โรคคอตีบ ต้องรีบสยบ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคได้พัฒนาศักยภาพทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team : SRRT) จำนวน 17 ทีม ลงพื้นที่อย่างเข้มข้นใน 8 จังหวัดที่เกิดโรค และจังหวัดใกล้เคียง อันได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย พิษณุโลก ขอนแก่น และชัยภูมิ

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานตามมาตรการในการควบคุมโรคคอตีบ 3 มาตรการอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ

  1. ควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน หากพบให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที และดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรค โดยการสำรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดและพาหะนำโรค ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดโรค
  2. สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เข้มแข็งโดยการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ และ
  3. เน้นสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคคอตีบให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างทั่วถึง

โรคคอตีบทางเดินหายใจมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 - 15 และอาจมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปี โรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับการอุดตันการหายใจและหัวใจเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิต ทั้งนี้ คอตีบอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

โรคเกี่ยวกับหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจติดเชื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) โรคเกี่ยวกับระบบประสาท (กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีปัญหาในการมองเห็น) โรคติดเชื้อ (ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในกระดูก) และเสียชีวิต

วิธีป้องกันโรคคอตีบที่ดีที่สุดคือ การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนในทารกและเด็ก (DTaP vaccinations) มีด้วยกัน 5 เข็ม คือ ฉีดเมื่อตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดเมื่ออายุระหว่าง 15 - 18 เดือน และเข็มที่ 5 ฉีดเมื่ออายุระหว่าง 4 - 6 ปี หลังจากนี้เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้ง (Tdap vaccination) เมื่ออายุระหว่าง 11 - 12 ปี และเนื่องจากภูมิต้านทานจะลดลงเรื่อยๆ ควรมีการกระตุ้นภูมิต้านทานทุกๆ 10 ปี เพื่อรักษาระดับสารภูมิต้านทานในร่างกาย

แม้ว่าในปัจจุบันโรคคอตีบจะเป็นโรคที่ไม่ค่อยระบาดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วโลกแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมันและแคนาดา ใน พ.ศ. 2534 พบผู้เป็นโรคคอตีบ 2,000 ราย ในสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ.2541 สภากาชาดได้ประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อคอตีบถึง 200,000 ราย ในเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States) ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไป โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 5,000 ราย จนกินเนสท์บุ๊ค (Guinness Book of World Records) มีการบันทึกว่า คอตีบเป็นโรคที่ฟื้นคืนชีพมากที่สุด (Most resurgent disease)

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขหวั่นโรคคอตีบระบาด เร่งส่ง 17 ทีม เคลื่อนที่เร็ว ให้ความรู้ประชาชน 8 จังหวัด http://www.naewna.com/local/25422 [2012, October 24].
  2. Diphtheria. http://www.medicinenet.com/diphtheria/article.htm [2012, October 24].
  3. Diphtheria. http://en.wikipedia.org/wiki/Diphtheria [2012, October 24].