสว่าง เป็นต้น

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ มักไม่ทำให้เกิดตาบอด แต่จะทำให้เห็นภาพไม่ชัด และ/หรือเห็นภาพผิดปกติดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะ ในการอ่าน, ในการขับรถ, และในการมองระยะไกล, ซึ่งเป็นโรคที่พยากรณ์ได้ยากว่า ใครที่โรคจะลุกลามรุนแรง

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงสำคัญของโรคนี้ คือ การมองเห็นภาพไม่ชัด, เห็นภาพผิดปกติ ที่จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้สายตาตลอดเวลา เช่น งานคอมพิวเตอร์

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ คือ ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ ภายใน 1-2 วัน หรืออาจต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉินถ้าการมองเห็นภาพผิดปกติเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ จักษุแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งในการใช้ยาต่างๆ และต้องไม่ขาดยา เมื่อมียาที่แพทย์สั่ง/แนะนำ
  • รักษาสุขภาพจิต ปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับสายตา เพื่อการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
  • พบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ
  • รีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ การป้องกันโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุเต็มร้อย เป็นไปไม่ได้เพราะเกิดตามธรรมชาติตามอายุที่สูงขึ้น แต่สามารถชะลอให้โรคเกิดช้าลง และชะลอความรุนแรงของโรคได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง (ที่หลีกเลี่ยงได้) ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงน’ ซึ่งการป้องกันดังกล่าว ได้แก่

  • ป้องกันรักษา ควบคุมโรค ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุด้วย
  • ใช้แว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพ (ป้องกันแสงยูวีได้ตั้งแต่ 90% ขึ้นไป) ในการป้องกันตาจากแสงแดดเสมอ
  • ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุรา
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบถ้วนในทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม (จำกัดอาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล เกลือ เพิ่ม ผักและผลไม้มากๆ) เพื่อป้องกันโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอาย ที่สำคัญ คือ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และเพื่อความแข็งแรงของเซลล์จอตา ซึ่งเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกายที่ต้องการอาหารที่มีประโยชน์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี ทุกปี เริ่มเมื่ออายุ 18-20 ปี เพื่อคัดกรองโรคต่างๆโดย เฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อาจเริ่มได้ตั้งแต่เป็นเด็กในอายุที่พอฟังแพทย์พูดได้รู้เรื่อง เช่น ประมาณ 2-3 ขวบ หลังจากนั้น ขึ้นกับคำแนะนำของจักษุแพทย์ หรือเริ่มได้เลยในทุกอายุถ้ายังไม่เคยพบจักษุแพทย์มาก่อน และต่อจากนั้น ความถี่ในการพบจักษุแพทย์ เป็นไปตามที่จักษุแพทย์แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. https://nei.nih.gov/health/maculardegen/armd_facts#1 [2019,April20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Macular_degeneration [2019,April20]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/001000.htm [2019,April20]